close

23 ธ.ค. 2563

5 ไฮไลต์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน เอสซีจี

เอสซีจี เป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำของประเทศไทย ที่มุ่งดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยบริษัทได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาบูรณาการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติสำคัญ คือ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวปฏิบัติที่เรียกว่า SCG Circular way ที่ครอบคลุมการออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดหาทรัพยากรที่ได้จากการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำ

นวัตกรรมที่ช่วยเสริมภาพความชัดเจนของหลักดังกล่าวทั้งในแง่ของแนวปฏิบัติและผลลัพธ์ที่ได้ ประกอบไปด้วย 6 ไฮไลต์ ได้แก่ นวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิล ทุ่นกักขยะลอยน้ำจาก HDPE-Bone บ้านปลาเอสซีจี เก้าอี้รีไซเคิลจากถุงนมโรงเรียน และกระถางต้นไม้รีไซเคิลจากแกลลอนน้ำยาล้างไต

“ทางออก” เพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ชุมชนมั่งคั่ง
นวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิล หรือ Innovative Recycled Plastic Road สะท้อนความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงขององค์กร ที่ต้องการส่งเสริมและต่อยอดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ไปพร้อมกับการบูรณาการ Open Innovation เป็นการพัฒนานวัตกรรมร่วมกันระหว่าง ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย

โดยถนนพลาสติกรีไซเคิลที่มีพลาสติกเหลือใช้ ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อน หลอด แก้วกาแฟชนิด PP, PE และ PET ซองบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ไม่เคลือบชั้นโลหะ (โดยทั้งหมดต้องเป็นพลาสติกที่สามารถหลอมละลายได้ในอุณหภูมิประมาณ 160 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า) มาเป็นส่วนประกอบสำคัญ มีผิวถนนที่แข็งแรงขึ้นกว่าเดิมสูงสุด 30% และมีการยึดเกาะถนนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 6% ถือเป็นการช่วยลดขยะพลาสติกในประเทศ โดยนำพลาสติกใช้แล้วมาใช้ทำถนนยางมะตอยที่มีคุณภาพ รวมถึงเป็นการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้กับชุมชนเพื่อต่อยอดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบัน เอสซีจีและพันธมิตรได้ดำเนินการทำถนนแอสฟัลต์คอนกรีตต้นแบบที่มีพลาสติกเหลือใช้เป็นส่วนผสม รวมความยาวถนนทั้งสิ้น 7.7 กิโลเมตร และสามารถนำพลาสติกเหลือใช้หมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่าได้รวมทั้งสิ้น 23 ตัน หรือราว 23,000 กิโลกรัม รับชมวิดีโอนวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิลได้ที่ https://bit.ly/360yP05

จัดการปัญหาขยะในทะเลไทยด้วยนวัตกรรม
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่า 80% ของขยะที่ตกค้างในทะเลมาจากกิจกรรมบนบก เอสซีจี ได้คิดค้น ทุ่นกักขยะลอยน้ำจาก HDPE-Bone (SCG-DMCR Litter Trap Generation 2) นวัตกรรมที่ช่วยลดปริมาณขยะในทะเลนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นจากนวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ (SCG-DMCR Litter Trap) ที่เอสซีจีได้พัฒนาร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เมื่อปี 2561

ทุ่นกักขยะลอยน้ำเวอร์ชันใหม่ของเอสซีจีนี้ ผลิตจากวัสดุลอยน้ำ HDPE-Bone ที่เป็นเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ HDPE มาใช้ทดแทนวัสดุเดิม ทำให้ทุ่นฯ สามารถลอยน้ำได้ดีขึ้น จัดเก็บขยะลอยน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้สามารถนำขยะกลับมารีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นวัตกรรมนี้ยังทนทานต่อรังสียูวี มีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 25 ปี ประกอบและติดตั้งได้ง่ายขึ้น

เอสซีจีได้ส่งมอบนวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำรุ่นล่าสุดนี้ให้กับ 7 จังหวัดชายฝั่งทะเล ได้แก่ ระยอง สมุทรปราการ เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา พังงา และกระบี่ เพื่อป้องกันขยะไหลสู่ทะเล ไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 รับชมวิดีโอได้ที่นี่ https://bit.ly/2Jk59DW

คืนชีวิตสู่ท้องทะเลไทย ส่งต่อความห่วงใยให้ชุมชน
ก่อนจะมี บ้านปลาเอสซีจี อีกหนึ่งโครงการเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนจากเอสซีจีเกิดขึ้น ชุมชนชาวประมงของจังหวัดระยอง ประสบกับปัญหาปริมาณสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องออกเรือจากฝั่งไปไกลเกือบ 10 กิโลเมตรเพื่อทำประมง แต่การสร้าง “บ้านปลา” ทำให้ทรัพยากรชายฝั่งทะเลได้รับการฟื้นฟู ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา และนั่นทำให้ชุมชนกลับมาทำมาหากินได้อย่างยั่งยืน

ในช่วงแรกของโครงการฯ เอสซจี นำท่อ PE100 ซึ่งเป็นพลาสติกพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE - High density polyethylene) เกรดพิเศษที่เหลือจากกระบวนการขึ้นรูปทดสอบมาใช้สร้างบ้านปลา วัสดุดังกล่าวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 50 ปี เพราะทนต่อการกัดกร่อนและแรงดันได้สูง ต่อมาในปี 2560 เอสซีจี ได้ทดลองนำขยะพลาสติกจากทะเลและชุมชน เช่น ฝาขวดน้ำ ถุงพลาสติกหูหิ้ว มาคัดแยกผสมกับเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษของเอสซีจี เพื่อนำมาผลิตเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลา รวมถึงการพัฒนาการวางบ้านปลาแบบใหม่ที่เรียกว่า “หมู่บ้าน” โดยยึดโยงบ้านปลา 10 หลัง เข้าไว้ด้วยกันตั้งแต่อยู่บนบก และใช้แพจากทุ่นพลาสติกเพื่อขนส่งบ้านปลาทั้งหมดไปในบริเวณที่ต้องการวางบ้านปลา ทำให้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาการวางบ้านปลา และลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการวางแบบเดิม

ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา (2555 - 2563) เอสซีจี ได้วางบ้านปลาครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกไปแล้วจำนวน 2,180 หลัง คิดเป็น 43 กลุ่มประมง ครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 47 ตารางกิโลเมตร ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 172 ชนิด (ผลสำรวจของเดือนธันวาคมปี 2560) ผ่านความร่วมมือร่วมใจจากจิตอาสาจากทั่วประเทศกว่า 22,900 คน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างบ้านปลา

สร้างจิตสำนึกเด็กไทย รู้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า 
เอสซีจี ใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญเรื่องพลาสติกเข้ามาช่วยจัดการขยะถุงนมที่เกิดขึ้นในโรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 จ.ระยอง โดยนำถุงนมโรงเรียนที่ผลิตจากพลาสติกชนิด LLDPE (Linear Low Density Polyethylene) มีคุณสมบัติเหนียวและยืดหยุ่นสูง แต่ยังทนต่อความร้อนและความดันสูงได้ มาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็น เก้าอี้รีไซเคิลจากถุงนมโรงเรียน

โครงการนี้ นอกจากจะช่วยลดปริมาณของขยะพลาสติกที่จะนำไปทิ้งในหลุมฝังกลบได้แล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ดีช่วยให้นักเรียนได้เห็นประโยชน์ของการรีไซเคิลได้อย่างชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นได้ว่าพลาสติกที่พวกเขาช่วยกันล้างและทำความสะอาดอย่างดีนั้นสามารถกลับมามีคุณค่าได้อีกครั้ง โดยเก้าอี้พลาสติกรีไซเคิล 1 ตัว ใช้ถุงนมที่แห้งและสะอาดประมาณ 600 ถุงในการผลิต

ในปัจจุบันเอสซีจีได้กำลังศึกษาสูตรให้สามารถนำถุงนมพลาสติกมารีไซเคิลได้ในจำนวนที่มากขึ้น รวมถึงการนำขยะพลาสติกชนิดอื่น ๆ มาสร้างประโยชน์ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

ความร่วมมือเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุพอลิเมอร์และการออกแบบ เอสซีจี ได้พัฒนาอุปกรณ์การแพทย์เพื่อยกระดับการใช้งานให้แก่ทั้งคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์ของกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เครือข่ายโรงพยาบาลชั้นนำของไทยมาอย่างต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว นำมาสู่ความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มากมายหลายชนิด หนึ่งในนั่นก็คือ กระถางต้นไม้รีไซเคิลจากวัสดุแกลลอนน้ำยาล้างไต

การพัฒนากระถางต้นไม้รีไซเคิลจากวัสดุแกลลอนน้ำยาล้างไตนี้ ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ 2 ส่วน คือ การจัดการขยะ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ เอสซีจีได้แนะนำว่าแกลลอนน้ำยาล้างไตเป็นวัสดุตั้งต้นที่น่าสนใจ เพราะเป็นขยะคุณภาพดี สะอาด ไม่ปนเปื้อน เป็นพลาสติกประเภท HDPE (High Density Polyethylene) อีกทั้งยังทางโรงพยาบาลมีศูนย์ล้างไต จึงมีแกลลอนเปล่าเป็นขยะที่เกิดขึ้นทุกวันและมีปริมาณประมาณ 150-200 แกลลอนต่อวัน จึงเหมาะแก่การนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ในส่วนของการดีไซน์ได้ข้อสรุปออกมาเป็น กระถางต้นไม้ขนาดความสูง 80–100 เซนติเมตร สำหรับตกแต่งอาคาร โดยแกลลอนน้ำยาล้างไตจำนวน 10 แกลลอน นำมารีไซเคิลเป็นกระถางต้นไม้รีไซเคิลขนาดกลางได้ 1 กระถาง และถ้าหากต้องการขนาดกระถางที่ใหญ่ขึ้น ต้องใช้แกลลอนน้ำยาล้างไตจำนวน 12 แกลลอน

โครงการกระถางต้นไม้รีไซเคิลจากวัสดุแกลลอนน้ำยาล้างไตในครั้งนี้ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญของเอสซีจีในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์และการออกแบบ พร้อมกับการแบ่งกันแนวคิดและแนวปฏิบัติเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


Is this article useful ?