close

12 ต.ค. 2563

เงินทองจากกองขยะ ตอนที่ 1: ถอดบทเรียนการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน “ชุมชนบ้านรางพลับ”

เอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนความสำเร็จการจัดการขยะจาก 12 โครงการต้นแบบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมตามบริบท โดยในบทความนี้ขอนำเสนอภาพความสำเร็จการจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ “ชุมชนบ้านรางพลับ” 

ปัญหาขยะไม่ใช่แค่เรื่องความสะอาด
ครั้งหนึ่งหมู่บ้าน “รางพลับ” เคยมีขยะจำนวนมาก ในแต่ละเดือน มีจำนวนขยะมากถึง 12 ตันต่อเดือน และหากขยายเวลาออกเป็นรายปี ตัวเลขขยะในพื้นที่จะพุ่งสูงขึ้นไปถึงเกือบ 150 ตัน นั่นเพราะผู้คน 1,236 ชีวิต จาก 358 หลังคาเรือน ยังไม่รู้จักการคัดแยกขยะ หลายพื้นที่ของหมู่บ้านเต็มไปด้วยขวดและถุงพลาสติกที่ถูกโยนทิ้งเกลื่อนกลาด

ปัญหาขยะนอกจากจะส่งผลเรื่องทัศนียภาพของชุมชนแล้ว ยังสร้างความแตกแยกให้กับคนในชุมชนอีกด้วย โดยปกติเทศบาลจะมาเก็บขยะในชุมชนสัปดาห์ละ 2-3 วัน นั่นทำให้เกิดขยะตกค้างและส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง ซึ่งทำให้แต่ละบ้านก็เริ่มมีการเลื่อนถังขยะไปไว้ที่หน้าบ้านคนอื่น ก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่พอใจกันขึ้นมาอีก นอกจากนั้นโรคระบาดก็ตามมา คนบ้านรางพลับเป็นไข้เลือดออกกันเยอะมาก เพราะน้ำขังจากขยะในหมู่บ้าน กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของยุงลาย

วิสัยทัศน์ของผู้นำ
สนั่น เตชะดี ผู้ใหญ่บ้านรางพลับ
 ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด และเล็งเห็นว่าขยะคือต้นตอของทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนรางพลับนี้ ดังนั้นหากจัดการปัญหาขยะให้ลดลงได้แล้ว เรื่องอื่น ๆ ก็จะทุเลาเบาบางลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างล้วนต้องใช้เวลากว่าจะประสบผลสำเร็จ

การจัดการขยะของบ้านรางพลับ ยึดนโยบาย 3Rs เป็นหลัก ข้อแรกคือ Reduce หรือการลดการใช้ อะไรที่จะทำให้ขยะเพิ่มขึ้นมา คนรางพลับจะงดใช้ทันที ข้อสอง Reuse การใช้ซ้ำ อะไรที่ใช้ไปแล้ว พวกเขาจะนำกลับมาใช้ใหม่จนกว่าจะใช้ไม่ได้อีก และข้อสุดท้าย Recycle ขยะส่วนนี้ ชาวบ้านจะแยกเก็บไว้ให้เทศบาลนำไปแปรรูปให้เป็นประโยชน์ต่อไป ส่วนขยะอันตราย ได้แก่ หลอดไฟหรือเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ คนในชุมชนจะนำไปไว้ที่ศาลากลางหมู่บ้าน ซึ่งเป็นจุดทิ้งขยะอันตรายที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ผู้ใหญ่สนั่นยังทำให้ขยะมีมูลค่า ด้วยการทำข้อตกลงกับผู้รับซื้อขยะและของเก่าในพื้นที่ ให้รับซื้อขยะจาก บ้านรางพลับในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป นั่นทำให้ชาวบ้านยิ่งเอาจริงเอาจังกับการจัดการขยะมากยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนขยะที่ขายไม่ได้ จำพวกขยะแห้งหรือเศษอาหาร จะถูกนำมาเป็นปุ๋ยหมักอินทรีย์เพื่อใช้ปลูกข้าวและผักสวนครัว

ความสำเร็จสำคัญของโครงการ
ผู้ใหญ่สนั่นและทีมงานที่ขับเคลื่อนโครงการฯ ยังส่งเสริมและสนับสนุนเรื่องการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียน และนำเยาวชนรุ่นใหม่มาร่วมมีบทบาทในการพัฒนาหมู่บ้าน โดยให้เด็ก ๆ เป็นไกด์พานักท่องเที่ยวเดินชมการทำงานของชุมชน นับว่าเป็นการปลูกฝังเรื่องการจัดการขยะให้กับคนรุ่นต่อไปในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นของบ้านรางพลับในเรื่องของการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง คือการใช้นวัตกรรมมาจัดการขยะ และนวัตกรรมที่โดดเด่นที่สุดของที่นี่ก็คือ “ถังหมักรักษ์โลก” ซึ่งผลิตขึ้นจากถังพลาสติก 3 ใบ ถังใบแรก นำมาเจาะรูให้ทั่วที่ด้านล่างของถัง ถังใบที่ 2 เจาะรูเล็ก ๆ รอบขอบด้านข้าง พร้อมกับนำก้นถังออก แล้วนำมาวางคว่ำครอบบนถังใบแรก ส่วนถังใบสุดท้าย ตัดก้นถังออก แล้วนำมาครอบถังใบที่ 2 จากนั้น ก็ปิดฝา แล้วนำถังหมักรักษ์โลกฝังลงในดิน นำเศษอาหารที่ย่อยสลายไม่ยากนักเทใส่ลงไป จุลินทรีย์และสัตว์ในชั้นดินต่าง ๆ ก็จะย่อยสลายเศษอาหารเป็นธาตุอาหารแพร่ลงสู่ดิน ทำให้พืชผักเติบโตงอกงาม โดยที่ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยอะไรเลย เป็นการเติมธาตุอาหารให้ดินโดยอัตโนมัติ

แม้จะได้รางวัลต่าง ๆ มากมายสักเท่าใด ไม่ว่าจะเป็นรางวัลชนะเลิศชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ประเภทชุมชนขนาดใหญ่ ประจำปี 5562 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โครงการสะอาดบุรี ซึ่งทั้งสองรางวัล ถือเป็นรางวัลระดับประเทศ จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในระดับจังหวัด แต่นั่นคงเทียบไม่ได้กับรางวัลสูงสุด ที่ทุกคนในชุมชนได้รับในทุก ๆ วัน นั่นคือ “คุณภาพชีวิตที่ดี”

ดาวน์โหลด Waste to Wealth... เงินทองจากกองขยะ ได้ที่ https://www.scg.com/ebook-watse-to-wealth/


Is this article useful ?