close

30 พ.ย. 2563

เอสซีจี แบ่งปันองค์ความรู้ เปิดกว้างสู่ความร่วมมือ เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน

การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) เป็นอีกหนึ่งแนวปฏิบัติที่เอสซีจีบูรณาการเข้ากับการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างเนื่อง โดยเป็นการแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างเอสซีจีเอง และการขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานหรือองค์กรชั้นนำภายนอกเอสซีจี นับเป็นการเร่งให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ขับเคลื่อนโครงการหรือกิจกรรมรูปแบบใหม่ ซึ่งทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือ การสร้างคุณค่าร่วมกันให้เกิดขึ้นกับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในมิติต่าง ๆ

ขับเคลื่อนด้วย “ทุกคน” จากภายใน
เอสซีจีเป็นอีกหนึ่งบริษัทชั้นนำของประเทศไทย ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมซึ่งตอบโจทย์การเติบโตธุรกิจอย่างต่อเนื่องแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังส่งเสริมการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้ทุกภาคส่วนด้วย หนึ่งในตัวอย่างสำคัญก็คือ การขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เห็นเป็นรูปธรรม พร้อมกับการขยายผลความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ

บางซื่อโมเดล คือ หนึ่งในตัวอย่างสำคัญที่ช่วยสะท้อนภาพของความมือได้อย่างเป็นรูปธรรม โครงการดังกล่าวเป็นการจัดการของเสียภายในเอสซีจี สำนักงานใหญ่บางซื่อ ที่รณรงค์ให้พนักงานในองค์กรได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะ ด้วยการ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” โครงการนี้ยังช่วยสร้างการรับรู้และกระตุ้นเตือนเรื่องการจัดการขยะอย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นการให้ความรู้พนักงานทุกระดับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ให้ความสำคัญกับการหมุนใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ และพลังงาน ให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสมนั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้พนักงานเลือกวัสดุและออกแบบตัวสินค้าโดยคำนึงถึงปลายทาง เพื่อให้ใช้งานแล้วนำกลับเข้าสู่ระบบหมุนเวียนได้ และเกิดของเสียหรือขยะน้อยให้ที่สุด

โครงการดังกล่าว นำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาระบบคัดแยกขยะภายในองค์กร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะและช่วยลดปริมาณของขยะในเอสซีจีลง โดยผลการดำเนินการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2019 ทำให้ลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นองค์กรได้มากถึง 20 ตันต่อเดือน และในสัดส่วนดังกล่าวมีขยะที่ถูกนำมารีไซเคิลได้ทั้งหมด ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้มากถึง 100% ด้วย (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2563)

เชื่อมเครือข่าย ขยายผลความร่วมมือสู่ “ท้องถิ่น”
ความสำเร็จของบางซื่อโมเดลที่เป็นตัวจุดประกายเรื่องการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการขยายผลความร่วมมือของโครงการมาสู่ชุมชน โดยเอสซีจีได้ร่วมกับจังหวัดระยองนำร่อง โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ที่เริ่มต้นจากชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ได้แก่ ชุมชนโขดหิน 2 ชุมชนโขดหินมิตรภาพ ชุมชนเขาไผ่ วัดโขดหิน โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 และธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่ ผ่านโมเดลที่ทาง จ.ระยองมีอยู่แล้ว นั่นคือ บ้าน วัด และโรงเรียน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “บวร” โดยทั้งสามจุดเป็นต้นทางของขยะที่เกิดขึ้นภายในชุมชน เอสซีจีได้เชื่อมโยงโมเดลบวร และธนาคารขยะเข้าด้วยกัน โดยธนาคารขยะทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงและเป็นปลายทางของขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชน

โมเดลดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการคัดแยกขยะให้กับคนในชุมชนตั้งแต่ต้นทาง โดยขับเคลื่อนผ่านผู้นำทางความคิด ได้แก่ ผู้นำชุมชน เจ้าอาวาส และนักเรียน และการผลักดันของผู้เชี่ยวชาญจากเอสซีจี นอกจากนี้โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ยังช่วยเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล ควบคู่กับการลดปริมาณการฝังกลบขยะลงได้อีกด้วย โดยมีการผสานความเข้าร่วมมือด้านดิจิทัลเทคโนโลยี “คุ้มค่า (KoomKah)” เว็บแอปพลิเคชันที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธนาคารขยะแบบครบวงจรมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของความร่วมมือในการจัดการกับขยะทะเล ซึ่งมีปริมาณสูงถึง 7.36 ล้านตัน จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2561 เอสซีจีจับมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พัฒนา “นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ (SCG-DMCR Litter Trap)” ที่ช่วยยกระดับการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นวัตกรรมจากเอสซีจีนี้มีขนาดกว้าง 1.8 เมตร และยาว 5 เมตร โดยอุปกรณ์หนึ่งชุดสามารถกักเก็บขยะได้สูงสุด 700 กิโลกรัม/วัน สำหรับวัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตทุ่นกักขยะลอยน้ำเวอร์ชันเอสซีจีคือ ท่อ PE100 ที่เหลือจากการทดสอบขึ้นรูปในโรงงานของเอสซีจี วัสดุดังกล่าวมีความแข็งแรงทนทาน และเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และในปี 2563 เอสซีจีได้พัฒนา นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ จาก HDPE-Bone (SCG-DMCR Litter Trap Generation 2) โดยผลิตจากวัสดุลอยน้ำ HDPE-Bone ซึ่งผลิตจากพลาสติกเกรดพิเศษ HDPE มาใช้ทดแทนวัสดุเดิม ทำให้ทุ่นฯ สามารถลอยน้ำได้ดีขึ้น จัดเก็บขยะลอยน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ทนทานต่อรังสียูวี อายุการใช้งานยาวนาน 25 ปี ประกอบและติดตั้งได้ง่ายขึ้น และสามารถนำกลับมารีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

นับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เอสซีจีและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ติดตั้งนวัตกรรมทุ่นกักเก็บขยะลอยน้ำ SCG-DMCR Litter Trap นี้ บริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขาที่เชื่อมต่อกับทะเลกว่า 35 ชุด ในพี้นที่ 17 จังหวัดของประเทศไทย เพื่อป้องกันขยะจากแม่น้ำและลำคลองสาขาไหลลงสู่ทะเล ซึ่งผลปรากฏว่าสามารถช่วยกักขยะได้กว่า 42 ตัน (ส.ค. 2562 – ก.ย. 2563)

ร่วมพันธมิตร “นานาชาติ” เสริมความยั่งยืน 
เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนทรรศนะ และส่งเสริมความร่วมมือให้ขยายเครือข่ายให้กว้างขวางขึ้น เอสซีจีได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรชั้นนำระดับนานาชาติที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม เสริมสร้างความยั่งยืนของชุมชน และปกป้องสิ่งแวดล้อม อาทิ Starboard, Alliance to End Plastic Waste (AEPW), The Ocean Cleanup และ Ellen MacArthur Foundation (EMF)

การตระหนักถึงปัญหาสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ที่กลายเป็นวิกฤตขยายขอบเขตไปทั่วโลกและก่อตัวสร้างผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เป็นจุดร่วมที่ทำให้องค์กรชั้นแนวหน้าอย่าง เอสซีจี และ Starboard แบรนด์ระดับพรีเมียมของผลิตภัณฑ์กีฬาทางน้ำประเภทเซิร์ฟบอร์ด ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในโครงการ Collaboration for Sustainable Future เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว

บันทึกข้อตกลงร่วมในโครงการดังกล่าว ครอบคลุมขอบเขตการศึกษาและความร่วมมือใน 3 ด้านที่สำคัญ คือ 1) การพัฒนาวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2) การส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน และ 3) การสร้างความตระหนักรู้และปลูกฝังพฤติกรรมเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้กับเยาวชน โดยทั้งเอสซีจีและ Starboard มุ่งหวังว่าการดำเนินงานภายใต้ขอบเขตการศึกษาและกรอบความร่วมมือดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

เอสซีจีเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างฉับพลันและเร่งด่วน จึงได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งและผู้สนับสนุนการดำเนินงานของ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่รวมบริษัทระดับโลกในห่วงโซ่มูลค่าของวงการพลาสติก โดย เอสซีจีเป็นองค์กรไทยแห่งเดียวและเป็นฟันเฟืองหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังเร่งแก้ไขปัญหาขยะ

นอกเหนือจากองค์กรระดับโลกทั้งสององค์กรที่เอสซีจีได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ยังมี The Ocean Cleanup องค์กรสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร โดย โบยาน สลาต Founder and CEO ที่เอสซีจีได้ลงนามในข้อตกลงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาขยะทะเลในประเทศไทย

ความร่วมมือในการวิจัยครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลเรื่องขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งไหลลงสู่ทะเลที่ชัดเจนและถูกต้อง เพื่อนำมาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการขยะและนำมาสร้างประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมล่าสุดที่เอสซีจีได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งสมาชิกเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ Ellen MacArthur Foundation (EMF) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2010 เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันทุกภาคส่วนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยระบบดังกล่าวช่วยกระตุ้นให้เกิดโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ตลอดจนสินค้าและบริการที่ได้รับการออกแบบบนพื้นฐานของการส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่

เอสซีจีได้ใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากตัวแทนของมูลนิธิและบริษัทสมาชิกอื่น ๆ เพื่อนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ และเผยแพร่ให้กับทุกภาคส่วนในประเทศไทย นอกจากนี้การเข้าเป็นสมาชิกของเอสซีจี ยังเป็นโอกาสดีในการนำเสนอแนวคิดและวิถีปฏิบัติที่อยู่ภายใต้ SCG Circular Way ซึ่งได้รับการนำเสนอผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในเวิร์กชอปและซัมมิทที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิฯ

จากความร่วมมือมือดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นและโอกาสที่ดีในการสร้างองค์ความรู้และการขยายเครือข่ายเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับนานาชาติ เพื่อสนับสนุนความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

เอสซีจี ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ยกระดับสังคม และสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวล้อมอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดยั้ง และเรายังเชื่อว่า พลังความร่วมมือยังคงเป็นแนวปฏิบัติสำคัญที่องค์กรส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอทั้งภายในและภายนอก เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างประสานประโยชน์ของทุกฝ่าย 


Is this article useful ?