close

6 พ.ย. 2563

จากเศษวัสดุเหลือใช้สู่ผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์: นวัตกรรมเส้นใยจากสับปะรดและพลาสติกรีไซเคิล

หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ แนวปฏิบัติสำคัญที่ เอสซีจี บูรณาการเข้ากับกิจกรรมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องในหลากหลายมิติ การนำเศษวัสดุเหลือใช้อย่างใบสับปะรดและแก้วพลาสติก มาหมุนเวียนใช้โดยผ่านกระบวนคิดเชิงนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างคนในชุมชน และขยายผลต่อยอดไปสู่การสร้างเครือข่ายเพื่อ Open Collaboration เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จที่เอสซีจีภาคภูมิใจ

เริ่มคิดจากบริบทแบบท้องถิ่น
แต่เดิมนั้น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าแสนใย คนแสนวิถี อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เน้นทอแต่ผ้าจุลกฐินด้วยกี่โบราณเพียงเดียว ต่อมาในปี 2558 พัทธกานต์ วัฒนสหโยธิน ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอปลวกแดง เริ่มมีแนวคิดในการทอผ้าทอมือย้อมใบมังคุดตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าออกจำหน่าย ระหว่างนั้นก็มีการมองหาว่า วัตถุดิบอะไรในครัวเรือนที่จะสามารถนำมาต่อยอดเป็นผ้าที่สะท้อนเรื่องราวของชุมชนได้บ้าง

ผอ.พัทธกานต์และทีมงานเลยมองกลับไปที่คำขวัญของอำเภอ ซึ่งมีท่อนหนึ่งว่า “สับปะรดหวานฉ่ำ” ทั้งนี้สับปะรดเป็นผลไม้ที่มีอยู่ทั่วไปของที่นี่ เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวเกษตรกรก็จะเอาหักเอาแค่ผล ส่วนใบก็เหลือทิ้ง เธอตั้งสมมติฐานว่า ความเหนียวของใบสับปะรดน่าจะนำมาทอเป็นผ้าได้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนานวัตกรรมเส้นใยจากใบสัปปะรด

จากความพยายามในลองผิดลองถูกบวกกับการศึกษาจุดดีจุดด้อยจากตัวอย่างผ้าใยสับปะรดของประเทศฟิลิปปินส์ สู่การปรับกระบวนการเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผู้ใช้งาน พัทธกานต์และทีมงานประสบความสำเร็จในการผลิตผ้าใยสับปะรดในปี 2561 โดยใช้เส้นใยสับปะรดผสมกับเส้นใยฝ้ายในอัตราส่วน 40 ต่อ 60 โดยนวัตกรรมเส้นใยจากผ้าใยสับปะรดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าแสนใย คนแสนวิถี นำเอาข้อดีเรื่องความเหนียวของเส้นใยสับปะรดมาผนวกกับความนุ่มของเส้นใยฝ้ายได้อย่างลงตัว

“ข้อดีของผ้าใยสับปะรด คือ ความเหนียว ทนต่อน้ำยาซักผ้าและการปั่นซักด้วยเครื่อง จึงช่วยยืดอายุการใช้งานของผ้าได้มากกว่า รวมทั้งเนื้อผ้าก็จะมีเสน่ห์ที่สีของใยสับปะรดจะอยู่ในเนื้อผ้า พร้อมกับคุณสมบัติช่วยขัดผิวระหว่างการสวมใส่ ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบง่าย ๆ ด้วยการนำเส้นใยไปตำในครกหินเพื่อกำจัดความคมของปลายใย ทำให้ผ้านุ่มขึ้น แก้ปัญหาเนื้อผ้าขูดผิวจนระคายเคืองจากเดิมที่พบในผ้าใยสับปะรดของฟิลิปปินส์ อีกอย่างหนึ่งคือ เส้นใยสับปะรดจะดูดซับเหงื่อของเราได้ดีจึง สวมใส่สบาย” ผอ.พัทธกานต์กล่าว

การพัฒนากระบวนการผลิตนั้น นอกเหนือจากการคิดค้นวิธีการ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของเส้นใยให้ดีแล้วยังรวมถึงการประยุกต์เครื่องรีดใบ จากเดิมที่ต้องใช้แรงงานขูดใบด้วยช้อน เครื่องรีดใบที่ดัดแปลงขึ้นใหม่นี้ช่วยให้รีดเส้นใยออกมาได้เร็วขึ้น และลดปัญหาการกระตุกใบกลับของเครื่องแบบเดิมที่มีในท้องตลาด ทั้งหมดเกิดจากการพัฒนาโดยกลุ่มชาวบ้านเองทั้งสิ้น

เพราะพันธมิตรที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ

“เราเจอกับทางเอสซีจีในงานแสดงสินค้า และได้ทราบว่าบริษัทมีการวิจัยเรื่องเส้นใยพลาสติกจากการรีไซเคิล จึงได้ทำการทดลองร่วมกันว่าจะผสมเส้นใยพลาสติกเข้ากับผ้าได้อย่างไรบ้าง” ผอ. พัทธกานต์เล่าย้อน

ผืนผ้าที่ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าแสนใย คนแสนวิถี ผลิตขึ้นนั้นใช้เส้นใยธรรมชาติเป็นเส้นยืน (แนวตั้ง) และใช้เส้นใยพลาสติกเป็นเส้นพุ่ง (แนวนอน) ทั้งนี้ทีมงานยังอยู่ระหว่างการพัฒนาสูตรผสมของเส้นใยที่เหมาะสมว่าควรใช้อัตราส่วนเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับกระบวนการทอ แม้ว่าอาจจะมีความยุ่งยากและท้าทายกว่าการทอฝ้ายธรรมดาเพราะฝ้ายมีความนุ่มจึงสามารถเกาะเกี่ยวเส้นใยให้ไม่หลุดรุ่ย แต่ด้วยคุณสมบัติของเส้นใยพลาสติก คือ ความลื่น ผืนผ้าที่ออกมาอาจยังมีรูปทรงไม่คง จึงจำเป็นต้องใช้ทักษะความชำนาญในขั้นตอนการทอมากขึ้น อย่างไรตามก็นี่ถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมือ เพื่อขยายโอกาสในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

นอกเหนือจากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ ต่อยอดสู่การพัฒนาเส้นใยพลาสติกสำหรับการผลิตผืนผ้าที่สวยงามและใช้งานได้ดี ทางเอสซีจียังให้การสนับสนุนเครื่องมือในการต่อยอดอาชีพเพิ่มเติม เช่น การมอบกี่กระตุก ซึ่งช่วยเพิ่มความเร็วให้กับการผลิตได้มากกว่า กี่โบราณที่ใช้งานกันอยู่ รวมถึงการจัดกิจกรรมที่ช่วยยกระดับกลุ่มจนได้รับเป็นตัวแทนในการต้อนรับหน่วยงานสำคัญในระดับจังหวัดและระดับประเทศ

“การทอผ้าจากเส้นใยพลาสติกไม่ได้ช่วยแค่เรื่องการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ แต่ยังช่วยเรื่องการเปลี่ยนมุมมอง ความรู้สึกและสร้างจิตสำนึกของชาวบ้านในการจัดการขยะในครัวเรือนได้มากขึ้น เริ่มคิดเวลาจะใช้พลาสติก เริ่มช่วยแยกขยะ อย่างแก้วกาแฟพลาสติก เพราะได้รู้ว่าถ้าเราแยกขยะ ขยะเหล่านี้จะนำกลับมาใช้ได้ ทำให้เกิดประโยชน์และคุณค่าในตัวมันเพิ่มขึ้น” ผอ.พัทธกานต์กล่าวทิ้งท้าย

เอสซีจี ยังคงมุ่งมั่นปลูกฝังแนวคิดการส่งเสริมหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่นำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวันของทุกคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมมีส่วนสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนของรายได้ของคนในชุมชน ไปพร้อมกับการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ 


Is this article useful ?