close

28 เม.ย. 2566

โลกคู่ขนานระหว่าง “กระดาษ” และ “พลาสติก”

Circular Economy Sustainability

ขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ในห่วงโซ่คุณค่ามุ่งมั่นที่จะหมุนเวียนใช้ซ้ำพลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และภาครัฐกำลังขับเคลื่อนนโยบายและผลักดันกรอบการทำงานเพื่อบริหารจัดการพลาสติกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่มีพลาสติกเพียงแค่ 9% ที่ถูกรีไซเคิล จากพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นใหม่ทั้งหมด 8,300 ล้านตันทั่วโลก และนับตั้งแต่การระบาดของโควิด 19 ในปี 2020 มีรายงานว่าขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (หมายรวมถึง ถุง ขวด หลอด และอื่นๆ ที่โยนทิ้งหลังจากใช้แล้วแค่ครั้งเดียว) หรือ Single-use plastics มีจำนวนสูงถึง 139 ล้านตัน หรือเกือบสองเท่าของที่มีรายงานไว้เมื่อปี 2019

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแบรนด์สินค้าบางส่วนบอกลาการใช้งานพลาสติก และโฆษณาผ่านแคมเปญรักษ์โลกต่าง ๆ ว่ามีการใช้วัสดุทดแทน ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ “บรรจุภัณฑ์กระดาษรักษ์โลก” แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะใช้วัสดุไหน ควรศึกษาทำความเข้าใจข้อดีข้อเสีย วงจรชีวิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงผลกระทบและแนวทางการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในบทความนี้ SCGC จะชวนทุกคนมาร่วมกันค้นหาคำตอบไปด้วยกัน

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

บทความแนะนำ:

  อัปเดต ! ผลการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2565

  ✓ ฟื้นผืนป่า คืนฝูงปลาสู่ท้องทะเล จาก SCGC

  ✓ Invest in Our Planet พลิกธุรกิจ ลงทุนเพื่อเปลี่ยนโลก

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จากฮีโร่วัสดุศาสตร์สู่ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม

จากเซลลูลอยด์ของ จอห์น เวสลีย์ ไฮแอท (John Wesley Hyatt) วัสดุล้ำสมัยที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อใช้แทนงาช้างในปี 1869 สู่ “เบกาไลท์ (Bakelite)” ประดิษฐกรรมที่ปฏิวัติวงการวัสดุศาสตร์ของ เลโอ เฮนดริก บาเกอลันด์ (Leo Hendrick Baekeland) ซึ่งเป็นพอลิเมอร์สังเคราะห์ชนิดแรก โดยใช้ฟีนอล (Phenol) ทำปฏิกิริยาควบแน่นกับฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) และต่อมาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการผลิตพลาสติกชนิดอื่น ๆ ตามมาในอุตสาหกรรมพลาสติกอีกนับไม่ถ้วน วัสดุมหัศจรรย์ที่เราเรียกว่า “พลาสติก” นี้ ก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและถูกนำมาใช้งานอย่างกว้างขวาง

การใช้งานที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของพลาสติก ก็คือ ถุงพลาสติก บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวถูกคิดค้นขึ้นโดย สเตียน กุสตาฟ ทูลิน (Sten Gustaf Thulin) ชาวสวีเดน เมื่อปี 1959 เพราะตอนนั้นผู้คนใช้ถุงกระดาษกันอย่างแพร่หลาย จึงทำให้ต้นไม้จำนวนมากถูกตัดไปทำถุงกระดาษ เขาจึงคิดค้นถุงที่แข็งแรง น้ำหนักเบา และใช้งานได้ทนทาน โดยคาดหวังว่าผู้คนจะใช้มันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ช่วยให้ไม่ต้องตัดต้นไม้จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่คาดคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไป ถุงพลาสติกจะกลับกลายเป็นของที่ผู้คนใช้ครั้งเดียวทิ้งจนก่อให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก 

“มีการประเมินว่า ทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกประมาณ 1 ล้านล้านใบต่อปี แค่ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีการใช้ถุงพลาสติกสูงถึง 380 ล้านใบ ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 589 ล้านล้านบาท ในปี 2019

หรือ “กระดาษ” จะกลายเป็นวัสดุแห่งโลกอนาคต ?!?

ท่ามกลางกระแสต่อต้านการใช้งานพลาสติก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในวัสดุทางเลือกที่ถูกกล่าวถึงและพยายามใช้ทดแทนพลาสติก (ซึ่งตามข้อเท็จจริงควรต้องชี้เฉพาะลงไปว่า “พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง”) ก็คือ กระดาษ ซึ่งเป็นวัสดุที่คนส่วนใหญ่ยอมรับตรงกันว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แถมยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่เหมือนกับพลาสติกส่วนใหญ่ที่ใช้เวลานานในการย่อยสลาย และไม่สามารถรู้แน่ชัดว่าใช้ระยะเวลานานแค่ไหน ดังนั้น กระดาษจึงเป็นทางออกสำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สะดวกใช้ได้มากที่สุด สะท้อนภาพลักษณ์แบรนด์ว่าใส่ใจสิ่งแวดล้อม และได้ใจผู้บริโภคไปในขณะเดียวกัน

รัฐบาลแคนาดาออกคำสั่งห้ามไม่ให้บริษัทต่าง ๆ นำเข้าหรือผลิตถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งภายในสิ้นปีนี้ และจะห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวภายในสิ้นปีหน้า ก่อนที่จะสั่งห้ามการส่งออกทั้งหมดภายในสิ้นปี 2025 หลายประเทศในทวีปยุโรปเริ่มมีการออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บ “ภาษีพลาสติก” เริ่มตั้งแต่การจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก แม้แต่ประเทศไทยของเราเองรัฐบาลก็ออกโรดแมป การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 (Thailand's Roadmap on Plastic Waste Management 2018 - 2030) ที่ระบุให้มีการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 4 ชนิด เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

อย่างไรก็ตามปริมาณการใช้กระดาษที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขจากรายงานประจำปี 2018 ของ Environmental Paper Network หรือ EPN ระบุว่า 400 ล้านตันคือจำนวนการใช้งานกระดาษของทั้งโลกในแต่ละปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกระแสการห้ามการใช้งานพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้รายงานยังระบุเพิ่มเติมว่า ทุก ๆ ปี จะมีการตัดไม้ทำลายป่ามากกว่า 4 ล้านเอเคอร์เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับพืชผลใหม่หรือพื้นที่สีเขียว การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลเสียหายในทางลบต่อทรัพยากรป่าไม้บนโลกอย่างร้ายแรงและโดยตรงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญอยู่

เมื่อวิเคราะห์ให้ลึกลงไปถึงกระบวนการผลิตกระดาษ ทุกขั้นตอนส่วนใหญ่ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การตัดต้นไม้ที่ทำลายความสมบูรณ์และหลากหลายของระบบนิเวศ กระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 80% และมลพิษทางน้ำสูงถึง 50 เท่าของพลาสติก หรือการนำไปรีไซเคิลเป็นกระดาษใหม่ที่ใช้พลังงานมากกว่าของพลาสติกถึง 91% นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเมื่อมันกลายเป็นขยะแล้ว เพราะเมื่อนำขยะไปฝังกลบก็จะปล่อยก๊าซมีเทนออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ ที่มีพิษร้ายแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า

แม้ว่าปัจจุบันมีการทำฟาร์มป่าไม้เพื่อใช้ผลิตกระดาษโดยเฉพาะ แต่ถ้าลองมองบริบทอื่น ๆ ของพื้นที่ป่าไม้ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในมิติเศรษฐสังคม ในฐานะเป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่มให้กับชุมชน ชาวบ้านยังได้พึ่งพาน้ำที่มีต้นธารจากป่าเพื่อการเกษตร อาศัยผลผลิตจากป่าเป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม อีกทั้งป่ายังเป็นแหล่งที่มาของความเชื่อและประเพณี ซึ่งเป็นรากฐานความสัมพันธ์ของชุมชนในบริบทของคติชนวิทยาอีกด้วย

ดังนั้นการหันมาใช้กระดาษ มองอีกมุมหนึ่งจึงเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อพื้นที่ป่าไม้ที่มีอยู่อย่างจำกัดอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ในขณะนี้จำเป็นต้องได้รับการปกป้องและฟื้นฟูอย่างจริงจัง ทั้งยังต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

มองโลกคู่ขนานของ “พลาสติก-กระดาษ” ผ่าน LCA

LCA จากชื่อเต็มในภาษาอังกฤษคือ Life Cycle Assessment: LCA เป็นวิธีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเชิงปริมาณ โดยพิจารณาตลอดวัฎจักรชีวิตซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง การใช้งานผลิตภัณฑ์การแปรรูป รวมถึงการใช้ซ้ำ การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่และการกำจัดทิ้งหลังหมดอายุการใช้งาน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้พิจารณาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือโซลูชันตั้งแต่เกิดจนตาย (Cradle to Grave)

ทีนี้เรามาดูกันว่าวัสดุอย่างพลาสติกและกระดาษมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง โดยในบทความนี้จะอ้างอิงข้อมูลหลักจากรายงานโครงการสิ่งแวดล้อมของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและอาหาร ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งจัดทำโดยองค์กรป้องกันสิ่งแวดล้อม (ต่อไปในบทความเราจะเรียกว่า “รายงานประเทศเดนมาร์ก”) โดยมีถุงหิ้วจ่ายตลาด (Grocery carrier bag) ที่หาได้ตามร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ เป็นตัวศึกษาสำคัญ และอินโฟกราฟิกจากวอชิงตันโพสต์

    • การได้มาของวัตถุดิบ (Resource Acquisition) เนื่องจากระยะเวลาในการเพาะปลูกต้นไม้ที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตกระดาษใช้ระยะเวลายาวนานกว่า ทำให้ทรัพยากรต่าง ๆ เช่น ดิน น้ำ และปุ๋ย จึงถูกใช้ไปในกระบวนการนี้มากกว่า ในขณะที่พลาสติกเป็นผลิตผลพลอยได้ที่เกิดจากการกลั่นลำดับส่วนน้ำมันดิบซึ่งเป็นทรัพยากรใช้แล้วหมดไปที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
    • การแปรรูปวัตถุดิบ (Materials Production) พลาสติก 1 พาเลตใช้พลังงานในการผลิต 594 บีทียู (BTU หรือ British Thermal Unit เป็นหน่วยที่ใช้ปริมาณความร้อน โดยความร้อน 1 บีทียู คือ ปริมาณความร้อนที่ทำให้น้ำ 1 ปอนด์ (45 กิโลกรัม) มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นหรือลดลง 1 องศาฟาเรนไฮต์ (0.56 องศาเซลเซียส) ส่วนกระดาษหนึ่งแผ่นใช้พลังงานอยู่ที่ 2,511 บีทียู ซึ่งสูงกว่าพลาสติกถึงสี่เท่า 
    • การใช้งาน (Use) รายงานประเทศเดนมาร์ก ได้เลือกใช้ “ความสามารถในการบรรจุสินค้า (คุณสมบัติในการใช้งานหลักของถุงหิ้ว) เป็นเกณฑ์กำหนดจำนวนถุงหิ้วที่จะต้องใช้ในการประเมิน โดยถุงหิ้ว 1 ถุง ต้องมีปริมาตรบรรจุอย่างน้อย 22 ลิตร และต้องรับน้ำหนักได้อย่างน้อย 12 กิโลกรัม (คุณสมบัติจำเพาะที่ทำให้สามารถเปรียบเทียบถุงพลาสติกต่างชนิดกันได้)” โดยถุงพลาสติกหนึ่งใบมีคุณสมบัติครบถ้วน ใขณะที่เราจำเป็นต้องใช้ถุงกระดาษถึงสองใบเพื่อให้มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับของถุงพลาสติก และนั่นทำให้ถุงกระดาษส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากกว่า
    • การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycling) การรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้ว 1 ปอนด์ (45 กิโลกรัม) ใช้พลังงานน้อยกว่าการรีไซเคิลกระดาษในปริมาณเดียวกันถึง 98% เมื่อเรามาดูตัวเลขในหน่วยบีทียู กระดาษใช้พลังงานในการรีไซเคิล 1,444 บีทียู และพลาสติกใช้พลังงานอยู่ที่ 17 บีทียู  
    • การกำจัด (Disposal) แม้ว่ากระดาษจะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ แต่ในสภาพแวดล้อมของหลุมฝังกลบที่ทั้งแสงอาทิตย์ อากาศและความชื้นแทรกซึมได้อย่างจำกัด ทำให้กระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติมีประสิทธิภาพน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนพลาสติกเองแม้จะมีการคาดการณ์ว่าใช้ระยะเวลาเป็นร้อยปีในการย่อยสลาย แต่เมื่อเล็ดลอดออกจากกระบวนการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน

หลายบริบทการใช้งาน แต่ความรับผิดชอบเดียวกัน

การเปลี่ยนผ่านการใช้งานจากวัสดุหนึ่งอีกชนิดอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนให้กับสุขภาวะของโลกใบนี้ แต่การเลือกใช้งานวัสดุอย่าง “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” จะช่วยทำให้เราใช้วัสดุหลากหลายประเภทได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวจากโครงการบางซื่อโมเดลที่ SCGC ร่วมกับ SCG ดำเนินการมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้เกิดการต่อยอดไปยังชุมชนเป็นโครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ และการใช้งานเว็บแอปพลิเคชัน KoomKah (คุ้มค่า)ที่ขยายผลไปในหลายพื้นที่ของจังหวัดระยอง โดยขยายฐานสมาชิกแล้วกว่า 15,467 ราย มีธนาคารขยะในเครือข่าย 335 แห่ง และคัดแยกขยะรีไซเคิลได้กว่า 5,328 ตัน คิดเป็น การลดก๊าซเรือนกระจก 4,487 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ SCGC ได้ต่อยอดโครงการดังกล่าวให้ได้รับการรับรอง Low Emission Support Scheme (LESS) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน      

นอกจากนี้ SCGC ยังมุ่งมั่นพัฒนาการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือ High Value Added Products & Services (HVA) เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเมกะเทรนด์ รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer โดยโซลูชันในกลุ่ม Green Polymer ของ SCGC ครอบคลุมมิติด้านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าใน 4 ด้าน คือ 1) REDUCE : ลดการใช้เม็ดพลาสติก แต่ไม่ลดคุณภาพ ด้วย SMX™ Technology นวัตกรรมที่ทำให้สามารถผลิตเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงที่มีความแข็งแรงมากขึ้น 2) RECYCLABLE : การออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลได้ ด้วย Recyclable Packaging Solution บรรจุภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกประเภท PE PP หรือ PO เพียงอย่างเดียวทั้งชิ้นงาน เพื่อเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (flexible packaging) ให้สามารถรีไซเคิลได้ง่าย แทนการใช้ถุงบรรจุภัณฑ์ที่มีหลายวัสดุประกอบกัน 3) RECYCLE : นำพลาสติกใช้แล้วมารีไซเคิล ปรับปรุงคุณสมบัติด้วยสูตรเฉพาะของ SCGC กลายเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality PCR) รวมถึงการนำพลาสติกที่ยากต่อการรีไซเคิล มาผ่านกระบวนการ Advanced Recycling กลับมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) เพื่อนำมาผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin Plastic) และ 4) RENEWABLE พัฒนาพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และพลาสติกจากทรัพยากรหมุนเวียน

ทั้งพลาสติกและกระดาษยังคงเป็นวัสดุสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับทุกคนในสังคม รวมถึงยังสะท้อนการเติบโตให้กับภาคอุตสาหกรรมผ่านการคิคค้นและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่อง หากแต่การมีความรับผิดชอบต่อการใช้งานวัสดุทั้งสองชนิด คือ หัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

_______________________________________________

เครดิตรูปภาพ:


Is this article useful ?