close

27 พ.ค. 2564

พลาสติกใช้แล้วกับการเดินทางสร้างประโยชน์ โดยธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี

จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Nature วารสารวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 1869 มีอายุรวมกว่า 150 ปี เป็นวารสารวิทยาศาสตร์แบบสหวิทยาการ (interdisciplinary) ที่ถูกอ้างอิงมากที่สุดชื่อหนึ่ง ระบุว่า โลกเรามีปริมาณขยะพลาสติกเกิดขึ้นราว 60-99 ล้านตันโดยเฉลี่ยในแต่ละปี ขณะที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉลี่ยในปี 2019 อยู่ที่ 122.4 กรัมต่อกิโลเมตร  และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขดังกล่าวชวนให้หลายภาคส่วนร่วมกันหาแนวทางแก้ไข เพื่อทำให้เกิดการหมุนเวียนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรขยะอย่างคุ้มค่าที่สุด ในขณะเดียวกันก็ทำให้การขนส่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของไทยที่ให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นประโยชน์มากที่สุด และต้องมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยธุรกิจได้บูรณาการหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ากับการดำเนินธุรกิจอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง

โดยในบทความนี้ จะนำเสนอโครงการที่ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้ว ที่เดินทางประโยชน์และสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการขนส่ง พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พลาสติกใช้แล้ว “ขับเคลื่อน” ระบบขนส่งสาธารณะ
เกือบสามในสี่ของก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการขนส่งเกิดจากยานยนต์ที่ขับเคลื่อนบนท้องถนน ดังนั้นการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ (Mass Transit) เช่น รถโดยสารประจำทาง รถไฟลอยฟ้า และรถไฟใต้ดิน เป็นต้น เป็นระบบขนส่งที่ช่วยดูแลคุณภาพของสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี เพราะทำให้ความหนาแน่นของการจราจรบนถนนลดลง และที่สำคัญยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย  

จากประโยชน์ดังกล่าว หลายเมือง อาทิ กรุงโรมในประเทศอิตาลี และเมืองสุราบายาของประเทศอินโดนีเซีย ออกแคมเปญกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการของระบบขนส่งสาธารณะช่วยกันรีไซเคิลขยะพลาสติก ในโรมเองหากมีคนนำขวดน้ำพลาสติกจำนวน 30 ขวด มาหย่อนที่เครื่องรีไซเคิล ก็จะมีสิทธิ์ใช้งานระบบขนส่งสาธารณะฟรีเป็นเวลา 100 นาที สำหรับที่อินโดนีเซียนั้น การรีไซเคิลขวดน้ำดื่มจำนวน 5 ขวด มีค่าเท่ากับตั๋วรถประจำทางฟรี 2 ชั่วโมง จากแคมเปญนี้ทำให้ในแต่ละเดือนสามารถเก็บขยะพลาสติกนำไปรีไซเคิลได้สูงถึง 7.5 ตันต่อรถประจำทางหนึ่งคัน

“เปลี่ยน” ขยะพลาสติกเป็นถนน
เป็นที่คุ้นตาว่าถนนเกือบทุกสายถ้าไม่ปูด้วยคอนกรีต ก็ลาดด้วยยางมะตอย (Bitumen) ซึ่งเป็นวิธีการก่อสร้างถนนแบบดั้งเดิมที่สุด แต่นวัตกรรมที่เกิดขึ้นล่าสุด เราสามารถใช้ขยะพลาสติกเป็นส่วนผสมหลักของการทำถนนได้แล้ว โดยในประเทศไทยเอง ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ค้นคว้า วิจัย และทดลองเพื่อหาสัดส่วนที่เหมาะสมให้กับส่วนผสมสำหรับนวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิล (Innovative Recycled Plastic Road) ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้งานในประเทศไทย

จากผลการศึกษาของภาควิชาโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เปรียบเทียบถนนพลาสติกรีไซเคิลกับถนนยางมะตอยทั่วไป พบว่าถนนพลาสติกรีไซเคิลที่มีขยะพลาสติกเป็นส่วนประกอบนั้น มีคุณสมบัติของผิวถนนที่แข็งแรงขึ้นกว่าเดิมสูงสุด 30% และประสิทธิภาพด้านการยึดเกาะถนนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 6% ทำให้วิธีการนี้นอกเหนือจากช่วยลดปัญหาขยะสะสมในประเทศแล้ว ยังหมายถึงการพัฒนาประยุกต์ใช้พลาสติกใช้แล้วให้เกิดประโยชน์สำหรับการทำถนนยางมะตอยที่มีคุณภาพอีกด้วย

ทั้งนี้การก่อสร้างถนนจากขยะพลาสติก เกิดขึ้นครั้งแรกที่เมืองเจนไน (Chennai) ประเทศอินเดีย และได้รับความนิยมแพร่หลายไปในหลายรัฐของประเทศ ก่อนที่จะถูกนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้แก่ อังกฤษ เนเธอแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้

อากาศยานกับการ “คืนชีวิต” ให้พลาสติกใช้แล้ว
พลาสติกเป็นวัสดุสำคัญในอุตสาหกรรมการบิน ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนของเครื่องบิน ไปจนถึงที่นั่งในตัวเครื่อง ล้วนมีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ แต่เรื่องที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ระบบขนส่งอากาศยานนี้ก่อให้เกิดขยะพลาสติกราว ๆ 9,000 ตันต่อปี

หลายสายการบินตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และมีการทำแคมเปญที่ส่งเสริมให้เกิดการรีไซเคิลออกมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดไม่เพียงแค่สายการบินเท่านั้น เพราะสนามบินฮีทโธรว์ (Heathrow Airport) ในกรุงลอนดอน จับมือกับมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ (University of Sheffield) คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมรีไซเคิลที่เปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วให้เป็นสารสำคัญ เพื่อนำไปใช้ผลิตเป็นชุดเครื่องแบบของพนักงานและที่นั่งบนเครื่องบิน ทีมนักวิจัยระบุว่า พลาสติกใช้แล้ว 10 กิโลกรัมที่เกิดขึ้นทุก ๆ ชั่วโมง สามารถนำไปสกัดเป็นสารสำคัญดังกล่าวได้มากถึง 5-8 กิโลกรัม

“ฝ่า” เกลียวคลื่นด้วยพลังงานจากพลาสติกใช้แล้ว
การนำพลาสติกใช้แล้วมาหมุนเวียนใช้เป็นวัสดุตั้งต้นเพื่อผลิตพลังงานไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในอุตสาหกรรมการขนส่งอากาศยานเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาเป็นพลังงานให้กับเรือขนส่งสินค้าอีกด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ IGE Solutions บริษัทสัญชาติดัตช์ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเนเธอแลนด์ ได้คิดค้นนวัตกรรมที่ผลิตน้ำมันดีเซลจากขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้ยาก นวัตกรรมนี้ถูกใช้งานแล้วเมื่อปี 2018 โดยทีมงานได้ติดตั้งอุปกรณ์ไว้ที่ท่าเรือของเมืองอัมสเตอร์ดัม บริษัทตั้งเป้าไว้ว่าขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้ยากเหล่านี้จะถูกนำมาสกัดเป็นน้ำมันดีเซลได้สูงถึง 35,000,000 ลิตรต่อปี

การจัดการพลาสติกใช้แล้วไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่ในรูปแบบเดิมอีกต่อไป เพราะในความเป็นจริงก็คือ พลาสติกใช้แล้วเป็นทรัพยากรอีกหนึ่งชนิดที่สามารถนำไปหมุนเวียนใช้งานอย่างเหมาะสม ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมและผลักดันให้การใช้งานวัสดุเหลือใช้ดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกับการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไม่หยุดยั้ง

​ที่มาhttps://endplasticwaste.org/en/our-stories/these-cities-are-powering-transport-on-land-sea-and-sky-with-plastic-waste


Is this article useful ?