close

10 ก.ค. 2566

ครบเครื่องทุกเรื่อง “CO₂” เทรนด์รักษ์โลกอย่างยั่งยืน

Business ESG Circular Economy Innovation Sustainability

นอกเหนือจากความปกติใหม่หลายข้อที่เกิดขึ้นหลังจากการมาถึงของโควิด-19 ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในช่วงที่ผ่านมา เช่น อากาศที่ร้อนกว่าปกติ ฝนตกไม่ตรงฤดูกาล หรือสภาพอากาศรุนแรงบ่อยครั้งมากขึ้น ก็เป็นอีกเรื่องที่คนในสังคมต่างพูดถึง

"นั่นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นผลพวงจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ และส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น ที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน (Global Warming)  ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในอนาคตอันใกล้นี้"

อย่างไรก็ตามรัฐบาลของแต่ละประเทศ ผู้เชี่ยวชาญและบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกต่างกำลังหาวิธีเพื่อบรรเทาผลกระทบและชะลอความรุนแรงของปรากฏการณ์ดังกล่าว รวมถึงร่วมมือกันวางแผนระยะยาวเพื่อหาทางออกให้กับเรื่องนี้อย่างยั่งยืน

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เนื้อหาแนะนำ:

     รายงานผลการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2565 ของ SCGC

    ส่องเทรนด์! ท่ออุตสาหกรรมและโซลูชันส์นวัตกรรมเคมีภัณฑ์

     “Sustainability” เทรนด์ปี 2023 ที่ผู้บริโภคพร้อมสนับสนุน

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

วันวานของ CO ก่อนเป็นภัยคุกคามโลก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Climate Change หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและรูปแบบของสภาพอากาศในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่ตั้งแต่ปี 1800 ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์โดยส่วนใหญ่ สาเหตุหลักมาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ) การตัดไม้ทำลายป่า และการทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide: CO2) และเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการสะสมพลังงานความร้อนในชั้นบรรยากาศมากที่สุด จนส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อกลไกตามธรรมชาติของโลก และท้ายที่สุดก็คือการมีอยู่ของเราทุกคน

จากประเด็นท้าทายดังกล่าวจึงเป็นการมาถึงของการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเริ่มมีการหารือกันครั้งแรกที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี  ในปี 1995

กว่า 3 ทศวรรษ ที่ COP หรือ Conference of Parties ที่ถือเป็นการประชุมรัฐภาคีสมาชิกความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศ (Multilateral Agreement) ต่าง ๆ ภายใต้สหประชาชาติ โดย COP ที่รู้จักกันดี คือการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC)  การประชุมครั้งล่าสุดคือ COP27 ที่เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งการประชุมครั้งนี้มุ่งประเด็นข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชย “ความสูญเสียและเสียหาย” (Loss and Damage) ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น และก่อนหน้านั้นก็คือ COP26 จัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2564 สาระสำคัญจากการประชุมดังกล่าวก็คือ จะต้องให้มีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ "Net Zero" ภายในปี 2050 ซึ่งถือเป็นการขีดเส้นตายเพื่อจัดการกับภาวะโลกร้อน

กระนั้นประเด็นดังกล่าวก็ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญของมนุษยชาติ เพราะแม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะมีความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงแล้วจากทุกภาคส่วน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา (COP21) นั่นคือ การรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม (The Industrial Revolution) และให้พยายามตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความผิดปกติของอุณหภูมิโลก พบว่าในปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นแล้วประมาณ 1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิกรณีฐาน (อุณภูมิเฉลี่ยปี 1981-2010 ที่ 13.9 องศาเซลเซียส)

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มก๊าซเรือนกระจกที่ประกอบด้วย มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) เป็นต้น เป็นก๊าซที่มีอยู่ทั่วไปในบรรยากาศ และถูกนำมาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช สาหร่าย แพลงก์ตอนพืช และแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ เพื่อผลิตน้ำตาลและอาหาร และถูกปลดปล่อยกลับออกสู่ชั้นบรรยากาศอีกครั้ง ผ่านกระบวนการหายใจของพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ปริมาณที่เหมาะสมตามธรรมชาติของ CO2 และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ เมื่อลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจะช่วยดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ ทำให้อุณหภูมิของโลกเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต

แต่ในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา การเผาไหม้เชื้อเพลิงเหล่านี้ทั้งการขนส่ง การคมนาคม จากโรงงาน และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงก๊าซอื่น ๆ ในกลุ่มก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำลายสมดุลทางธรรมชาติที่คงอยู่มาเป็นเวลาหลายพันล้านปี จนส่งผลให้ชั้นบรรยากาศมีการกักเก็บรังสีความร้อนไว้มากขึ้น ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าในอดีตหลายร้อยเท่า และยังก่อให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะโลกร้อน (Global Warming)  

รายงานจาก Climate Watch ระบุว่า ในปี 2011 ทั่วโลกมีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 32,274 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (MtCO2) ซึ่งมากกว่าปริมาณที่วัดค่าได้ของปี 1850 ที่ 198 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (MtCO2) และนั่นเป็นสัดส่วนที่ต่างกันถึง 150 เท่า! และจากข้อมูลสถิติโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) พบข้อมูลทางสถิติที่ต้องให้ความสนใจคือ เมื่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์มีปริมาณมากขึ้น ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกโลกโดยเฉลี่ย และอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นผิดปกติจะสูงขึ้นในทิศทางเดียวกัน ความสัมพันธ์นี้เห็นได้เด่นชัดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 เป็นต้นมา เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชิ้นสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ภาวะโลกร้อน (Global Warming) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง

ไขความข้องใจทุกศัพท์เกี่ยวกับ CO

ท่ามกลางกระแสความพยายามจากทุกฝ่ายที่ช่วยกันคิดค้นและพัฒนาโซลูชันเพื่อชะลอความรุนแรง ลดผลกระทบ ตลอดจนหาทางออกให้กับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก คำศัพท์ใหม่ที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวก็พรั่งพรูออกมาจากผู้เชี่ยวชาญและถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องบนแพลตฟอร์มสื่อต่าง ๆ ดังนั้นการสร้างความคุ้นเคยและทำความเข้าใจศัพท์แสงเหล่านี้คือเรื่องที่จำเป็น SCGC จึงขอใช้พื้นที่ในบทความนี้นำเสนอคำจำกัดความและคำอธิบายคลังคำที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และก๊าซเรือนกระจกที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นตัวการสำคัญให้กับทุกคน

ในการประชุม COP26 หรือการประชุมสมัชชาประเทศว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ประเทศไทยก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะบรรลุเป้า Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ บรรลุเป้า “Net Zero Emissions” ภายในปี 2065 แล้วคีย์เวิร์ดทั้งสองนั้นหมายถึงอะไร คำแรกที่ว่า Carbon Neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นศัพท์แห่งปีของ New Oxford American Dictionary ในปี 2006 และได้กลายเป็นคำในกระแสหลักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หมายถึง การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอนซึ่งก็คือ CO2 เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอาจเป็นเป้าหมายได้ทั้งในระดับบุคคล องค์กร หรือประเทศ สามารถทำได้โดยการลดและชดเชย (lower and offset) การปล่อยคาร์บอนจนเป็นกลาง ส่วนคำว่า Net Zero Emissions ที่แปลว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือ การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุล เท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ การจะบรรลุกิจกรรมดังกล่าวได้ก็คือการไม่ปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนี้เพิ่มขึ้นไปในชั้นบรรยากาศอีก ซึ่งทำได้ทั้งลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือชดเชยด้วยการกำจัดก๊าซดังกล่าวเท่ากับจำนวนที่ปล่อยออกไป

ทั้งสองคีย์เวิร์ด Net Zero Emissions และ Carbon Neutrality มีความหมายใกล้เคียงกันมาก แต่คำหลังเป็นมิติที่กว้างกว่าแค่การปล่อยคาร์บอน คือ พิจารณาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น (สามตัวหลัก ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) และ ไนตรัสออกไซด์ (N2O) จึงเห็นได้ว่า Carbon Neutrality นั้นเป็นเป้าหมายเริ่มต้นสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นอกจากนี้ Net zero Emissions เป็นเป้าหมายที่ตั้งในระดับประเทศ หรือในกรณีของการเป็นเป้าหมายระดับองค์กรจะต้องมีการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตทั้งต้นน้ำปลายน้ำ จึงเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทายกว่าความเป็นกลางทางคาร์บอน

Carbon Negative และ Climate positive เป็นอีกสองคำที่อยู่ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และก๊าซเรือนกระจกที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในกรณีที่การดูดซับหรือกักเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาในชั้นบรรยากาศจะเรียกว่า Carbon Negative หรือคาร์บอนติดลบ ตัวอย่างประเทศที่บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ก็คือ ประเทศภูฏานและประเทศซูรินาเมในลาตินอเมริกาที่มีพื้นที่ป่าไม้หนาแน่นมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ประเทศ และยังมีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองพื้นที่สีเขียวเหล่านี้เคร่งครัดอีกด้วย ส่วน Climate Positive คือ การลดหรือไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานสู่ชั้นบรรยากาศ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด IKEA บริษัทเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่จากประเทศสวีเดนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของคำศัพท์ดังกล่าว เพราะบริษัทสนับสนุนครัวเรือนให้หันมาใช้และเข้าถึงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมได้มากขึ้นด้วยราคาที่หาซื้อได้ ขณะเดียวกันก็ได้พยายามปรับให้ตลอดกระบวนการผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทานสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030

ศัพท์สำคัญสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และก๊าซเรือนกระจกที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) คือคำว่า Carbon Offset ซึ่งเป็นคำที่ถูกพูดถึงกันครั้งแรกในปี 1989 หรือราว ๆ สามสิบกว่าปีก่อน จากการทำวนเกษตรในประเทศกัวเตมาลา เป็นกระบวนการดึงก๊าซเรือนกระจกที่สะสมในชั้นบรรยากาศ เพื่อเอาไปหักลบกับมลพิษที่ปล่อยออกมา กล่าวอย่างไม่ซับซ้อนก็คือเป็นกระบวนการในการสร้างของดีเพื่อเอามาหักล้างกับของเสียที่ถูกปล่อยออกมา

ความพยายามปัจจุบันและแนวทางในอนาคต เพื่อลด CO2

รายงานของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ปี 2022 ระบุว่า ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคพลังงานจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น 0.9% หรือคิดเป็นปริมาณ 321 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมขึ้นถึงระดับสูงสุดที่เกิน 36.8 ล้านตัน

จากเป้าหมายหลักของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่แต่ละประเทศจะต้องทุ่มเทให้กับการคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แม้ว่าหลายประเทศจะยังดำเนินการได้ไม่สำเร็จ แต่ใน COP27 มีการแสดงเจตจำนงจากหลายประเทศที่จะเพิ่มความเข้มข้นให้เป้าหมายนี้ นั่นคือเพิ่มจากการลดใช้ถ่านหิน เป็นการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทุกประเภท จากที่ประชุมดังกล่าวยังมีการสรุปแผนการทำงานรับมือวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยเพิ่มความเร่งด่วนในการแก้ไขผลกระทบวิกฤตสภาพภูมิอากาศในช่วงทศวรรษนี้ และการตกลงตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Finance Fund) ซึ่งจะเป็นกองทุนที่สำคัญในการสร้างความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

สำหรับประเทศไทยได้ทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ในการประชุม COP26 ด้วยการจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 โดยตั้งเป้าในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก จากปริมาณสูงสุดคือ 388 ล้านตันต่อปี ให้ลดลงเหลือ 120 ล้านตันต่อปี เพื่อบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065 รวมทั้ง เพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions : NDCS) ลดก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40  ภายในปี 2030 หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ

เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี (SCGC) ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ที่มีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์กว่า 40 ปี และเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวที่มีการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง ทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เราให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และก๊าซเรือนกระจกที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) SCGC ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานผ่านกิจกรรมสำคัญที่สามารถสรุปได้ดังนี้

    • SCGC ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
    • มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ของปีฐาน 2021 ภายในปี 2030 ด้วยแนวทาง “Low Carbon Low Waste” โดย SCGC ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานไว้ 3 เรื่อง
        • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต (Decarbonization): เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้คาร์บอนเครดิตและการกักเก็บคาร์บอน
        • Low Carbon Supply Chain: ร่วมมือกับคู่ค้าในห่วงโซ่คุณค่า ส่งเสริมการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ลดการพึ่งพาวัตถุดิบฟอสซิล เพิ่มสัดส่วนวัตถุดิบรีไซเคิล ลดการใช้น้ำจากภายนอก ลดการเกิดของเสีย ลดมลพิษทางอากาศ
        • Product Portfolio Adjustment: พัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ โดย SCGC มีสินค้าที่ได้รับการรับรอง SCG Green Choice ในหมวดประหยัดพลังงาน 16 กลุ่มสินค้า และส่งเสริมการขอรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์ โดยในปี 2022 SCGC และบริษัทย่อยของ SCGC ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์องค์กร (CFO) แล้วทุกบริษัท
    • SCGC ได้คิดค้นและพัฒนา Green Innovations ไฮไลต์คือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) และพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้าน Low Carbon โดยเราตั้งเป้าผลักดันเพิ่มปริมาณการขายรวมกลุ่มของโซลูชันดังกล่าวเป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2030
        • Green Polymer ของ SCGC ครอบคลุมโซลูชัน 4 ด้าน ได้แก่ (1) Reduce ลดการใช้ทรัพยากร ด้วยเทคโนโลยี SMX™ ทำให้สามารถผลิตเม็ดพลาสติกที่มีความแข็งแรงมากขึ้น ช่วยลดความหนาของชิ้นงานแต่คงความแข็งแรงได้ดังเดิม ลดการใช้ทรัพยากรอย่างเม็ดพลาสติก (2) Recyclable การออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลได้ พัฒนาโซลูชัน Mono-material สำหรับบรรจุภัณฑ์ ทำให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ (3) Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่ พัฒนาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin: PCR) จากกระบวนการ Mechanical Recycling และเม็ดพลาสติก Certified Circular Resin จากกระบวนการ Advanced Recycling และ (4) Renewable การทำให้ย่อยสลายได้และการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน โดยการพัฒนาเม็ดพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Bio-Compostable Compound Resin) พร้อมให้นำไปขึ้นรูป ผลิตเป็นถุงย่อยสลายได้
        • นอกจากนี้ SCGC ยังได้ร่วมมือกับ Braskem เพื่อศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio-Based Polyethylene) จากผลผลิตทางการเกษตรซึ่งถือเป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอีกด้วย
    • เราพัฒนาโซลูชันเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โครงการสำคัญได้แก่ การส่งเสริมการรีไซเคิลขยะในชุมชน ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน KoomKah (คุ้มค่า) สำหรับบริหารจัดการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธนาคารขยะ และส่งเสริมให้ชุมชนแยกขยะมากขึ้น โดยขยายฐานสมาชิกแล้วกว่า 15,000 ราย มีธนาคารขยะในเครือข่าย 330 แห่ง และคัดแยกขยะรีไซเคิลได้กว่า 300 ตัน คิดเป็นการลดก๊าซเรือนกระจก 4,487 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2565)
        • โครงการ “คุ้มค่า x ยูนิลิเวอร์ แยกดีมีแต่ได้” เป็นโครงการนำร่องจาก SCGC ที่เทศบาลเมืองใหม่บางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี สามารถบรรลุเป้าหมายการคัดแยกพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนจำนวนกว่า 6,000 กิโลกรัม ภายใน 1 ปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 5,750 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนกว่า 17,000 คน พร้อมสร้างรายได้เพิ่มให้แก่คนในชุมชนเทศบาลเม่องใหม่บางบัวทองไปแล้วกว่า 49,970 บาท
        • ปี 2565 ที่ผ่านมา SCGC ได้ปลูกป่าบกในพื้นที่ของโรงงานและพื้นที่นอกโรงงานไปแล้วกว่า 18,000 ต้น ป่าชายเลน 2,500 ต้น รวมปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจก 369 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
    • ล่าสุด SCGC จับมือกับ Avantium N.V. บริษัทผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านเคมีทดแทน (renewable chemistry) จากประเทศเนเธอร์แลนด์ และ IHI บริษัทชั้นนำประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าและก่อสร้างขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Dioxide Capture and Utilization (CCU)

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ดาวน์โหลด รายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนจาก SCGC ได้ ที่นี่

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

SCGC หรือ เอสซีจี เคมิคอลส์ ยังเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมเคมีภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วนอย่างไม่หยุดยั้ง และทิศทางการพัฒนาของเราที่จะเป็นอีกหนึ่งทางออกให้กับความท้าทายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และก๊าซเรือนกระจกที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นตัวการสำคัญก็ชัดเจนมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในบริบทนี้ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และ SCGC ขอเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่จะช่วยขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่โซลูชันที่ยั่งยืน


Is this article useful ?