close

31 พ.ค. 2564

“เพื่อสังคมเติบโต-ชุมชนยั่งยืน-สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์”: แนวทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี

ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ตระหนักถึงความสำคัญของสังคมและชุมชน และพร้อมขับเคลื่อนและดูแลชุมชนให้ให้เติบโตไปพร้อมกับธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่มีเป้าประสงค์ให้ “สังคมเติบโต ชุมชนยั่งยืน สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์” ขับเคลื่อนผ่านแนวคิดโครงการที่สำคัญ 3 ด้าน ดังต่อไปนี้

โครงการด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilience)
นับตั้งแต่ความเห็นชอบและการตกลงร่วมกันในวาระเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 (Sustainable Development Goals-SDGs) เมื่อปี 2015 ซึ่งผ่านการรับรองของประเทศสมาชิกในกลุ่มสหประชาชาติ (United Nations) เพื่อสร้างหลักประกันความยั่งยืนด้านสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้กับผู้คนและโลก โดยหนึ่งในหัวใจสำคัญจากเป้าหมายทั้งหมด 17 ข้อ คือ การปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น (เป้าหมายที่ 13)

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการบรรลุเป้าหมายในข้อที่ 13 นี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จึงได้มุ่งเน้นให้มีการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลเป็นวงกว้างและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ

  • การเป็นต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ทุกโรงงานปิโตรเคมิคอลส์ของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ผ่านการตรวจประเมินเกณฑ์มาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั้ง 14 ข้อและได้รับการรับรองจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เป็นต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ได้การรับรองครบทุกโรงงาน 100% แห่งแรกของประเทศ โดยธุรกิจได้ริเริ่มโครงการลดการปลดปล่อยสารไฮโดรคาร์บอนส่วนเกิน โดยการแลกเปลี่ยนระหว่างโรงงานของบริษัท ซึ่งช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 2,800 ตันต่อครั้ง และโครงการโซลาร์ที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  770 ตัน CO2/MWh ต่อปี
  • การพัฒนา SMXTM Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ที่ทำให้สามารถผลิตเม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติพิเศษ มีความแข็งแรงมากขึ้น แต่ใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง และเมื่อสินค้าปลายทางมีน้ำหนักเบาลง น้ำหนักระหว่างการขนส่งจึงลดลงด้วย จึงเป็นการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการขนส่งได้
  • การพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งเป็นกลไกในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกมาใช้งาน จึงช่วยลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน โดยร่วมกับเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพให้ตอบโจทย์การใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การพัฒนาฟิล์มสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร เป็นต้น

โครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
ภายใต้หลักการ “ผลิต-ใช้-วนกลับ (Make-Use-Return)” ของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนที่กำลังได้รับการความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากทุกภาคส่วนของสังคม ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ส่งเสริมและเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันให้หลักดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการดำเนินงานต่าง ๆ ของธุรกิจ อาทิ ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ โครงการที่ส่งเสริมและสร้างความร่วมมือในชุมชนระหว่างบ้าน วัด และโรง ให้สามารถจัดการขยะได้อย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง โดยโครงการดังกล่าวเป็นการถอดบทเรียนและขยายผลมาจาก บางซื่อโมเดล โครงการภายในที่จูงใจให้พนักงานเอสซีจีเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจัดการกับขยะตามแนวทาง “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก”

สืบเนื่องจากโครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ คือ การนำถุงนมโรงเรียน LLDPE กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเก้าอี้ โดยธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญเรื่องพลาสติกเข้ามาช่วยจัดการขยะถุงนมที่เกิดขึ้นในโรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 โดยเก้าอี้ 1 ตัว สามารถลดขยะพลาสติกจากถุงนมลงได้มากถึง 600 ถุง นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่น่าสนใจก็คือ โครงการบ้านปลาเอสซีจี ที่ตอนนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 เป็นการต่อยอดจากการนำท่อ PE100 ที่เหลือจากกระบวนการขึ้นรูปทดสอบมาใช้สร้างบ้านปลา มาสู่การนำขยะพลาสติกจากทะเลและชุมชน เช่น ฝาขวดน้ำ ถุงพลาสติกหูหิ้ว มาคัดแยกผสมกับเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษของธุรกิจ เพื่อนำมาผลิตเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลา ปัจจุบันจากความช่วยเหลือของจิตอาสาจากทั่วประเทศกว่า 22,900 คน มีการวางบ้านปลาไปแล้วจำนวน 2,180 หลัง ครอบคุลมพื้นที่ของ 43 กลุ่มประมง คิดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 47 ตารางกิโลเมตร ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 172 ชนิด

โครงการสุขภาพและความปลอดภัย (Health and Safety)
สำหรับธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ทุกขั้นตอนของการดำเนินงานมีความสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจ และต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงาน คู่ธุรกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ธุรกิจจึงได้มุ่งมั่นที่จะจัดการให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยสำหรับพนักงานและคู่ธุรกิจ รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่ส่งต่อความห่วงใยไปสู่สังคมและชุมชน โดยโครงการด้านสุขภาพและความปลอดภัยนี้ยังเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 3 ขององค์การสหประชาติ ที่ว่าด้วยการสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย

The LifesaverTM ผู้พิทักษ์ชีวิต เป็นโครงการสำคัญของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ที่ต้องการส่งต่อความห่วงใยของธุรกิจสู่ชุมชนผ่านการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กร โดยส่งเสริมให้พนักงานทุกคนเป็นผู้พิทักษ์ชีวิต ส่งต่อความห่วงใยดูแลตักเตือนกันให้ปลอดภัย ไม่เพียงแค่เฉพาะในช่วงเวลาทำงาน แต่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน

ความสำเร็จของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ซึ่งขับเคลื่อนผ่านแนวคิดโครงการที่สำคัญ 3 ด้านดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น คือสิ่งที่สะท้อนความตั้งใจจริงของธุรกิจที่ต้องการให้ “สังคมเติบโต ชุมชนยั่งยืน สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์” และเรายังคงมุ่งมั่นริเริ่มและผลักดันสิ่งที่ดียิ่งขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อเสริมสร้างสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาความยั่งยืน


Is this article useful ?