close

17 เม.ย. 2566

Invest in Our Planet พลิกธุรกิจ ลงทุนเพื่อเปลี่ยนโลก

Business ESG Circular Economy Sustainability CSR Investor Relations

โลกของเราร้อนขึ้นทุกวัน มนุษย์เริ่มตระหนักแล้วว่า นี่คือเวลาของการเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคต่างก็คาดหวังให้องค์กรต่าง ๆ ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน และไม่สร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมในระยะยาว

Invest in Our Planet คือแนวคิดหลักในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในวันคุ้มครองโลก (วันที่ 22 เมษายนของทุกปี) ซึ่งประกาศใช้มาแล้ว 2 ปีซ้อน เพื่อเชิญชวนให้ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน จับมือกันและหันมาลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกในทางที่ดีขึ้น

ในมุมของผู้บริโภค การเปลี่ยนโลกอาจเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวอย่างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทว่าในภาพใหญ่ระดับประเทศ หรือภาคธุรกิจ การจะเปลี่ยนแปลงองค์กรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์ จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม และต้องการสภาพคล่องทางการเงินเข้ามาสนับสนุน

SCGC มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามวิถีแห่งความยั่งยืน ที่ผ่านมา SCGC ได้ลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ตอบโจทย์ตามหลัก ESG โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พร้อมรับผิดชอบต่อสังคม และยึดมั่นในบรรษัทภิบาล นอกจากนี้ SCGC ยังไม่หยุดคิดค้นพัฒนานวัตกรรมเคมีภัณฑ์ที่สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ เม็ดพลาสติกรักโลก SCGC GREEN POLYMERTM โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ที่รองรับการใช้พลังงานทางเลือก หรือพลาสติกสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์น้ำหนักเบา ที่ช่วยลดการใช้พลังงานในการขับขี่ ที่สำคัญ SCGC ยังมุ่งสู่ความเป็นการทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593

โลกแห่งการลงทุน พุ่งเป้าที่ความยั่งยืน

ว่าด้วยเรื่องของการลงทุน เราจะเห็นภาคการเงินเริ่มตื่นตัวและพุ่งความสนใจไปที่การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Impact Investing ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น กองทุนรวม หรือตราสารหนี้ ที่มีส่วนทำให้โลกของเราดีขึ้นควบคู่ไปกับการสร้างผลกำไรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีหลักเกณฑ์ที่เรียกว่า ESG เป็นแนวทางบ่งชี้ว่าองค์กรใดให้ความสำคัญกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลก ประกอบด้วย Environmental ความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม Social ความรับผิดชอบต่อสังคม และ Governance การยึดมั่นหลักบรรษัทภิบาล ในตลาดทุนได้มีการจัดทำดัชนีหุ้นยั่งยืนอยู่หลายดัชนี อาทิ SETTHSI (Thailand Sustainability Investment) โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย Morningstar Global Markets Sustainability Index โดย Morningstar บริษัทชั้นนำด้านการจัดการข้อมูลและการวิเคราะห์การลงทุน และ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ที่คัดเลือกหุ้นโดย RobecoSAM และ S&P DowJones เป็นดัชนีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ดัชนีเหล่านี้จะมีเกณฑ์ชี้วัดด้าน ESG ควบคู่ไปกับการพิจารณาผลตอบแทนสะสมย้อนหลัง เพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนในการพิจารณาคัดเลือกหุ้นหรือกองทุนที่ส่งผลดีในระยะยาว

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

บทความแนะนำ:

  อัปเดต ! ผลการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2565

  ✓ ฟื้นผืนป่า คืนฝูงปลาสู่ท้องทะเล จาก SCGC

  ✓ เหตุเพราะ “โลกรวนหนักจนใจรับไม่ไหว”

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ทั่วโลกขยับ พร้อมสนับสนุนองค์กรรักโลก

ตัดภาพมาที่ภาคธุรกิจ การปรับเปลี่ยนองค์กรให้ขานรับกับโจทย์ด้านความยั่งยืนจำเป็นต้องมองการณ์ไกลและเล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อย่างเช่นการนำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้พลังงานทางเลือก ที่ในอนาคตธุรกิจนี้จะกลายเป็นทางออกสำคัญที่ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น นอกจากนี้องค์กรยังต้องเตรียมเม็ดเงินเพื่อลงทุนเปลี่ยนแปลงธุรกิจหรือกระบวนการผลิต เป็นที่มาของ Green Finance การเงินสีเขียวสำหรับระดมทุนและเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจรักโลก

ตามนิยามของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า Green Finance เป็นการเพิ่มกระแสการเงินให้กับภาคธุรกิจที่มุ่งเน้นสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสร้างผลตอบแทนที่ดีในขณะเดียวกัน ในต่างประเทศ เราจะเห็นการลงทุนเพื่อธุรกิจสีเขียวเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างในประเทศจีน ที่ประกาศเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้สีเขียว ประเทศสิงคโปร์ที่ตั้งเป้าจัดสรรการลงทุนและเงินสำรองให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และยังจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนสีเขียวโดยเฉพาะ ส่วนประเทศในทวีปยุโรปก็ได้รับการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมจากภาคประชาสังคมเป็นทุนอยู่แล้ว จึงสามารถออกนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างต่อเนื่อง

เครื่องมือการเงิน สูตรเร่งธุรกิจสีเขียว

เมื่อกล่าวถึงการเงินเพื่อโลกสีเขียว มีเครื่องมือทางการเงินหลายชนิดที่นำมาใช้ระดมทุนให้กับธุรกิจและตอบโจทย์นักลงทุนที่มองหาผลตอบแทนจากบริษัทที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมตราสารทุนสีเขียว (Green Equity Fund) คือกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นที่ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน การกู้ยืมสีเขียว (Green Loan) หรือสินเชื่อที่นำไปปรับปรุงธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) ที่เป็นวิธีกู้ยืมเงินจากนักลงทุนในรูปแบบตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้ ซึ่งตราสารหนี้สีเขียวเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

ปัจจุบันตราสารหนี้สีเขียว หรือ Green Bond ถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน ESG Bond ตามข้อมูลจากสมาคมตราสารหนี้ไทย ที่จำแนกประเภทของตราสารรักโลกต่าง ๆ ดังนี้

    • Green Bond ตราสารหนี้สีเขียว หรือตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คือการออกตราสารหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปลงทุน หรือชำระหนี้สินเดิม ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม
    • Social Bond ตราสารหนี้เพื่อสังคม คือการออกตราสารหนี้สำหรับใช้พัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้คน เช่น การบริการด้านสาธารณสุข การศึกษา หรือกิจการเพื่อสังคมอื่น ๆ
    • Sustainability Bond ตราสารเพื่อความยั่งยืน เป็นการผสมผสานระหว่าง Green Bond และ Social Bond คือการระดมทุนที่หวังผลทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ยังมีตราสารหนี้รูปแบบใหม่เรียกว่า ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ที่นอกจากจะมุ่งสร้างประโยชน์ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้ว ยังมีเงื่อนไขผลตอบแทนตามผลสำเร็จของเป้าหมาย เครื่องมือทางการเงินเหล่านี้เป็นเหมือนกลไกในการขับเคลื่อนธุรกิจ ที่ผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้ไวขึ้น

ในโลกของการลงทุนเราอาจกล่าวได้ว่า การลงทุนเพื่อความยั่งยืน คือแนวทางการลงทุนที่ให้โอกาสรับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าที่สุดวิธีหนึ่ง ไม่เฉพาะผลตอบแทนจากการเติบโตของธุรกิจ แต่ยังรวมถึงผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนที่ช่วยให้สิ่งแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตดี และโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน


Is this article useful ?