close

7 ก.ค. 2565

ขับเคลื่อนสู่อนาคต ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า

Innovation Product

ทุกวันนี้โลกของเรากำลังเผชิญปัญหารอบด้านที่ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติพลังงาน มลภาวะทางอากาศ และก๊าซเรือนกระจก ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เหล่านี้ทำให้มนุษย์ต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมขึ้นมา เพื่อปรับปรุงรูปแบบการดำเนินชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสู่การสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

จากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น และปัญหามลพิษทางอากาศที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน ขณะนี้โลกเรากำลังมีทางเลือกใหม่ นั่นคือการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า


ยานยนต์ไฟฟ้า จากเมกะเทรนด์สู่พาหนะแห่งอนาคต


รถยนต์ไฟฟ้าคือคำตอบที่หลายประเทศเลือกเพื่อเยียวยาปัญหาโลกร้อนและวิกฤติพลังงาน ตามรายงานของสำนักงานพลังงานสากล หรือ International Energy Agency ระบุถึงจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า (ไม่รวมรถไฟฟ้า 2 ล้อ และ 3 ล้อ) บนท้องถนนว่า มีแนวโน้มเพิ่มเป็น 145 ล้านคันภายในปี 2030 แต่หากภาครัฐฯ ของประเทศต่าง ๆ ส่งเสริมอย่างจริงจัง ก็อาจเพิ่มถึง 230 ล้านคันภายในระยะเวลาราว 10 ปี ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้มีหลายประเทศที่ต้องการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยลดจำนวนการใช้รถยนต์ที่มีการสันดาปภายในแบบเดิม ๆ ยกตัวอย่างกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการเห็นชอบร่างกฎหมายยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์เผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ผลิตขึ้นใหม่ นับตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไป หันมาสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกลง 55% ภายในปี 2030 จากปีฐาน 1990



อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย


ส่วนในบ้านเรา เมื่อวันที่ 15 ก.พ. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเรื่องภาษีและเงินสนับสนุน เพื่อช่วยให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลง เป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้กำหนดเป้าหมาย “30/30”  คือเร่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตยานยนต์ภายในประเทศ ภายในปี 2030 ซึ่งแบ่งเป็นรถยนต์นั่งไฟฟ้าและรถกระบะไฟฟ้า 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 675,000 คัน


จากแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศ Robeco บริษัทบริหารสินทรัพย์จากเนเธอร์แลนด์ประเมินว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในปี 2030 จากเดิมที่ 2.5% ในปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นออกสู่ตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า จึงกล่าวได้ว่ายานยนต์ไฟฟ้าคือเมกะเทรนด์ที่น่าจับตามอง ทั้งยังส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ สถานีชาร์จไฟ และชิ้นส่วนรถยนต์

ข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้า และโอกาสในการเติบโต


ทำไมโลกในอนาคตต้องขับเคลื่อนด้วยยานยนต์ไฟฟ้า เหตุผลข้อแรกคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม ด้วยคุณสมบัติที่ไร้ไอเสีย ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และมีต้นทุนทางพลังงานต่อหน่วยขับเคลื่อนที่น้อยกว่าการใช้น้ำมัน แถมยังมีสมรรถนะที่ยอดเยี่ยมจากการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ทำให้เกิดแรงบิดสูงตั้งแต่เริ่มออกตัว ในเชิงโครงสร้าง รถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนประกอบน้อยชิ้นกว่า หลัก ๆ มีเพียงแบตเตอรี มอเตอร์ไฟฟ้า หน่วยควบคุม และชิ้นส่วนตัวถัง ด้วยเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้แบตเตอรีขนาดใหญ่ซึ่งมีน้ำหนักมาก ชิ้นส่วนประกอบอื่น ๆ จึงต้องมีน้ำหนักเบาแต่ทนทาน จากคุณลักษณะเฉพาะเหล่านี้ เป็นโอกาสที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จะเร่งพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า



นวัตกรรมเคมีภัณฑ์ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 

เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจตอบรับเมกะเทรนด์ในอนาคต จึงร่วมกับบริษัทผู้พัฒนาเม็ดพลาสติกคอมพาวนด์และผู้ผลิตรถยนต์ คิดค้นนวัตกรรมเม็ดพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์โดยมุ่งเน้นให้ชิ้นส่วนยานยนต์มีน้ำหนักเบายิ่งขึ้น (Lightweight Automotive Parts) โดยแบ่งสินค้าออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้


  • กลุ่ม Surface Aesthetics ตอบโจทย์เรื่องความสวยงามทั้งภายในและภายนอกรถยนต์ โดยลดความมันวาวของชิ้นส่วนภายในรถยนต์ ลดการสะท้อนแสงแดดสู่สายตาผู้ขับขี่ และเพิ่มความสวยงามของชิ้นส่วนภายนอกรถยนต์ ลดการเกิดรอยคลื่นที่ไม่สม่ำเสมอ และยังลดสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายในระดับต่ำ (Low Volatile Organic Compounds: VOCs) อีกด้วย
  • กลุ่ม Safety ตอบโจทย์ในด้านความปลอดภัย โดยสามารถทนต่อแรงกระแทกสูง และสามารถไหลตัวได้ดี อีกทั้งยังมีความเหนียว ไม่หักเปราะหรือแตกง่าย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยลดอาการบาดเจ็บของผู้ขับขี่และผู้โดยสารจากอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี


จะเห็นได้ว่า SCGC พร้อมคว้าโอกาสในการเติบโตด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้งานทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งนวัตกรรมสำหรับยานยนต์ของ SCGC คือหนึ่งในตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจที่ไม่หยุดคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน และยังผลักดันให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

________________________________
ที่มา


Is this article useful ?