“ความยั่งยืน” ยังเป็นวาระสำคัญระดับโลกที่ได้รับความสนใจมาอย่างต่อเนื่อง และในช่วงที่โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) เตรียมรับมือยุคโลกเดือด (Global Boiling) รวมถึงความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ SCGC จึงพาทุกคนมาสำรวจ 5 Sustainability Trends 2024 เทรนด์ความยั่งยืน เทรนด์นวัตกรรม ที่กำลังจะมาถึงในปีหน้านี้
เมื่อช่วงต้นปีนี้ World Economic Forum ได้จัดทำรายงาน Global Risks Report 2023 ระบุว่าโลกของเราก็กำลังเผชิญความท้าทายจากความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบ และหนึ่งในวาระสำคัญเร่งด่วนก็คือ แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่กำลังสิ้นสุดยุคโลกร้อน (Global Warming) และเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) ที่สะท้อนผ่านแอคชันคีย์เวิร์ด “ความยั่งยืน” หรือ “Sustainability” ซึ่งประชาคมโลกมีการตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: 17 SDGs) ตัวชี้วัดให้กับทุกภาคส่วนเพื่อใช้ตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินงานให้กับตนเอง
การมาถึงของกรอบแนวคิดเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงประเด็นพื้นฐานใน 3 มิติที่สำคัญ ได้แก่ มิติสิ่งแวดล้อม (Environmental: E) มิติสังคม (Social: S) และมิติธรรมาภิบาล (Governance: G) หรือ “ESG: Environmental, Social, and Governance” ยังตอกย้ำการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการให้คำมั่นสัญญาว่าต้องการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องเป็นการเริ่มลงมือปฏิบัติแบบจริงจัง เห็นผลเชิงประจักษ์ และวัดผลได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ข้อมูลที่น่าเชื่อถือหลายแห่งระบุตรงกันว่า นักลงทุนกลุ่ม “Millennials” หรือ “Gen Y” กว่าร้อยละ 95 ให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน ในขณะที่ Gen Z และ Gen Alpha คาดหวังและเรียกร้องให้ธุรกิจมีจุดยืนที่ดีและคำนึงถึงประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม จึงเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดต่อไปได้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกไปพร้อมกัน
สำหรับปี 2024 แนวโน้ม Sustainability Trends เทรนด์ความยั่งยืน เทรนด์นวัตกรรม และวาระสืบเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) จะเป็นอย่างไรบ้าง SCGC นำมาอัปเดตให้ทุกคนได้รับรู้กันในบทความนี้
“Climate Fintech” นวัตกรรมการเงินเพื่อความยั่งยืน
Climate Fintech เป็นการนำ Fintech (การผสมระหว่างคำว่า Finance กับคำว่า Technology หรือการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบการสื่อสารออนไลน์มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจด้านการเงิน การธนาคาร และการลงทุน บ่อยครั้งก็เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Disrupt) ของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมดังกล่าวไปสู่สิ่งใหม่) เข้ามาช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ผ่านการทำให้กิจกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว มีผลกับ Climate Change น้อยลง เช่น Digital Banking และ Digital Point-of-Sale ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถทำรายการต่าง ๆ ได้โดยใช้ทรัพยากรที่น้อยลง นำไปสู่การลด Carbon Footprint ได้
การนำ Blockchain มาสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขาย Carbon Credit หรือ Renewable Energy Certificate (REC) ที่ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นและเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ถือเป็นไฮไลต์หนึ่งของ Climate Fintech ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งถือเป็นก้าวแรกของนวัตกรรมนี้ สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีกว่า 500 บริษัท/ องค์กรในกลุ่ม Carbon Neutral ที่จะได้ใช้งานแพลตฟอร์มนี้ในการซื้อขายและแลกเปลี่ยน Carbon Credit กันโดยตรง จึงทำให้การซื้อขายเป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ภายใต้แพลตฟอร์ม Gideon ที่ถูกพัฒนาโดย Blockfint ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสร้าง Thailand Carbon Credit Exchange Platform เป็นแพลตฟอร์มหลักของประเทศไทย สำหรับการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานของประเทศเรา
“SCGC เองก็ได้สนับสนุน cWallet ธุรกิจสตาร์ตอัป (startup) ที่นำเสนอระบบบัญชี Carbon Footprint สำหรับองค์กร เพื่อตอบโจทย์ Net Zero Emission และเป็นผู้คว้ารางวัลชนะเลิศและสั่งสมประสบการณ์จากเวที SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2023 รอบประเทศไทย” อ่านเรื่องราวของ cWallet ได้ที่นี่
รักษ์โลกแค่ไหน วัดได้ด้วย “ESG Disclosure”
ข้อมูลด้านความยั่งยืน (Sustainability Information) เป็นข้อมูลที่แสดงถึงนโยบาย ผลกระทบ และผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของธุรกิจ ภายใต้ระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือที่เรียกว่าข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้ใช้ข้อมูลได้เห็นถึงมุมมอง การดำเนินธุรกิจในมิติที่กว้างกว่าข้อมูลทางการเงิน ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กรทั้งในด้านความสามารถในการจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส มีศักยภาพในการแข่งขัน และการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว
ในปี 2024 ที่กำลังจะมาถึงนี้ การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน จึงเป็นอีกหนึ่ง Sustainability Trends 2024 ที่บริษัทและองค์กรต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญ โดยแต่ละบริษัทควรมีการเผยแพร่ข้อมูลด้านความยั่งยืนให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้าน ESG อย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่างๆ เช่น รายงานประจำปี รายงานความยั่งยืน หรือเว็บไซต์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนเช่นเดียวกับข้อมูลทางการเงิน รวมถึงประโยชน์ด้านอื่นๆ
“จากความมุ่งมั่นสู่การเป็น “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” (Chemicals Business for Sustainability)” SCGC ดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: 17 SDGs) และใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก เราบูรณาการแนวทาง ESG เข้ากับการดำเนินธุรกิจ โดยมีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนไว้ที่ รายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“AI (Artificial Intelligence)” เพื่อโลกยั่งยืน สังคมน่าอยู่
เทคโนโลยีปัญหาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) กำลังถูกจับตาในฐานะ Game Changer ที่จะเข้ามาสร้างความยั่งยืนต่อโลกอนาคต และในปี 2024 เทรนด์นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนดังกล่าวนี้ จะเข้ามาช่วยให้โลกเราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: 17 SDGs) และช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับเอกชน ชุมชนเมือง ประเทศ และต่อโลกอย่างทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
AI จาก Recursive Inc. คือตัวอย่างเชิงประจักษ์ที่ฉายภาพให้เราเห็นว่า AI เข้ามาช่วยเรายกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร Recursive Inc. เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการปรึกษาทางเทคโนโลยีในประเทศญี่ปุ่น เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่สร้างขึ้นมาจากชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้สร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ เช่น เสียง ข้อความ รูปภาพ วิดีโอ รวมถึงช่วยให้ธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน พวกเขาใช้ Generative AI ช่วยจำลองผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ใช้ AI วัดข้อมูลสภาพอากาศ และประเมินการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซลาเซลล์รายปี
ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) SCGC มุ่งเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 หนึ่งในแนวทางที่เราเน้นคือ “การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (Energy Efficiency)” โดยการนำดิจิทัลเทคโนโลยี คือ AI (Artificial Intelligence) และ Machine Learning เข้ามาบริหารจัดการพลังงานภายในโรงงาน อยากรู้ไหม ? ว่าเราใช้ AI อย่างไร คลิก
“EV” ยานยนต์หลักเพื่อโลกยั่งยืน
จากข้อมูลของ Emissions Database for Global Atmospheric Research (EDGAR) ระบุว่า ในปี 2565 ภาคการขนส่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นถึงร้อยละ 72% เมื่อเทียบกับปีฐานในปี 2533 เช่นนั้นแล้ว การร่วมกันหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV จึงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในปี 2024
ก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐผ่านกฎหมายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Law) มาตั้งแต่ปี 2021 โดยมีงบประมาณลงทุนสร้างสถานีชาร์จ 7.5 พันล้านดอลลาร์ และเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ประกาศแผนการสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จ EV จำนวน 500,000 จุดทั่วประเทศ พร้อมกำหนดสเปกกลางของที่ชาร์จ EV ให้รถยนต์ทุกยี่ห้อใช้ร่วมกันได้ ข้ามมาที่ฝั่งยุโรปEU ลงมติบังคับให้รถยนต์ใหม่ทุกคันที่จะออกสู่ตลาดตั้งแต่ปี 2035 ต้องไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลก และตั้งแต่ปี 2030 รถยนต์ทุกคันที่จัดจำหน่ายจะต้องปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง 55%
เกาหลีเองก็มีการให้เงินสนับสนุนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ไฮไลต์คือเกาะเจจู ประกาศว่าปี 2030 จะต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าหมดทั้งเกาะ บริษัทรถยนต์อย่าง Hyundai หรือ KIA เองก็ปรับตัวเองมาใช้ Battery Electric Vehicle: BEV เป็นรถยนต์ที่พึ่งกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรีมาสร้างกำลังขับเคลื่อน สำหรับประเทศไทยรัฐบาลประกาศ นโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าให้มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วน 30% และมีสถานีชาร์จไฟฟ้าจำนวน 100,000 แห่ง ภายในปี 2030 และกลายเป็น 200,000 แห่งภายในปี 2035 (ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 1,818 แห่งทั่วประเทศ) ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าอาจจะมีการปรับตัวเลขใหม่ให้สอดคล้องกับทิศทางของโลกอีกครั้ง หลังจากที่ตลาดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากการแบนรถเครื่องยนต์ดีเซลในยุโรป
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา SCGC ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับบริษัท Denka Company Limited หรือ Denka ประเทศญี่ปุ่น เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอะเซทิลีนแบล็ก (Acetylene Black) ในจังหวัดระยอง คาดว่าจะมีกำลังการผลิตประมาณ 11,000 ตันต่อปี และโรงงานสามารถเริ่มกระบวนการผลิตได้ภายในต้นปี 2568 อ่านรายละเอียดความร่วมมือ SCGC-Denka ที่นี่
โลกยั่งยืน สังคมมั่งคั่ง ด้วย “Biodiversity”
ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกใบนี้สมดุล เพราะทุกชีวิตบนโลกต่างมีหน้าที่กำกับดูแลสมดุลของวัฏจักรต่าง ๆ ที่เอื้อต่อชีวิตเรา แต่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ ความหลากหลายทางชีวภาพหายไปกว่า 70% และนี่คืออีก Sustainability Trends 2024 นอกเหนือไปจากเทรนด์นวัตกรรม
การเพิ่มจำนวนสายพันธุ์ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Biodiversity Net Gain เป็นเทรนด์ที่ต้องใส่ใจในปี 2024 เพราะผลจากการเจรจากรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล แสดงให้เห็นว่าสังคมโลกได้มีความเห็นร่วมกันถึงกรอบแนวทางปฏิบัติ ที่จะประเมิน ติดตาม และตรวจสอบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ และหลายประเทศได้มีมาตรการตามแนวทางปฏิบัติดังกล่าวอย่างชัดเจน เช่น ประเทศอังกฤษได้ออกกฎหมายที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้การพัฒนาเมืองหรือพื้นที่อื่น ๆ ต้องออกแบบให้เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพอย่างน้อย 10% เป็นต้น
โครงการ ‘ปลูก เพาะ รัก: ปลูกต้นไม้ เพาะต้นกล้า รักษาป่า สู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำ’ ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2565 ของ SCGC เป็นความร่วมมือของเรากับหน่วยงานราชการ และชุมชนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันพลิกฟื้นผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้วิธีปลูกป่าที่ถูกต้อง ทำให้ชุมชนเกิดความรักในทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นตนเอง ตั้งแต่ปี 2561 SCGC ปลูกป่าชายเลน ป่าบก เพาะต้นกล้า และดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง จำนวน 368,729 ต้น ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 3,573 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่นี่
5 Sustainability Trends 2024 ที่ SCGC พาทุกคนไปอัปเดต ถือเป็นไฮไลต์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และส่งผลดีต่อโลก สิ่งแวดล้อม และสังคมของเราอย่างมีนัยยะสำคัญ สำหรับ SCGC เอง ยังคงมุ่งมั่นคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างสรรค์และดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ด้านความยั่งยืนเพื่อช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างต่อเนื่องด้วย
_______________________________________________
ข้อมูลอ้างอิงและเครดิตรูป: