close

15 ก.ย. 2566

World Ozone Day ร่วมหยุดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยภารกิจด้านความยั่งยืนจาก SCGC

Business ESG Innovation

ร่วมมือกันหยุดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ท่ามกลางวิกฤตการณ์โลกร้อนที่ทวีความรุนแรงจนกลายเป็นภาวะ “โลกเดือด” หรือ Global Boiling ซึ่งเป็นจุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างหนัก นำไปสู่อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ก๊าซเรือนกระจกคือเป้าหมายสำคัญที่ทั่วโลกต้องควบคุมให้ได้ เพราะเป็นกลุ่มก๊าซตัวร้ายที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลก โดยนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้คือ เป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อก้าวไปสู่ภารกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)


ความพยายามที่จะปกป้องชั้นบรรยากาศของโลก และหยุดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีมาแล้วหลายทศวรรษ หากย้อนไปเมื่อปี 1985 “อนุสัญญาเวียนนาและพิธีสารว่าด้วยการเลิกใช้สารทำลายชั้นโอโซน” ถือเป็นก้าวแรกในการดูแลชั้นบรรยากาศของโลก ก่อนจะเริ่มการลงนามในอนุสัญญาอย่างเป็นทางการใน “พิธีสารมอนทรีออล” เมื่อวันที่ 16 กันยายน 1987 ทำให้วันที่ 16 กันยายนของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันโอโซนโลก (World Ozone Day) เพื่อกระตุ้นให้นานาประเทศเห็นความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและร่วมมือผนึกกำลังกันลดการใช้สารคลอโรฟลูโอคาร์บอน (Chlorofluorocarbons: CFCs) ซึ่งเป็นสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนของโลก


โอโซนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โอโซน คือก๊าซชนิดหนึ่งที่ห่อหุ้มโลกเอาไว้ ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันและกรองรังสีที่เป็นอันตรายจากดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะรังสี UV ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และช่วยลดความร้อนจากสะสมในชั้นบรรยากาศได้อีกทาง แต่จากการบริโภคของมนุษย์และความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมที่ใช้การเผาไหม้เชื้อเพลิง ทำให้เกิดการปลดปล่อยสารที่เป็นอันตรายต่อชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะสาร CFCs ที่มีผลทำลายชั้นโอโซนโดยตรง รวมทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก เป็นตัวเร่งสู่วิกฤตการณ์โลกรวน


นี่จึงถึงเวลาแล้ว ที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันพลิกฟื้นโลกจากวิกฤติ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดค้นนวัตกรรมและร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ ไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างเร็วที่สุด


ต่อสู้กับภาวะวิกฤต ด้วยภารกิจเพื่อความยั่งยืน

SCGC ในฐานะผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาค ที่มุ่งสร้างการเติบโตแก่ธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน พร้อมปักหมุดมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 ด้วย ด้วย 3 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 1) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต (Decarbonization) 2) สรรหาวัตถุดิบที่มีคาร์บอนต่ำตั้งแต่ต้นทาง (Low Carbon Supply Chain) 3) สร้างสรรค์สินค้าคาร์บอนต่ำตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Portfolio Adjustment) และการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer)  


ไม่เพียงเท่านี้ SCGC ยังได้จับมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศขับเคลื่อนโครงการกักเก็บก๊าซคาร์บอนเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ภารกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนเดินหน้าเป็นรูปธรรม อาทิ

  • โครงการ PYROCO2 ซึ่งเป็นความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี และก่อตั้งโรงงานต้นแบบ เพื่อนำคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาผลิตเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติก
  • ร่วมมือกับไอเอชไอ (IHI) ผู้ผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าและก่อสร้างขนาดใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ศึกษาและสร้างโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) เพื่อทดสอบเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต มาเป็นวัตถุดิบทางเลือกทดแทนการใช้แนฟทา เชื่อมต่อกับระบบของโรงงานผลิตโอเลฟินส์ในกลุ่มธุรกิจ SCGC
  • ร่วมมือกับบริษัท Avantium N.V. ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านเคมีทดแทน (Renewable Chemistry) พัฒนาพอลิเมอร์ที่คาร์บอนฟุตพรินต์เป็นลบ (Carbon-negative Plastic) หรือพอลิเมอร์ PLGA (Polylactic-co-glycolic Acid) ที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้เป็นสารตั้งต้น และไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต สามารถรีไซเคิลและย่อยสลายได้ทั้งในสภาวะธรรมชาติ และในทะเล

การรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

“คาร์บอนฟุตพรินต์” เป็นการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในชีวิตประจำวัน วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ การดำเนินงานของภาคธุรกิจและองค์กร ไปจนถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ ดังนั้นการวัดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์จึงสามารถนำข้อมูลไปใช้วางแผนการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ตามเป้าหมาย


SCGC ไม่เคยหยุดก้าวไปบนเส้นทางของความยั่งยืน เราให้ความสำคัญกับการรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์ เพื่อแสดงถึงศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในปีที่ผ่านมา SCGC และบริษัทในกลุ่มธุรกิจ ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์องค์กรแล้วทุกบริษัท จากการประเมินข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่คุณค่า ไม่เพียงเท่านั้น SCGC ยังตั้งเป้าให้ผลิตภัณฑ์จากทุกบริษัทย่อยได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ภายในปี 2568 และต้องดำเนินการต่ออายุการรับรองทุก 3 ปี


เดินหน้าร่วมกับชุมชนก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นอกจากความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจแล้ว SCGC ยังเดินหน้าภารกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืน ร่วมสร้างพื้นที่สีเขียว ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พร้อมส่งเสริมกิจกรรมพิทักษ์ป่า และการปลูกป่าในใจคน ภายใต้โครงการ “ปลูก เพาะ รัก” : ปลูกต้นไม้ เพาะต้นกล้า รักษาป่า สู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำ โดยที่ผ่านมา SCGC ได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ หยั่งรากความยั่งยืนลงสู่ผืนดินด้วยการปลูกและเพาะต้นไม้ไปแล้วในพื้นที่ 650 ไร่ สามารถดูดซับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 3,360 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า พร้อมก้าวไปอีกขั้นกับโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โดยร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ทั้งนี้  SCGC มีแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อสะสมคาร์บอนเครดิตอย่างต่อเนื่อง ต้นไม้ทุกต้นที่ปลูกจะต้องมีแผนการดูแลในระยะยาว เพื่ออัตราการปลูกสำเร็จไม่ต่ำกว่า 80% การปลูกป่าของ SCGC หวังผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมและต้องสร้างประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน จึงได้ขอขึ้นทะเบียนโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program, T-VER) ที่ดูแลโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย โดย SCGC ได้ขอขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER แบบมาตรฐานขั้นสูง เรียกว่า Premium T-VER ซึ่งมีเกณฑ์ในการดำเนินงานที่เข้มข้นขึ้น ด้วยความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการจัดสรรพื้นที่ปลูกป่า 1,100 ไร่ ใน 3 จังหวัดได้แก่ ระยอง 437 ไร่ เพชรบุรี 563 ไร่ และชลบุรี 100 ไร่ เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้สมบูรณ์ด้วยพรรณไม้ และเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน กลายเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอน พร้อมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำให้กับประเทศไทย


ทุกวันนี้โลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤตที่รอไม่ได้อีกต่อไป ชั้นบรรยากาศโลกที่ถูกทำลาย เปรียบเสมือนหลังคาบ้านที่ไม่อาจบังแดดบังฝนให้กับคนที่พักอาศัย และเป็นอันตรายต่อทุกชีวิตที่อยู่ใต้ชายคา ถ้าเช่นนั้นจะดีกว่าหรือไม่ หากทุกภาคส่วนจะจับมือกันก้าวข้ามปัญหานี้ ด้วยการดำเนินธุรกิจและใช้ชีวิตโดยมีหลักคิดเรื่องความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อซ่อมแซมบ้านของเราให้กลับมาน่าอยู่ และมีอุณหภูมิแห่งความสุขที่พอเหมาะสำหรับทุกคน



Is this article useful ?