close

7 ก.พ. 2567

ความมุ่งมั่นของคนตัวเล็ก คือความมหัศจรรย์ของชุมชน

ESG Sustainability CSR

ว่ากันว่า “ความมุ่งมั่น” คือหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ที่อยู่ในตัวเราทุกคน เพราะความมุ่งมั่นทำให้มนุษย์มีพลังสร้างสรรค์ ไม่ยอมแพ้ และพร้อมทลายทุกข้อจำกัดไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ และเมื่อความมุ่งมั่นของคนตัวเล็ก ๆ ส่งต่อไปยังผู้คนโดยรอบ ก็เกิดเป็นความมหัศจรรย์ของแต่ละชุมชน ที่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิต พลิกฟื้นสู่โอกาส และสร้างคุณค่าได้ไม่รู้จบ


SCGC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ และเห็นถึงพลังความมุ่งมั่นของคนทุกคน จึงได้พัฒนาโครงการวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดระยองมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนานกว่า 10 ปี ด้วยความตั้งใจที่จะส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชน ให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง และล่าสุดได้ขมวดแนวคิดการส่งเสริมชุมชนยั่งยืน เล่าผ่านโครงการ “มหัศจรรย์ชุมชน” (Amazing Community) สร้างอาชีพ สร้างคุณค่า พึ่งพาตนเอง


มหัศจรรย์ชุมชน ความมหัศจรรย์ของคนที่ไม่หยุดนิ่ง

“ความใจสู้ ความมุ่งมั่น และการลงมือทำอย่างไม่หยุดนิ่ง คือความมหัศจรรย์ที่ SCGC สัมผัสได้หลังจากมีโอกาสทำงานร่วมกับพี่น้องชาวจังหวัดระยอง เราพบว่าคนบางกลุ่มแม้จะมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต แต่พวกเขามีจิตใจที่เข้มแข็ง และมีความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เป็นรองใคร หลังจากที่ได้ร่วมกันบ่มเพาะ ต่อยอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่าง SCGC กับชุมชน จึงถึงเวลาแล้วที่จะเผยความมหัศจรรย์ที่ SCGC ได้ค้นพบให้ผู้คนในวงกว้างได้รับรู้ และสร้างแรงบันดาลใจส่งต่อให้สังคม” นางสาวน้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ 


โครงการ “มหัศจรรย์ชุมชน” (Amazing Community) ถือเป็นโครงการด้านความยั่งยืนที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ผู้คน และเรื่องราวของวิสาหกิจชุมชนที่ SCGC ให้การสนับสนุน ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ และขยายความแข็งแกร่งไปยังชุมชนใกล้เคียง เพื่อผนึกกำลังคนในชุมชนให้เติบโตอย่างมั่นคง ภายใต้หลักคิดในการขับเคลื่อนโครงการที่ว่า “สร้างอาชีพ สร้างคุณค่า พึ่งพาตนเอง”


สำหรับ 3 วิสาหกิจที่นำมาถ่ายทอดเรื่องราวในครั้งนี้ เป็น 3 วิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยผู้คน 3 รุ่น 3 พลัง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าชุมชนมาบชลูด มหัศจรรย์พลังหญิง กลุ่มแม่บ้านที่มีข้อจำกัด แต่สามารถเอาชนะอุปสรรคจนยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง วิสาหกิจชุมชนบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง มหัศจรรย์พลังคนรุ่นใหม่ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ด้วยความห่วงใยคนในครอบครัว สู่การเปลี่ยนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา มหัศจรรย์พลังของผู้สูงวัยที่ไม่ยอมเกษียณ ส่งต่อรังชันโรงตัวเล็ก ๆ สู่ป่าใหญ่ในจังหวัดระยอง


วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้า
ชุมชนมาบชลูด

“เราคือวิสาหกิจชุมชนที่เป็นผู้หญิงล้วน ต่างคนต่างมีภาระหน้าที่ที่แตกต่างกัน แต่วันนี้เรามารวมตัวกันเพื่อสร้างอาชีพ และเราสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มค่ะ” พี่โต ประคอง เกิดมงคล ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าชุมชนมาบชลูด กล่าวถึงความภาคภูมิใจของกลุ่มวิสาหกิจที่ช่วยสร้างอาชีพให้สตรีในชุมชนสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง


จากแม่บ้านที่สูญเสียสามี ยึดอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าตามกำลังของตัวเองด้วยความตั้งใจ และปราณีตในทุกฝีเข็ม ทว่างานเย็บผ้าเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้นไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ พี่โตจึงริเริ่มวางแผนเปลี่ยนรูปแบบการรับงานโดยการรวบรวมช่างตัดเย็บเสื้อผ้าในชุมชนให้มีกำลังมากพอสำหรับงานใหญ่ ๆ 


ในช่วงแรกแม้จะมีรายได้ไม่มาก ออเดอร์เข้ามาเพียงไม่กี่ชิ้น แต่พี่โตก็อาศัยความใจสู้ ไม่ย่อท้อ ค่อย ๆ ตัดเย็บชิ้นงานออกมาหลากหลายรูปแบบ จนในที่สุดก็เริ่มขายได้ มีรายได้เข้ามาชัดเจน “ทำไปเรื่อย ๆ ทำไม่หยุด” คือคำที่พี่โตบอกกับเราถึงการก้าวผ่านปัญหาในช่วงแรก


ด้วยความใส่ใจในทุกรายละเอียด ไม่เฉพาะเกี่ยวกับตัวสินค้า แต่ยังรวมถึงความเป็นอยู่ของสมาชิกในกลุ่ม พี่โตเห็นว่าแม่บ้านแต่ละคนที่เข้ามาทำงานล้วนมีข้อจำกัดที่คล้ายกัน นั่นคือการต้องรับผิดชอบหน้าที่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงเด็ก ดูแลผู้สูงวัย และสมาชิกในครอบครัว พี่โตจึงตัดสินใจปรับรูปแบบสินค้าอีกครั้ง ให้ใช้เวลาตัดเย็บน้อยลง แบ่งงานไปทำได้ที่บ้าน และเป็นสินค้าที่มีมูลค่า เป็นที่มาของ “กระเป๋าผ้าชลูด” 


แบรนด์ “Chalüd” ที่เย็บติดกับกระเป๋าผ้าทุกใบ คือสัญลักษณ์ความทุ่มเทของกลุ่มแม่บ้านมาบชลูด ที่เย็บกระเป๋าขึ้นจากสองมือ แต่มีคุณภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากระเป๋าแบรนด์ดังในห้างสรรพสินค้า ทำให้แต่ละเดือนกลุ่มแม่บ้านมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง หากย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อน รายได้จากการจำหน่ายกระเป๋าผ้าชลูดอาจพอเป็นค่ากับข้าวได้ในแต่ละวัน แต่ปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ถึง 30,000 - 40,000 บาทต่อเดือน หรือมากถึงหลักแสน แถมด้วยคุณภาพชีวิตที่มั่นคงให้กับกลุ่มแม่บ้านและครอบครัว



ระหว่างทางสร้างคุณค่า : หลังจากกลุ่มแม่บ้านวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าชุมชนมาบชลูด จ.ระยอง  ได้รวมตัวกันราว 2 ปี SCGC ก็มีโอกาสได้เข้ามาเป็นเพื่อนคู่คิดให้กับกลุ่ม จับมือกันลองผิดลองถูก คอยรับฟัง สนับสนุน ติดตามผล และที่สำคัญคือการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อออกแบบสูตรความสำเร็จให้กับกลุ่มวิสาหกิจ ทั้งการพัฒนารูปแบบสินค้า การเสริมทักษะการตัดเย็บและความรู้ด้านการบริหารจัดการ การทำการตลาดออนไลน์ และการออกร้านในกิจกรรมต่าง ๆ


มากไปกว่านั้น SCGC ได้เป็นสื่อกลางให้กลุ่มแม่บ้านจากมาบชลูด ผสานความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ในเครือข่ายที่ SCGC ดูแล ต่อยอดสินค้าของกลุ่มให้มีความโดดเด่น ต่างจากผลิตภัณฑ์จากผ้าทั่วไป ทั้งความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนแตนบาติก อ.บ้านฉาง ผู้ผลิตผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ โดยเฉพาะผ้าย้อมครามทะเล ผ้าย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกมังคุด และผ้าพิมพ์ลายหงส์เหิน หนึ่งเดียวของจังหวัดระยอง และความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าแสนใย คนแสนวิถี อ.ปลวกแดง เจ้าของภูมิปัญญาในการทักถอผืนผ้าจากเส้นใยสับปะรด เรียกว่า “ผ้าใยลักกะตา” ที่นุ่ม เหนียว ทว่าคงทน เหมาะจะนำมาผลิตเป็นสินค้าประเภทต่าง ๆ เอกลักษณ์จากผืนผ้าเหล่านี้ ได้ถูกตัดเย็บขึ้นรูปอย่างปราณีตโดยวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าชุมชนมาบชลูด ด้วยการนำพาของ SCGC 



วิสาหกิจชุมชนบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง

“กลุ่มบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง ที่เราสร้างขึ้นมา คือวิถีของคนรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจดี ๆ โดยมีแนวคิดรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสร้างรายได้ สร้างอาชีพอย่างยั่งยืน” คุณปอ รัณยณา จั่นเจริญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง บอกเล่าถึงปณิธานของคนรุ่นใหม่ ที่อยากดูแลโลกผ่านธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 


จากครอบครัวที่คลุกคลีกับวิถีเกษตรอินทรีย์ สู่การทำธุรกิจผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกแบรนด์ “บ้านรลิณ” ด้วยความตั้งใจแรกที่อยากให้สมาชิกในครอบครัวใช้ของดี ปลอดภัย และไม่เกิดอาการแพ้ คุณปอจึงเริ่มศึกษาสูตรการทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติอย่างจริงจัง  ทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และเครื่องปรุงรสอาหาร เมื่อใช้ได้ผลดี ก็เริ่มแบ่งให้คนรอบตัวทดลองใช้ ก่อนจะพบว่า นี่แหละ คือวิถีชีวิตแบบ “กรีน ลีฟวิ่ง” ในแบบของเธอ ที่ช่วยเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง


อะไรที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบ้านรลิณปลอดภัยต่อผู้บริโภค คำตอบอยู่ที่การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% แม้แต่น้ำทิ้งจากผลิตภัณฑ์ก็ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยความพิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุดิบปลอดสารพิษ คุณปอจึงเริ่มสร้างเครือข่ายกับเกษตรกรในพื้นที่ นำส่งวัตถุดิบที่ปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงมาเพื่อผลิตเป็นสินค้าของบ้านรลิณ


ยกตัวอย่าง “มะกรูด” หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของผลิตภัณฑ์บ้านรลิณ คุณปอก็เลือกรับมะกรูดจากชาวบ้านที่ปลูกแบบออร์แกนิกมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ มะกรูดผลฟูใหญ่ ผิวมันวาว ถูกส่งจากชุมชนมาสู่บ้านรลิณ ผลผลิตเหล่านี้ปลูกขึ้นจากดินที่ผสมเอง บำรุงด้วยปุ๋ยอินทรีย์ จนเติบโตสมบูรณ์ และสินค้าเกษตรที่ขาดไม่ได้อย่างสับปะรด ก็เป็นอีกวัตถุดิบที่ไม่อาจมองข้าม “สับปะรดทองระยอง” ผลไม้ GI (Geography Indication) ของจังหวัด ก็ถูกนำมาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากบ้านรลิณเช่นกัน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำเกษตรปลอดสารพิษ ความเป็นอยู่ของพวกเขาก็ดีขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ได้ใช้สินค้าปลอดภัย


ผลิตภัณฑ์ของบ้านรลิณสามารถสร้างรายได้ราวหลักแสนบาทต่อปี แม้จะไม่ใช่เม็ดเงินจำนวนมาก แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่มีคุณภาพ ลูกค้าของบ้านรลิณล้วนพอใจในผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ปลอดสารเคมี ใช้แล้วดีต่อสุขภาพ จนเกิดการซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกครั้งที่มีการอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของบ้านรลิณ ก็เท่ากับว่าเกษตรกรและชาวบ้านในชุมชน ก็ได้รับการสนับสนุนไปด้วย


ระหว่างทางสร้างคุณค่า : สิ่งสำคัญของการสร้างแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคก็คือการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ซึ่ง SCGC ได้มีส่วนเข้ามาเติมเต็มในกระบวนการขอรับการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์การอาหารและยา หรือ อย. มีการทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการร่วมกันพัฒนาสารสกัดธรรมชาติเพื่อต่อยอดสร้างคุณค่าอีกไม่รู้จบ พร้อมด้วยการสร้างแบรนด์ ออกแบบโลโก้ และทำการตลาด เสมือนเป็นการเปิดประตูให้วิสาหกิจบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง ได้ออกมาพบกับผู้บริโภคโดยตรง


ตลอดเส้นทางการเติบโตของบ้านรลิณ SCGC เห็นแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่แข็งแรงของคนรุ่นใหม่ เราจึงร่วมผลักดันให้ความตั้งใจนี้เห็นผลและทรงพลังยิ่งขึ้น เท่านั้นยังไม่พอเรายังจับมือกับวิสาหกิจชุมชนบ้านรลิณฯ พัฒนาแพลตฟอร์ม e-Commerce ชื่อว่า “บ้านหนูมี” จำหน่ายสินค้าท้องถิ่นระยอง โดยมี SCGC เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงชุมชนเข้ากับแพลตฟอร์ม ส่งต่อโอกาส สร้างรายได้ให้กับสินค้าชุมชนอื่น ๆ ต่อไป



กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพ
ผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา

“วิสาหกิจของเราคือผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาที่ผสมผสานกับความร่วมสมัย และสามารถเป็นแรงผลักดันให้ผู้สูงวัยในชุมชน ได้กลับมามีชีวิตชีวาใหม่อีกครั้ง” ครูประไพ คชรินทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา เล่าถึงเป้าหมายในการดำเนินงานของกลุ่ม ที่แม้จะเป็นการรวมตัวของผู้สูงวัย แต่ก็สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป

ใครจะคิดว่าแมลงรำคาญตัวเล็ก ๆ ที่บินว่อนอยู่ตามไร่สวนในจังหวัดระยองจะสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนได้อย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยความสนใจเลี้ยงผึ้งเป็นงานอดิเรกหลังเกษียณอายุข้าราชการของคุณครูประไพ ผ่านการค้นคว้าหาข้อมูล จนได้มาเจอกับ “ชันโรง” แมลงเศรษฐกิจที่มากด้วยประโยชน์ นับจากวันนั้น กล่องไม้กล่องเล็ก ๆ ไม่กี่กล่องในสวนหลังบ้าน ก็ขยายออกไปหลายชุมชนในจังหวัดระยอง นำพาความสุข ความอิ่มเอมใจ และวัยชราอันหอมหวานมาสู่กลุ่มวิสาหกิจฯ 


ชันโรงเป็นแมลงขนาดเล็ก ไม่มีเหล็กใน ระยะบินไม่ไกลมาก จัดเป็นแมลงพันธุ์จิ๋วแต่แจ๋ว เพราะสามารถหาอาหารเองจากพืชดอกทั่วไป หากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ก็จะพบเหล่าชันโรงนี้ได้ไม่ยาก พวกมันทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นั้น ๆ ยิ่งถ้าเลี้ยงในพื้นที่เกษตรอินทรีย์แล้วนั้น น้ำผึ้งที่ได้ก็จะเป็นน้ำผึ้งอินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์มากมาย 


น้ำผึ้งชันโรงของกลุ่มมีจุดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ เพราะมีส่วนประกอบของแมงโกสทีน ฟลาโวนอยด์ (Mangosteen Flavonoid) จากเกสรดอกมังคุด ทำให้มีสรรพคุณทางยา ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ สมานแผล และบำรุงสมอง และยังได้สารสกัดพรอพอลิส (Propolis) และเกสรของผึ้งชันโรง มาผลิตสินค้าจากชันโรง โดยใช้ชื่อแบรนด์ “บ้านมีชันดี” 


แม้กำลังของผู้สูงวัยในกลุ่มจะช่วยขยายบ้านของชันโรงได้ทีละเล็กละน้อย แต่ด้วยความร่วมมือกันปัจจุบันมีผู้เลี้ยงชันโรงกว่า 50 ราย สร้างรังให้ชันโรงได้กว่า 400 รัง และสร้างสังคมผู้สูงวัยที่เข้มแข็ง มีพลังใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของกลุ่มวิสาหกิจ 


“กลุ่มผู้สูงวัยอย่างเราทำได้ ทุกคนก็ทำได้” นี่ไม่ใช่คำขวัญ หรือคำโฆษณา แต่คือคำบอกเล่าแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้สูงวัยในพื้นที่ ที่ทำให้การเลี้ยงชันโรงสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม



ระหว่างทางสร้างคุณค่า : จากการเลี้ยงชันโรงในสวนหลังบ้าน ส่งต่อกันเองในหมู่ผู้สูงวัย กระทั่งวันที่ SCGC ได้รับโอกาสจากกลุ่มวิสาหกิจให้เข้ามาช่วยดูแลเครือข่ายผู้เลี้ยงชันโรง ก็ทำให้กลุ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ผลที่ได้นอกจากเพิ่มจำนวนผู้เลี้ยงชันโรงแล้ว ยังทำให้สินค้าของวิสาหกิจฯ เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย โดย SCGC ได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญมาต่อยอดองค์ความรู้ นำน้ำผึ้งที่ได้ไปทดสอบคุณสมบัติ เตรียมพร้อมยกระดับผลิตภัณฑ์สู่การเป็นสินค้าประจำจังหวัดระยอง 


นอกจากนี้ SCGC ยังเป็นตัวกลางเชื่อมโยงกลุ่มวิสาหกิจฯ เข้ากับชุมชนบ้านมาบจันทร์ ที่เราเคยเข้าไปพัฒนาเรื่องการจัดการน้ำ จนทำให้พื้นที่แห่งนี้กลับมาอุดมสมบูรณ์ และประสานกับสวนพฤกษศาสตร์จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและรวบรวมพรรณไม้ของภาคตะวันออก นำชันโรงไปเพาะเลี้ยงขยายผล เมื่อแมลงตัวน้อยได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ก็สามารถเติบโตได้ดี เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างระบบนิเวศให้สมบูรณ์ เป็นยาชูกำลังให้ชาวบ้านมีรอยยิ้ม และเป็นจุดเปลี่ยนสู่การทำเกษตรอินทรีย์ในชุมชน



SCGC มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชน พร้อมนำแนวทาง Low Carbon, Low Waste มาปรับใช้เพื่อให้เกิดการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นความมหัศจรรย์ของคนตัวเล็ก ๆ ที่ลุกขึ้นยืนได้ด้วยตัวเอง ยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และยืนยันที่จะส่งมอบคุณค่าสู่สังคมอย่างไม่รู้จบ 


Is this article useful ?