close

23 ธ.ค. 2563

“บ้านปลาเอสซีจี” ฟื้นฟูทรัพยากรทะเลชายฝั่ง สร้างเสริมชุมชนยั่งยืน

“เมื่อก่อนจะหาปลาต้องออกเรือจากฝั่งไปประมาณ 6-10 กิโลเมตร เมื่อออกไปไกลก็ต้องเผชิญกับคลื่นสูง ลมแรง ซึ่งบางครั้งทำให้เครื่องมือประมงพื้นบ้านเสียหายกลับมา แต่หลังจากมีบ้านปลา เห็นได้ชัดเลยว่าในรัศมี 1-2 กิโลเมตรเท่านั้น ก็หาปู หาปลาได้แล้ว เป็นผลจากการวางบ้านปลาเพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล ซึ่งเป็นทรัพยากรอันล้ำค่าของทุกคน”

คำพูดข้างต้นเป็นของ ไมตรี รอดพ้น ประธานวิสาหกิจชุมชนชมรมประมงเรือเล็กพื้นบ้าน อำเภอเมือง และอำเภอบ้านฉางสามัคคี จังหวัดระยอง ที่ฉายให้เห็นภาพความเสื่อมโทรมของทรัพยากรบริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่งส่งผลให้สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวมีจำนวนลดลง และท้ายที่สุดส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน

เอสซีจี เองก็ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนคืนท้องทะเลไทย จึงรวมทีมกันคิดค้นและออกแบบ “บ้านปลาเอสซีจี” นวัตกรรมที่สะท้อนความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพอลิเมอร์และการออกแบบ และความร่วมมือที่แข็งแกร่งกับชาวประมงพื้นบ้านเรือเล็กในจังหวัดระยอง เพื่อช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นคืนระบบนิเวศทะเลไทย

จากจุดเริ่มต้นของความ “รักษ์และรัก”
จากความรักที่จะดูแลชุมชน และตั้งใจที่จะถ่ายทอดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนให้ชุมชนเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดการพึ่งพาตนเอง จึงเป็นที่มาของโครงการ “จากภูผา…สู่มหานที” โครงการรักษ์น้ำที่เป็นแนวทางการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองอย่างแท้จริง ส่งเสริมให้ทุกคนมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน

สำหรับในพื้นที่ จ.ระยอง เอสซีจี ได้ร่วมชุมชนและภาครัฐ ช่วยกันบริหารจัดการน้ำในจังหวัดตั้งแต่ต้นน้ำ ผ่านการสร้าง “ฝายชะลอน้ำ” ในพื้นที่เขายายดา จนถึงปลายน้ำ โดยการสร้าง “บ้านปลา” เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลให้อุดมสมบูรณ์ เป็นเสมือนคลังทรัพยากรในทะเลที่ชาวประมงสามารถทำมาหากินได้อย่างยั่งยืน

หมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์
โครงการบ้านปลาเอสซีจีได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาใช้ ด้วยการนำท่อ PE100 ซึ่งเป็น พลาสติกพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE - High density polyethylene) เกรดพิเศษที่เหลือจากกระบวนการขึ้นรูปทดสอบมาใช้สร้างบ้านปลา

เม็ดพลาสติกดังกล่าวผ่านกระบวนการทดสอบเม็ดพลาสติกของบริษัทและผ่านการทดสอบคุณสมบัติท่อจากสถาบัน VTT, Finland และสถาบันอื่น ๆ ทั่วโลก ในด้าน SFS-EN ISO 8795:2001 โดยนำน้ำที่สกัดสารเคมีออกจากท่อมาทดสอบหาสารอันตราย และทดสอบเรื่องกลิ่นหรือสารปนเปื้อนจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่าปลอดภัยไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีคุณสมบัติที่ทนต่อการกัดกร่อนและแรงดันได้สูง ทำให้มีอายุใช้งานได้นานกว่า 50 ปี

ทีมงานยังได้ออกแบบรูปทรงของบ้านปลาให้เหมาะสมต่อการใช้งาน ผลที่ได้คือบ้านปลาทรงสามเหลี่ยมพีระมิดที่มีความมั่นคงเมื่อนำไปจัดวางใต้ทะเลจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำประมง และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทางทะเล

นอกจากนี้ ในปี 2560 เอสซีจี ได้ทดลองนำขยะพลาสติกจากทะเลและชุมชน เช่น ฝาขวดน้ำ ถุงพลาสติกหูหิ้ว มาคัดแยกผสมกับเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษของเอสซีจี เพื่อนำมาผลิตเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลา  ซึ่งจากการวิจัยด้านการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล เรื่องไมโครพลาสติกในน้ำทะเลที่จัดทำโดยภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยใช้กระบวนการ NOAA Marine Debris Program สรุปได้ว่าไม่พบไมโครพลาสติกในลักษณะรูปร่างและประเภทเดียวกับท่อวัสดุที่ใช้สร้างบ้านปลา

นอกจากนี้เอสซีจียังได้พัฒนาการวางบ้านปลาแบบใหม่  โดยวางครั้งเดียวเป็นกลุ่ม เรียกว่า “หมู่บ้าน” ซึ่งใช้ระบบยึดโยงบ้านปลา 10 หลัง เข้าไว้ด้วยกันตั้งแต่อยู่บนบก และใช้แพจากทุ่นพลาสติกเพื่อขนส่งบ้านปลาทั้งหมดไปในบริเวณที่ต้องการวางบ้านปลา ระบบการวางแบบหมู่บ้านปลานี้ สามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาการวางบ้านปลา และลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการวางแบบเดิม จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวางบ้านปลาให้ดีมากยิ่งขึ้น

สิ่งแวดล้อมและชุมชน “ฟื้นฟูเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน”
จากจุดเริ่มต้นในปี 2555 ที่เอสซีจีเห็นปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลบริเวณชายฝั่ง ซึ่งส่งผลให้สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งลดน้อยลง ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้น้อยลง นำมาสู่โครงการบ้านปลาเอสซีจีที่เห็นเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ในเป้าหมายที่ 3 คือ การสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสาหรับทุกคนในทุกวัย และเป้าหมายที่ 14 ที่ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา (2555 - 2563) เอสซีจี ได้วางบ้านปลาครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกไปแล้วจำนวน 2,180 หลัง โดยวางในทะเล จังหวัดระยอง 1,340 หลัง, จังหวัดชลบุรี 690 หลัง, จังหวัดตราด 60 หลัง, จังหวัดจันทบุรี 50 หลัง และจังหวัดระนอง 40 หลัง คิดเป็น 43 กลุ่มประมง เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 47 ตารางกิโลเมตร ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 172 ชนิด (ผลสำรวจของเดือนธันวาคมปี 2560) ประกอบด้วยกลุ่มสัตว์น้ำเศรษฐกิจ กลุ่มปลาสวยงาม กลุ่มสัตว์น้ำวัยอ่อน กลุ่มสัตว์เกาะติด และกลุ่มแพลงก์ตอน โดย เอสซีจีได้รับความร่วมมือร่วมใจจากจิตอาสาจากทั่วประเทศกว่า 22,900 คน ในการสร้างบ้านปลา 

ล่าสุด เอสซีจี ได้จัดทำบ้านปลาเอสซีจีสีชมพู ซึ่งเป็นโมเดลบ้านปลาต้นแบบที่ผลิตจากฝาขวดน้ำสีชมพู ที่ได้รับรวบรวมจากน้องนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยฝาขวดน้ำดื่มทำจากวัสดุพลาสติกประเภท HDPE ที่มีความแข็งแรง และนำมาผสมกับเม็ดพลาสติก HDPE ที่มีสารกัน UV จึงทำให้มีความทนทาน อายุใช้งานยาวนาน และยังมีความปลอดภัยสูงด้วยพลาสติกประเภทที่สัมผัสอาหารได้ (Food grade) โมเดลบ้านปลาดังกล่าวถูกนำมาจัดแสดงไว้ที่งานสัมมนาเพื่อความร่วมมือสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ SD Symposium 2020 “Circular EconomyActions for Sustainable Future จากเวทีใหญ่กรุงเทพฯ สู่จังหวัดระยอง  

“อาชีพประมง อยู่กับความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ พายุฝน เราประเมินกันดูว่ารายได้ จากเมื่อก่อนได้หลักร้อย แต่หลังจากมีบ้านปลาเอสซีจีรายได้เป็นหลักพันบาท เราจึงมาคิดกันในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงฯ ว่า โครงการบ้านปลาเอสซีจี มาถูกทางแล้ว สามารถสร้างแหล่งอาหารให้ยั่งยืน กับอาชีพประมงพื้นบ้าน ซึ่งไม่เพียงชาวประมงเท่านั้นที่ได้ แต่มองไปถึงความยั่งยืนของแหล่งอาหารในประเทศไทยในอนาคตด้วย” ไมตรี ประธานกลุ่มประมงฯ กล่าวย้ำถึงความสำเร็จของโครงการบ้านปลาเอสซีจี


Is this article useful ?