close

17 มี.ค. 2564

Chemical Recycling คืออะไร? เทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

พลาสติก เป็นวัสดุที่มีคุณค่าและถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ ด้วยคุณสมบัติที่หลากหลาย พลาสติกจึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ในด้านต่าง ๆ พลาสติกให้ประโยชน์กับชีวิตคนเราอย่างมาก แต่การจัดการหลังการใช้งานนั้น ยังเป็นเรื่องที่เราต้องเร่งจัดการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกต่อไป

2,000,000 ตัน คือ ปริมาณขยะพลาสติกของประเทศไทยที่ถูกสร้างขึ้นในแต่ละปี โดยมีขยะพลาสติกเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์  และยิ่งในช่วงปิดเทอมและการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มเติม 15% และ 62% ตามลำดับ หากปล่อยให้สถานการณ์ดังกล่าวดำเนินต่อไป แนวโน้มความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อมย่อมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนั่นทำให้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อพยายามลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และเตรียมหาแนวทางจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ประเภทกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก

มีการอธิบายกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก (Plastic Recycling) ไว้ว่าเป็น “ขั้นตอนของการนำเศษหรือขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำพลาสติกเหลือใช้เหล่านั้นกลับมาขึ้นรูปเป็นชิ้นงานใหม่ โดยในบางครั้งชิ้นงานที่ได้นี้อาจจะแตกต่างจากชิ้นงานต้นแบบอย่างสิ้นเชิง” การแบ่งกลุ่มการรีไซเคิลพลาสติกโดยใช้ผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่ได้จากการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เป็นเกณฑ์ ทำให้สามารถจำแนกการรีไซเคิลพลาสติกออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ซึ่งอธิบายได้ดังนี้


  • การรีไซเคิลเชิงปฐมภูมิ (Primary Recycling)

    คือ การนำพลาสติกเหลือใช้ซึ่งมีชนิดเดียวกันและไม่มีสิ่งปนเปื้อน ที่เกิดในกระบวนการผลิตหรือขึ้นรูปกลับมาใช้ซ้ำภายในโรงงาน โดยสามารถนำมาใช้ซ้ำทั้งหมดหรือเติมผสมกับเม็ดใหม่ที่อัตราส่วนต่าง ๆ

  • การรีไซเคิลเชิงทุติยภูมิ (Secondary Recycling)

    เป็นการนำพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้วมาทำความสะอาด บด หลอมและขึ้นรูปกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกอีกครั้ง

  • การรีไซเคิลแบบตติยภูมิ (Tertiary Recycling)

    คือ การรีไซเคิลที่ใช้สารเคมีหรือความร้อนเพื่อทำลายพันธะไฮโดรคาร์บอนของพลาสติกที่ใช้งานแล้ว

  • การรีไซเคิลแบบจตุภูมิ (Quaternary Recycling)

    คือ พลาสติกสามารถนำมาเผาไหม้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน ทำให้ลดปริมาณเชื้อเพลิงที่ต้องใช้ในการเผาขยะ

Chemical Recycling (การรีไซเคิลเชิงเคมี) คืออะไร?

ในส่วนของการรีไซเคิลเชิงเคมี (Chemical Recycling) จัดอยู่ในประเภทของการรีไซเคิลแบบตติยภูมิ (Tertiary Recycling) โดยการรีไซเคิลพลาสติกทุกชนิดที่กล่าวไปนั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้แล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อีกด้วย

การรีไซเคิลเชิงเคมี (Chemical Rrecycling) อาศัยการเปลี่ยนพอลิเมอร์ให้กลายเป็นมอนอเมอร์ (Monomer) หรือวัตถุดิบตั้งต้น โดยการนำวัสดุพลาสติกเหลือใช้มาทำปฏิกิริยากับสารเคมีบางประเภท ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการแตกสลายของโมเลกุลขนาดใหญ่ หรือทำให้โครงสร้างสายโซ่ของพอลิเมอร์ เกิดการขาดหรือแตกออก (Depolymerisation) กลายเป็นมอนอเมอร์ (Monomer) หรือโอลิโกเมอร์ (Oligomer) โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จะแตกต่างกัน และถูกทำให้บริสุทธิ์โดยการกลั่นและตกผลึก เพื่อให้ได้เป็นสารตั้งต้นที่มีคุณภาพสูงและสามารถนำไปใช้ในการผลิตเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ได้


บทบาทของผู้ผลิตเม็ดพลาสติกต่อแนวทางการรีไซเคิลพลาสติก

จากความมุ่งมั่นของเอสซีจีซีในการผลักดันและขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจ หรือ Circular Economy ให้แพร่หลายอย่างกว้างขวางในประเทศไทย ผ่านการบูรณาให้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ซึ่งเป็นหนึ่งในสามกลุ่มธุรกิจสำคัญของเอสซีจี ได้แถลง ทิศทางธุรกิจปี 2564 เพื่อมุ่งสู่ “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” (Chemicals Business for Sustainability) ตามแนวทาง SDGs (Sustainable Development Goals) และ ESG (Environmental, Social, Governance) โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยสร้างพลวัตรให้กับบริษัท สามารถประสบความสำเร็จในการเป็นธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” (Chemicals Business for Sustainability) ได้ ก็คือ การเร่งการขยายเข้าสู่ธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มีการรีไซเคิลเชิงเคมี (Chemical Recycling) เป็นหนึ่งในสี่โรดแมปสำคัญ


เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้เปิดตัว โรงงานทดสอบการผลิต (Demonstration Plant) แห่งแรกในประเทศไทย ในพื้นที่บริเวณโรงงาน จังหวัดระยอง เพื่อใช้ในการพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกสำหรับกระบวนการรีไซเคิลเชิงเคมี (Chemical Recycling) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นวัตถุดิบตั้งต้น (Recycled Feedstock) ที่สามารถนำกลับมาผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin Plastic Resin) สำหรับโรงงานปิโตรเคมี และในเบื้องต้น ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกชั้นสูงนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้สารเร่งปฏิกิริยาทำให้กระบวนการรีไซเคิลมีอุณหภูมิต่ำ จึงช่วยลดการใช้พลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปัญหาการสะสมของปริมาณขยะพลาสติกในประเทศ


โรงงานทดสอบการผลิตดังกล่าวมีกำลังการผลิต Recycled Feedstock ประมาณ 4,000 ตันต่อปี และพร้อมที่จะขยายกำลังผลิตในอนาคต ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี  ได้ร่วมมือกับ Partner ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล และจัดตั้งบริษัท Circular Plas Co., Ltd. เพื่อดำเนินธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกผ่านกระบวนการรีไซเคิลทางเคมี (Chemical Recycling)


ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ในฐานะผู้ผลิตเคมีภัณฑ์แนวหน้าของประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญด้านพอลิเมอร์ของภูมิภาค ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด จึงมุ่งมั่นคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และโซลูชันที่จะช่วยหาทางออกให้กับประเด็นท้าทายระดับโลกนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งการนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับธุรกิจปิโตรเคมี หรือ Chemical Recycling จึงได้เป็นอีกหนึ่งแนวปฏิบัติเชิงกลยุทธ์ของบริษัท

Photos: vhv.rs, eco-business.com and picpng.com


Is this article useful ?