close

13 ธ.ค. 2563

เงินทองจากกองขยะ ตอนที่ 6: ถอดบทเรียนการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน “บ้านครึ่งใต้”

เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนความสำเร็จการจัดการขยะจาก 12 โครงการต้นแบบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมตามบริบท โดยในบทความนี้ขอนำเสนอภาพความสำเร็จการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ “บ้านครึ่งใต้” 

ไม่มีที่ไหนที่ขยะไปไม่ถึง
แม้ว่าบ้านครึ่งใต้จะเคยได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อน แต่ปริมาณขยะที่เกิดจากคนต่างถิ่นนำเข้ามา เพราะมาศึกษาดูงานการเป็นชุมชนต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียงของที่นี่ กับการขาดองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะของชาวบ้าน ที่มักขุดหลุมฝังหรือไม่ก็เผาขยะ ทำให้ที่นี่กลายเป็นหมู่บ้านที่มีปัญหาขยะไปโดยปริยาย

สมเพชร ทะชัย ผู้ใหญ่บ้านครึ่งใต้ มองเห็นถึงความเร่งด่วนที่ต้องจัดการปัญหาดังกล่าว ในปี 2554 เขาตัดสินใจเรียกประชุมชาวบ้าน แล้วนำเรื่องดังกล่าวหารือกับทุกคน นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการเสนอเทศบาลตำบลใต้ เพื่อให้จัดส่งวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะเข้ามาอบรมทุกคนในหมู่บ้าน ก่อนจะเกิดเป็นการจัดการขยะอย่างเต็มรูปแบบไปทั่วทั้งหมู่บ้านในเวลาต่อมา

แยกขยะให้ละเอียด
เมื่อได้รับความรู้จากการอบรมมาแล้ว ชาวบ้านเริ่มวางแผนการคัดแยกขยะเป็น 5 ประเภท คือ ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะอันตราย และขยะติดเชื้อ แต่ก็ยังมีหลาย ๆ ครอบครัว รวมทั้งที่ศูนย์การเรียนรู้ของหมู่บ้านคัดแยกขยะแต่ละประเภทอย่างละเอียดย่อยลงไปอีก

ที่หมู่บ้านครึ่งใต้นี้ ชาวบ้านจะแยกย่อยขยะรีไซเคิลเป็น 4 ประเภท คือ กระดาษ พลาสติก ขวดแก้ว แล้วก็โลหะ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม สังกะสี ส่วนพลาสติก จะแยกเป็นแบบใสและแบบขุ่น เพราะทำให้ได้ราคาดีขึ้นเมื่อขาย ส่วนขยะอินทรีย์ที่นี่จะแยกออกอีก 3 ประเภท คือ เศษอาหาร จะนำลงถังน้ำหมักทำเป็นปุ๋ยน้ำและปุ๋ยดิน เศษใบไม้จะถูกนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก ขณะที่เศษผักและผลไม้ ชาวบ้านที่นี่จะนำไปลงถังเลี้ยงไส้เดือน ทำเป็นปุ๋ยมูลไส้เดือนและเพาะพันธุ์ขาย รวมทั้งนำไปเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ในหมู่บ้าน

การที่ชาวบ้านแยกขยะโดยละเอียดนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะและเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการฝึกให้ทุกคนในหมู่บ้านมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้กลายเป็นคุณลักษณะที่อยู่ในตัวตนของคนบ้านครึ่งใต้มาจนถึงปัจจุบัน

ความสำเร็จสำคัญของโครงการ
การใช้ขยะเป็นสื่อกลางในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคนในชุมชนบ้านครึ่งใต้นั้น สะท้อนออกมาเป็นโครงการร้านศูนย์บาทพลัส โครงการขยะออมบุญ หรือและโครงการตลาดนัดขยะ

ร้านศูนย์บาทพลัสของที่บ้านครึ่งใต้นั้นอาจจะแตกต่างจากร้านศูนย์บาทของที่อื่น ๆ อยู่ตรงที่ผู้ที่มีขยะจะต้องนำขยะมาแลกคูปองที่ศูนย์เรียนรู้ก่อน จากนั้นจึงนำคูปองไปแลกซื้อสินค้าที่ร้านค้าใดก็ได้ในหมู่บ้าน ซึ่งวิธีการนี้ก็เพื่อให้ร้านค้าทุกร้านมีส่วนร่วมในการจัดการขยะอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะร้านใดร้านหนึ่ง

ที่นี่ยังมีการจัดกิจกรรม “ขยะออมบุญ” เป็นการทอดผ้าป่าขยะที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยรายได้ทั้งหมดนำไปพัฒนาวัดครึ่งใต้ ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน โดยชาวบ้านจะเอาขยะไปกองที่วัด แล้วคณะกรรมการก็จะไปแยกขยะ แล้วขายขยะกันวันนั้นเลย เงินได้เท่าไหร่ก็มอบให้วัดทั้งหมด เท่ากับว่าขยะก็ลดลง วัดก็ได้เงิน คนก็ได้บุญ

นอกจากนี้ ในทุกวันที่ 5 ของเดือนที่บ้านครึ่งใต้จะมีกิจกรรม “ตลาดนัดขยะ” ทุกคนจะนำขยะมาขายที่ศูนย์ ขายได้เท่าไหร่ก็จะได้รับเงินค่าขยะเลย แล้วคณะกรรมการจะนำขยะที่รับซื้อมาคัดแยกอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนจะนำไปขาย ซึ่งกำไรที่ได้มาจะนำไปปันผลให้ชาวบ้านในช่วงสิ้นปี ถือเป็นโบนัสอีกครั้งหนึ่งด้วย เท่ากับชาวบ้านจะได้เงินทุกวันที่ 5 ของเดือนและตอนสิ้นปี วิธีการนี้ทำขึ้นเพื่อจะได้ไม่มีใครนำขยะไปขายให้กับพ่อค้าข้างนอก

นอกเหนือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้ทุกคนในชุมชนอยากจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางแล้ว การบังคับใช้บทลงโทษอย่างจริงจังก็มีส่วนสำคัญ ที่บ้านครึ่งใต้มีกฎเหล็กข้อหนึ่งที่ใช้ในการจัดการขยะ คือ หากพบเห็นใครลักลอบนำขยะมาทิ้งในพื้นที่ มีโทษปรับ 5,000 บาท โดยตั้งแต่หมู่บ้านตั้งกฎขึ้นมา เคยเกิดเหตุการณ์จับปรับมาแล้ว 2 ครั้ง จากการบังคับใช้กฎที่ร่วมกันสร้างอย่างจริงจังและเด็ดขาด หลังจากเหตุการณ์ทั้งสองแล้วนั้น ไม่มีใครกล้านำขยะมาทิ้งโดยไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่บ้านครึ่งใต้อีกเลย

ดาวน์โหลด Waste to Wealth ... เงินทองจากกองขยะ ได้ที่ https://www.scg.com/ebook-watse-to-wealth/


Is this article useful ?