close

20 ก.ย. 2564

7 นวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

รายงานของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic ForumWEF) ประจำปี 2021 ระบุถึงความจำเป็นเร่งด่วนในอีกเก้าปีข้างหน้าที่เราทุกคนอาจจะต้องมีโลกไว้อีกสักสองถึงห้าใบ ถ้าอัตราการใช้ทรัพยากรทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริงเราทุกคนมีโลกเพียงใบเดียว และนั่นอาจจะหมายถึงภาวะขาดแคลนทรัพยากรที่จะส่งผลกระทบต่อทุกคนทั่วโลกในอนาคตอันใกล้นี้

การเรียนรู้ที่จะใช้งานทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเพียงทางออกเดียว ที่จะช่วยอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรและลดความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมโลกในบริบทต่าง ๆ ซึ่งเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy คือ ชุดแนวคิดที่จะเข้ามา “รื้อสร้าง” แบบแผนทางเศรษฐกิจดั้งเดิมที่เน้นการถลุงใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิต และเพิกเฉยต่อการหมุนเวียนใช้ซ้ำทรัพยากรเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน รวมถึง “ปลอดล็อก” ความท้าทายนานัปการที่โมเดลเศรษฐกิจปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่

ในบทความนี้ เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้รวบรวมไฮไลต์นวัตกรรมที่ช่วยสร้างความต่อเนื่องและขยายองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและจากทั่วโลกทั้งหมด 7 ตัวอย่างที่น่าสนใจ

โมเดลการจัดการขยะ ขับเคลื่อนจากภายใน ขยายผลสู่ภายนอก
การให้ความสำคัญและการเป็นต้นแบบในการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเรื่องความยั่งยืน คือสิ่งที่ เอสซีจี เคมิคอลส์ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมี บางซื่อโมเดล (Bang Sue Model) เป็นฐานรากสำคัญที่ส่งเสริมและสะท้อนภาพความมุ่นมั่นขององค์กรในเรื่องนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

บางซื่อโมเดล ช่วยขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยเริ่มจากภายในเอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเชื่อมต่อขยะกลับเข้าสู่ระบบตามหลักการ ผลิต–ใช้–วนกลับ โดยมีหลักการง่าย ๆ คือ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” จากก้าวสำคัญนี้เองนำไปสู่การขยายผลให้กับชุมชนรอบโรงงานของ เอสซีจี เคมิคอลส์ นั่นคือ โครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับบ้าน วัด และโรงเรียน รวมถึงการมีธนาคารขยะชุมชนและมีเครื่องมือดิจิทัลอย่างแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการขยะอีกด้วย

หุ่นยนต์แมงมุมช่วยคัดแยกขยะ
หนึ่งในหลักการสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การนำทรัพยากรกลับเข้าสู่ระบบเพื่อหมุนเวียนใช้ซ้ำ ซึ่งจำเป็นต้องมีการคัดแยกวัสดุใช้แล้วอย่างถูกต้องเสียก่อน AMP Robotics บริษัทนวัตกรรมในรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าใจถึงความท้าทายนี้ จึงได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างคล้ายแมงมุมขึ้นมา เมื่อติดตั้งหุ่นยนต์ไว้กับสายพานลำเลียงขยะ Computer Vision ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งในตัวหุ่นยนต์จะช่วยคัดแยกวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น หนังสือพิมพ์ กล่องกระดาษ พลาสติกแบบต่าง ๆ ออกมา การทำงานของเทคโนโลยีดังกล่าวจะใช้การจดจำรูปร่าง ขนาด พื้นผิว สี หรือแม้แต่โลโก้ที่อยู่บนวัสดุนั้น ๆ 

นวัตกรรมนี้ทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำมากกว่าการใช้แรงงานคนในการคัดแยกวัสดุ ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ให้กับผู้ปฏิบัติงานในอีกทางหนึ่งด้วย

แยกขยะในแหล่งน้ำด้วยฟองโฟม
ทุกๆ ปีมีปริมาณขยะพลาสติกกว่า 8 ล้านตันที่ถูกพัดลงสู่ทะเล โดยกว่า 80% เกิดขึ้นจากกิจกรรมบนบก และเมื่อเกิดข้อบกพร่องในการจัดเก็บ ก็ทำให้พวกมันเล็ดลอดลงสู่แม่น้ำและลำคลอง นั่นจึงเป็นที่มาของ Bubble Barrier โครงการบริหารจัดการขยะพลาสติกสัญชาติดัชต์ ที่ตั้งเป้าจะดักเก็บพลาสติกใช้แล้วก่อนที่พวกมันจะไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทร

ท่อที่ถูกติดตั้งไว้ที่ก้นแม่น้ำจะขับอากาศออกมาจนเป็นฟอง กระแสฟองที่อุปกรณ์ดังกล่าวสร้างขึ้นจะทำให้พลาสติกใช้แล้วเหล่านี้ลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ ก่อนจะไหลอย่างมีทิศทางไปยังระบบดักจับที่ติดตั้งไว้ตรงริมตลิ่ง หลังจากที่ทำการทดสอบเป็นเวลากว่าหนึ่งปีในแหล่งน้ำของเมืองอัมสเตอร์ดัม มีการรับรองว่าฟองอากาศเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับระบบนิเวศ ที่สำคัญคือช่วยดักจับพลาสติกใช้แล้ว ตัวอย่างเช่น กระดานเซิร์ฟบอร์ด ถุงนอน รวมถึงหมวกกันน็อก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พลาสติกใช้แล้วเหล่านี้จะถูกนำไปรีไซเคิลเพื่อสร้างมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป

ตามติดพลาสติกด้วยระบบแทร็กกิ้ง
Circulor อีกหนึ่งตัวอย่างนวัตกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะทำให้เจ้าของแบรนด์สินค้าสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้สินค้าผ่านการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัสดุ บริษัทที่ขึ้นรูปและกระบวนการที่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้เจ้าของแบรนด์ยังได้ยกระดับภาระผูกพันและความรับผิดชอบต่อการผลิตบรรจุภัณฑ์ชิ้นหนึ่งได้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

ผลลัพธ์ของนวัตกรรมนี้ ทำให้เจ้าของแบรนด์สินค้าสามารถตรวจสอบย้อนกลับบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วผ่านอุปกรณ์ดิจิทัล ระบุขั้นตอนในกระบวนการผลิตเพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อาจจะเกิดขึ้น และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องแหล่งที่มาของวัสดุ และจรรยาบรรณและกฎเกณฑ์การจัดการห่วงโซ่อุปทาน

โซลูชันที่ช่วยคืนชีพให้กับพลาสติก
พลาสติกใช้แล้วกว่า 91% มีจุดจบอยู่ที่หลุมทิ้งขยะ และหมดโอกาสที่จะถูกนำมาหมุนเวียนสร้างประโยชน์ บริษัทนวัตกรรมสัญชาติอิสราเอล Plastic Back ตระหนักถึงปัญดังกล่าวและได้พัฒนาโซลูชันเพื่อทำให้การรีไซเคิลเกิดขึ้นได้กับพลาสติกทุกชนิด ด้วยการใช้วิธีการออกซิเดชันทางเคมี (chemical oxidation) ที่จะทำให้เกิดอนุมูลอิสระซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของอะตอมหรือโมเลกุลที่ไม่เสถียรเพื่อย่อยสลายพลาสติก ทำให้พันธะของพอลิเมอร์ถูกทำลายลงจนเหลือเพียงมอนอเมอร์ ที่เป็นโมเลกุลพื้นฐานของพลาสติก กรรมวิธีนี้สามารถใช้งานกับพลาสติกได้ทุกชนิด และเกิดขึ้นได้ภายใต้อุณหภูมิปกติ

เปลี่ยนพลาสติกเหลือใช้เป็นวัสดุชนิดใหม่
ภายใต้เศรษฐกิจหมุนเวียน อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยส่งเสริมการรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้ว นั่นคือ การเปลี่ยนพวกมันให้เป็นวัสดุชนิดใหม่ และนี่คือสิ่งที่ Arqlite กำลังทำอยู่ บริษัทจากสเปนแห่งนี้ได้คิดค้นและพัฒนาวิธีการรีไซเคิลที่สามารถนำไปใช้กับพลาสติกได้ทุกชนิด โดยผลลัพธ์ที่ได้เป็นวัสดุเชิงพาณิชย์ที่ผลิตจากพลาสติกเหลือใช้หลากหลายประเภทผสมกัน ปัจจุบันวัสดุชนิดนี้ถูกนำร่องไปใช้ในงานก่อสร้าง เช่น คอนกรีตพรีแคสและคอนกรีตมวลเบา รวมถึงวัสดุสำคัญในระบบระบายน้ำอีกด้วย ทีมงานผู้พัฒนากล่าวเสริมว่า “Arqlite Smart Gravel นี้ นอกจากจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาพลาสติกเหลือใช้ปริมาณมากแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้อีกด้วย”      

ดาต้าอินไซต์เพื่อการรีไซเคิลที่ดียิ่งขึ้น
พลาสติกเหลือใช้จะถูกนำกลับมารีไซเคิลได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดเก็บรวบรวมอย่างมีระบบ และ Litterati ก็เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ตั้งเป้าจะช่วยทำให้เราหมุนเวียนวัสดุมีค่าเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงจัดเก็บบิ๊กดาต้าของข้อมูลพลาสติกใช้แล้ว (รวมถึงวัสดุเหลือใช้อื่น ๆ) ได้อย่างเป็นระบบ หลังจากดาวน์โหลดแอปฯ และสร้างบัญชีผู้ใช้งานแล้ว ก็สามารถถ่ายรูปขยะก่อนนำไปทิ้งให้ถูกต้อง เอไอของระบบจะวิเคราะห์ประเภทของวัสดุเหล่านี้ และข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปงานได้อย่างตรงจุด ตัวอย่างเช่น เนเธอแลนด์ใช้ข้อมูลที่ได้จากแอปฯ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงนโยบายการจัดการขวด PET ขนาดเล็ก หรือขยะจากก้นบุหรี่ที่แอปฯ มีการเก็บข้อมูลไว้ ก็ช่วยให้เมืองซานฟรานซิสโกใช้เป็นแนวทางในการจัดการภาษีความรับผิดชอบจากการขายบุหรี่ได้ถึง 4 ล้านเหรียญต่อปี

ที่มา:


Is this article useful ?