close

26 ต.ค. 2563

เงินทองจากกองขยะ ตอนที่ 4: ถอดบทเรียนการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน “ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่”

เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนความสำเร็จการจัดการขยะจาก 12 โครงการต้นแบบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมตามบริบท โดยในบทความนี้ขอนำเสนอภาพความสำเร็จการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ “ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่” 

จุดเปลี่ยนความคิด
แม้ขยะจะไม่ได้เป็นปัญหาเชิงกายภาพของคนในชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เพราะที่นี่เป็นชุมชนของซาเล้งเก็บขยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่ประกอบไปด้วยผู้ผลิต ผู้ประกอบการ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ผู้ค้าปลีก และผู้จัดการขยะ แต่ขยะกลับเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาความขัดแย้งของคนในชุมชน ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ พีรธร เสนีย์วงศ์ หัวหน้าทีมซาเล้งเก็บขยะ ที่ทำอาชีพนี้มานานกว่า 30 ปีแล้ว รับรู้และต้องการแก้ไข

แต่เดิมนั้นรายได้เฉลี่ยที่ได้จากการเก็บขยะของซาเล้งชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ อยู่ที่ 300 กว่าบาทเท่านั้น ซึ่งนั่นมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างชัดเจน และกว่า 30 ครัวเรือน ก็ขับรถซาเล้งเก็บขยะเหมือนกันด้วย พอออกไปเก็บขยะ ก็มีการทับที่ทับทางกัน จนทำให้ทะเลาะเบาะแว้งกัน และบั่นทอนความสามัคคีของคนในชุมชน

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้พีรธรตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ถ้าไม่ต้องใช้เงินเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนซื้อกับคนขายจะเป็นอย่างไร จะอยู่กันได้ไหม” จากนั้นเขาจึงนำเงินที่พอมีเหลือติดตัวอยู่ประมาณ 2,000 บาท ไปซื้อของใช้ที่จำเป็น เช่น ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม แล้วให้คนในชุมชนนำขยะมาแลกสินค้าตามราคาที่กำหนดไว้

“เราจะมีราคาของขยะแต่ละประเภทกำหนดไว้ เช่น ขวดพลาสติกกิโลละ 3 บาท ขวดแก้วกิโลละ 5 บาท กระดาษกิโลละ 4 บาท ราคานี้จะขึ้นลงตามราคาตลาด ถ้าคุณอยากได้ยาสระผมราคา 20 บาท คุณไม่ต้องใช้เงินซื้อ แต่เอาขยะที่รวมกันได้ราคา 20 บาท มาจ่ายแทน” พีรธรกล่าวเสริม

เพราะขยะทำให้เรามีชีวิต
วิธีการดังกล่าวมีแต่คนได้ ผู้ซื้อได้ของไปใช้โดยไม่ต้องเสียเงิน แถมยังได้ลดขยะในบ้านตัวเอง ส่วนพีรธรเองซึ่งเป็นผู้ขายที่เมื่อก่อนต้องออกไปเหนื่อยหาขยะ แต่ทำแบบนี้ ขยะจะเดินมาหาเราเอง แถมได้จำนวนขยะมากกว่าเดิมด้วย นอกจากนี้ เมื่อมีขยะมากขึ้น ก็ไม่ต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลางให้กดราคา แต่นำขยะไปขายกับโรงงานเจ้าใหญ่ที่รับซื้อปลายทางได้ นั่นทำให้ซาเล้งมีอำนาจต่อรองในการขายขยะ

จากที่เคยมีรายได้เฉลี่ยวันละประมาณ 300 กว่าบาท พุ่งไปแตะที่เฉียด 600 บาทต่อวัน และพีรธรยังมีเวลาว่างให้ครอบครัวด้วย แต่เมื่อหันมามองชุมชนของตัวเองก็พบว่า กว่า 120 หลังคาเรือนในชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ปัญหาเดิม ๆ ยังคงมีอยู่ และในอาคตคงมีปัญหาอื่นอีกที่ตามมา และนั่นป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาใช้ “ขยะ” เป็นตัวสร้างความสัมพันธ์ให้กับคนของชุมชนที่นี่

ความสำเร็จสำคัญของโครงการ
“เมื่อใดที่ผู้คนรู้สึกว่าขยะมีคุณค่า เมื่อนั้นผู้คนจะลุกขึ้นมาคัดแยกและจัดการขยะเองโดยไม่ต้องร้องขอ” นี่คือความเชื่อของพีรธร และกลายมาเป็นความเชื่อของคนทั้งชุมชนที่ลงมือแยกขยะอย่างอัตโนมัติ เพราะถ้าคนใดคนหนึ่งไม่ทำให้เป็นนิสัย ก็อาจจะสูญเสียโอกาสหลายอย่าง เช่น โอกาสในการมีกินมีใช้ มีรายได้ มีสวัสดิการ และที่มากกว่านั้น บางทีคน ๆ นั้นอาจจะกลายเป็นคนแปลกแยกจากชุมชน โดยทุกวันนี้แทบไม่มีใครในชุมชนฯ คัดแยกขยะไม่เป็น ขนาดเด็กน้อยอายุแค่ 6-7 ขวบ ยังจัดการแยกขยะด้วยความถูกต้องคล่องแคล่ว นั่นเพราะเป็นเรื่องปกติที่ทำอยู่ทุกวี่วัน

จากเงิน 2,000 บาท ที่พีรธรใช้เป็นเงินลงทุนตั้งต้น เพื่อเปิด “ร้านค้าศูนย์บาทพลัส” ร้านค้าในชุมชนฯ ที่ใช้ขยะแทนเงิน กุศโลบายอันแยบยลที่ชักชวนให้คนในชุมชนแยกขยะที่ต้นทางได้มากขึ้น เพราะถ้าไม่แยกขยะ ก็จะไม่สามารถนำมาใช้แทนเงินสดซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่ต้องการจากร้านแห่งนี้ได้ ที่นี่ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะความกลมเกลียว และส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีของทุกคนที่แวะเวียนมาร้านนี้

อีกหนึ่งความสำเร็จในการจัดการขยะของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ก็คือ “ขยะสวัสดิการ” ซึ่งเป็นการนำขยะมูลค่า 1 บาท มาส่งที่ร้านค้าศูนย์บาทพลัสทุกวัน แต่ถ้าชาวบ้านคนไหนไม่สะดวก ก็อาจนำส่งเป็นรายเดือนก็ได้ ซึ่งสวัสดิการที่ว่านี้ครอบคลุมตั้งแต่ค่ารักษาพยาบาล ทุนการศึกษา และเงินช่วยเหลือสำหรับงานฌาปนกิจ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของขยะที่ถูกใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในชุมชนแห่งนี้

ดาวน์โหลด Waste to Wealth... เงินทองจากกองขยะ ได้ที่ https://www.scg.com/ebook-watse-to-wealth


Is this article useful ?