หลากหลายวิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 2563 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดโควิด-19 ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และการตื่นตัวและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมในประเด็นต่าง ๆ เช่น วิกฤติสภาพภูมิอากาศ และการจัดการขยะ ถือเป็นความท้าทายที่ชวนให้ธุรกิจหันกลับมาตั้งคำถามกับแนวทางตามปกติ (Business as usual) และคิดต่อยอดเพื่อเปิดมุมมองและพัฒนาโซลูชันที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเพื่อให้สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวาระเร่งด่วนดังกล่าว พร้อมกับขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยความเข้มข้นและต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยองค์กรได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาบูรณาการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติสำคัญ คือ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และในปี 2564 นี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้วางโรดแมปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งหมด 4 ด้านหลัก โดยทั้งหมดนี้ช่วยให้เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
ออกแบบให้เอื้อต่อการรีไซเคิล
บทความที่ตีพิมพ์โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า “เมื่อถึงปี 2593 ประชากรโลกจะมีจำนวนมากถึง 9.6 พันล้านคน และเราต้องมีโลกถึง 3 ใบไว้รองรับเพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอกับความต้องการในการอุปโภคบริโภค” และนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้องค์การสหประชาชาติกำหนดการสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Ensure sustainable consumption and production patterns) ซึ่งถือเป็นเป้าหมายข้อที่ 12 ของ SDGs ทั้งหมด 17 ข้อ
Design for Recyclability หรือ การพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกและโซลูชัน โดยออกแบบให้สามารถรีไซเคิลได้ง่าย เป็นหนึ่งในสี่ข้อของโรดแมปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของปี 2564 ที่ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดขึ้น ตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนแนวปฏิบัติดังกล่าว คือ การพัฒนาโซลูชันสำหรับบรรจุภัณฑ์โดยออกแบบให้มีชั้นแผ่นฟิล์มเป็นชนิดเดียวกันทั้งหมด (Mono-material solutions) นอกจากนี้ เอสซีจียังพัฒนาเทคโนโลยี SMXTM เพื่อให้เม็ดพลาสติกมีความแข็งแรงมากขึ้น จึงใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง และยังช่วยเพิ่มสัดส่วนเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้มากขึ้น
เพิ่มการหมุนเวียนใช้ซ้ำพลาสติก
ปัญหาขยะล้นโลกเป็นผลสืบเนื่องจากการผลิตแบบเศรษฐกิจเส้นตรง นำมา-ผลิต-ทิ้งไป (Linear Economy: Take-Make-Dispose) ที่นำทรัพยากรมาผลิตสินค้า และเมื่อเลิกใช้แล้วก็ทิ้งไป ไม่นำกลับมาใช้อีก ส่งผลให้ทรัพยากรที่มีจะหมดไปอย่างรวดเร็ว และเป็นที่มาของปัญหาขยะซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ในประเด็นนี้ เอสซีจีได้นำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ PCR (Post- consumer Recycled Resin) ตัวอย่างความร่วมมือ เช่น การจับมือกับสุเอซ (SUEZ) บริษัทชั้นนำด้านการรีไซเคิลพลาสติกในยุโรปทีมีโรงงานอยู่ถึง 9 แห่งทั่วโลก เพื่อพัฒนาและสร้างคุณค่าให้กับพลาสติกใช้แล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเจ้าของแบรนด์สินค้าระดับโลก รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดหรือทำให้พลาสติกใช้แล้วไม่กลายเป็นปัญหาหรือมลพิษต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป
ยกระดับด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง
อีกข้อหนึ่งที่สำคัญในโรดแมปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของปี 2564 ที่ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีได้ผลักดันให้เกิดขึ้นแล้ว คือ Chemical Recycling ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานปิโตรเคมี หรือ Recycled Feedstock เพื่อนำกลับมาผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) ช่วยตอบโจทย์หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน
ในเบื้องต้น ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติก ที่เป็น Advanced Technology ใช้สารเร่งปฏิกิริยาทำให้กระบวนการรีไซเคิลมีอุณหภูมิต่ำ จึงช่วยลดการใช้พลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปัญหาการสะสมของปริมาณขยะพลาสติกในประเทศ ทั้งยังได้ก่อสร้าง โรงงานทดสอบการผลิต (Demonstration Plant) แห่งแรกในประเทศไทย ในพื้นที่บริเวณโรงงาน จังหวัดระยอง ด้วยกำลังการผลิต Recycled Feedstock ประมาณ 4,000 ตันต่อปี และพร้อมที่จะขยายกำลังผลิตในอนาคต
เร่งพัฒนาพลาสติกชีวภาพ
จากความร่วมมือกับเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เอสซีจียังตั้งเป้าที่จะพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งนอกเหนือจะเป็นการช่วยนำเสนอโซชูชันทางเลือกด้านวัสดุศาสตร์แล้ว ยังเป็นการตอบโจทย์ SDGs ขององค์การสหประชาชาติถึงสามเป้าหมาย นั่นคือ เป้าหมายที่ 9 การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม (Industry, Innovation & Infrastructure) เป้าหมายที่ 12 การสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Ensure sustainable consumption and production patterns) และเป้าหมายที่ 13 การเร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น (Climate Action)
โรดแมปทั้ง 4 ด้านที่มีการบูรณาการหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply сhain) เพราะมีการออกแบบเม็ดพลาสติกให้ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดแต่ยังคงมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นขั้นเริ่มต้น ไปจนถึงการนำพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกชั้นสูง และนี่เป็นสิ่งที่จะช่วยนำพาธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี สู่การเป็น “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งจะดำเนินธุรกิจควบคู่กับการตอบโจทย์ SDGs และ ESG ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน ชุมชน สังคม และดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน