เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ร่วมกับ Norner บริษัทชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาพลาสติกระดับโลก ประเทศนอร์เวย์ และสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานสัมมนาออนไลน์ “SCGC GREEN POLYMERTM: The Green Regulations and Beyond” เพื่ออัปเดตนโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ ที่ส่งผลต่อการส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติกไทย ทั้งมาตรการจัดเก็บภาษีพลาสติก (Plastic Tax) และ หลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) ให้แก่กลุ่มลูกค้า เจ้าของแบรนด์สินค้าและผู้ค้า ในประเทศไทยเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้มีมาตรการ ในเรื่องของบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด อย่างสหภาพยุโรป แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการไทยต้องการขยายตลาดไปยังสหภาพยุโรป จำเป็นต้องปรับแนวทางในการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กับมาตรการของต่างประเทศ โดยการเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและนำบรรจุภัณฑ์หลังบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมระดับโลก
จากเวทีเสวนามีการให้ความรู้และความเข้าใจที่มาและความสำคัญของ EPR และ Plastic Tax ใน 4 ประเด็นสำคัญดังนี้
รู้จักภาษีพลาสติก (Plastic Tax)
Plastic Tax หรือ ภาษีพลาสติก คือ มาตรการภาษีที่เรียกเก็บเงินหรือค่าธรรมเนียมจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือประเทศสมาชิกที่ผลิต นำเข้า หรือใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและย่อยสลายยาก โดยเกณฑ์การพิจารณาค่าธรรมเนียม มาจากปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้
EPR คืออะไร?
EPR ย่อมาจาก Extended Producer Responsibility คือข้อบังคับทางกฎหมาย และเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ผลิตสร้างความรับผิดชอบไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ ให้ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วให้ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งในแต่ละประเทศจะมีระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียม EPR ที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดการของแต่ละประเทศที่นำไปปรับใช้ โดยผู้ที่ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าธรรมเนียม คือ ผู้ใช้แพคเกจจิ้ง หรือ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้สิ่งที่จะสามารถช่วยให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ สามารถลดค่าธรรมเนียม EPR ได้คือ ผู้ผลิตแพคเกจจิ้ง จะต้องใช้วัตถุดิบ ที่ออกแบบมาเพื่อการรีไซเคิล มีสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตผลิตภัณฑ์ หรือ วัสดุที่ได้รับรองว่าสามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือประโยชน์ใหม่ได้
กฎหมาย EPR และผลกระทบต่อผู้ประกอบการในไทย
ผลกระทบต่อผู้ประกอบการจากการบังคับใช้ร่างกฏหมาย EPR ในประเทศไทยประกอบไปด้วย 4 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ต้นทุนการดำเนินธุรกิจจะสูงขึ้น ด้านกฎหมาย ผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามหลักการ EPR จะได้รับความเสี่ยงจากการดำเนินการและค่าปรับ ด้านภาพลักษณ์ ผู้บริโภคจะมีความเชื่อมั่นและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อปฏิบัติตามหลัก EPR จะสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนได้วัสดุที่มีคุณภาพดีและสามารถหมุนเวียนนำไปใช้ใหม่ได้ ผลกระทบเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว โดยก่อนที่จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. EPR Packaging ผู้ประกอบการควรจะศึกษาข้อมูลเรื่องกฏระเบียบอย่างใกล้ชิด และอาสาเข้าร่วมโครงการ PackBack เพื่อทดลอง EPR ภาคสมัครใจ เตรียมข้อมูลการใช้บรรจุภัณฑ์และข้อมูลการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ขององค์กร ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. EPR Packaging ผู้ประกอบการควรปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องและเหมาะสม เลือกดำเนินการจัดเก็บเองหรือสนับสนุน PRO เพื่อให้จัดเก็บแทน ส่งข้อมูลการใช้บรรจุภัณฑ์และข้อมูลการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ขององค์กรและประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคจัดเก็บและส่งกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปรีไซเคิล
นวัตกรรมพลาสติกเพื่อการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามแนวทาง Circular Economy
SCGC ในฐานะผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ได้คิดค้นพัฒนานวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แบรนด์ SCGC GREEN POLYMERTM ครอบคลุมโซลูชัน 4 ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของเทรนด์บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อโลกมากยิ่งขึ้น ได้แก่ REDUCE การลดการใช้ทรัพยากร RECYCLABLE การออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลได้ RECYCLE การนำกลับมาใช้ใหม่ และ RENEWABLE การทำให้ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน นำไปสู่การการจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติกตามแนวทาง Circular Economy แสดงถึงความรับผิดชอบของผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค พร้อมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
งานสัมมนา “SCGC GREEN POLYMERTM: The Green Regulations and Beyond” ไม่เพียงให้ความรู้เรื่องมาตรการจัดเก็บภาษีพลาสติก และ กลไก EPR แต่ยังช่วยสร้างความตระหนักและส่งเสริมผู้ประกอบการให้เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและการดูแลสิ่งแวดล้อม อีกทั้งทราบทิศทางนโยบายของภาครัฐในการใช้กลไก EPR เพื่อจัดการปัญหาขยะในประเทศไทย โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังสัมมนาจากทุกภาคส่วนรวมทั้งสิ้นกว่า 160 คน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ greenpolymer@scg.com