งาน SD Symposium 10 Years Circular Economy: Collaboration for Action เมื่อเดือนกันยายนของปี 2019 คือบทพิสูจน์ความสำเร็จของ Circular Way แนวปฏิบัติที่เอสซีจีตั้งใจและมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรให้เป็นต้นแบบของบริษัทในประเทศไทยที่ขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในปัจจุบัน เอสซีจียังคงมุ่งมั่นผลักดันแนวคิดและแนวปฏิบัติดังกล่าวให้กับทุกฟังก์ชันขององค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้โมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโมเดลนี้ ได้รับการยอมรับมากขึ้นและถูกนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลาย
ความท้าทายเรื่อง “ขยะมูลฝอย” ก็เป็นอีกหนึ่งวาระระดับประเทศที่เอสซีจีให้ความสำคัญและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาผ่านการบูรณาการหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยใช้เป็นฐานคิดและแนวปฏิบัติในการหาทางออกให้กับวิกฤตอย่างมีระบบและยั่งยืน
เริ่มต้นในองค์กร ขยายผลสู่ชุมชน
โครงการจัดการขยะภายในองค์กรที่มีชื่อว่า “บางซื่อโมเดล (Bang Sue Model)” คือสูตรสำเร็จของเอสซีจีในการประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งให้ความสำคัญกับการหมุนใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ สินค้าที่หมดอายุ และพลังงาน ให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม นอกจากนี้โมเดลดังกล่าวยังเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่ช่วยรองรับขยะที่เกิดขึ้นและนำกลับเข้าสู่วงจรการรีไซเคิล และที่สำคัญยังเอื้อต่อการส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกของพนักงานภายใต้แนวคิด ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก
โครงการจัดการขยะภายในองค์กรของเอสซีจีนี้ประสบความเร็จในระดับน่าพอใจ เพราะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องทิ้งในบ่อฝังกลบ เพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิลได้อย่างต่อเนื่อง และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากความสำเร็จภายในองค์กรนำไปสู่การขยายผลกับชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ได้แก่ ชุมชนโขดหิน 2 ชุมชนโขดหินมิตรภาพ ชุมชนเขาไผ่ วัดโขดหิน โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 และธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่เอสซีจีได้เข้าไปพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยโครงการที่ต่อยอดมาสู่ชุมชนดำเนินงานภายใต้ชื่อ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ที่เชื่อมโยงการจัดการขยะระหว่าง บ้าน-โรงเรียน-วัด-ธนาคารขยะ เพื่อสร้างต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรและขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล ควบคู่กับการลดปริมาณการฝังกลบขยะ และมีแนวทางการดำเนินโครงการมุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านผู้นำชุมชน สู่สมาชิกของชุมชนในเรื่องของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการผลักดันและให้ความรู้ในด้านต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญของเอสซีจีโดยเฉพาะ
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวดำเนินงานมาแล้วกว่า 1 ปี สามารถนำขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากถึง 6,500 กิโลกรัม และลดปริมาณขยะที่ถูกนำไปกำจัดในหลุมฝังกลบได้เป็นจำนวนมาก โดยเอสซีจีตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนชุมชนและครัวเรือนให้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้จังหวัดระยองพัฒนาสู่เมืองไร้ขยะต่อไปในอนาคต
นวัตกรรม: โซลูชันเพื่อความยั่งยืน
นอกเหนือจากการเป็นองค์กรต้นแบบเรื่องความยั่งยืน ที่ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นพื้นฐานเพื่อการสร้างเสริมค่านิยมที่ดีให้กับบุคลากรและขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงแล้ว เอสซีจียังให้ความสำคัญกับการนำดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืน หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ “คุ้มค่า” (KoomKah) เว็บแอปพลิเคชันที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธนาคารขยะแบบครบวงจร ซึ่งถูกนำมาบูรณาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงการ “บางซื่อโมเดล (Bang Sue Model)” และโครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” โดยเครื่องมือดังกล่าวช่วยบันทึกจัดเก็บข้อมูลขยะและจำนวนยอดเงินจากการซื้อขาย มีระบบจะช่วยจัดเก็บข้อมูลสมาชิก รวมถึงประวัติการแลกแต้มสะสมคะแนน ช่วยจัดระเบียบข้อมูลสินค้าขยะแต่ละประเภท เงินทุนและแต้มสะสมจากการรับซื้อสินค้า ทำให้วางแผนกลยุทธ์การซื้อขายได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยจัดทำรายงานรับซื้อและขายขยะ (Report) ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกช่วงเวลาประมวลผล และดาวน์โหลดไฟล์ออกมาในรูปแบบ Excel ซึ่งง่ายต่อการนำข้อมูลมาคำนวณในรูปแบบต่าง ๆ
นอกจากนี้ การคิดค้นและการพัฒนานวัตกรรมชุดบำบัดน้ำเสียก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ ที่เอสซีจีประยุกต์ใช้ความรู้ด้านนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยประกอบไปด้วย
- ถังดักไขมันแบบ DIY ผลิตจากวัสดุที่หาซื้อได้ทั่วไป ราคาประหยัด สามารถประกอบได้ง่าย ติดตั้งได้ในครัวเรือนได้ทันที นำไปใช้กรองเศษอาหาร และช่วยแยกไขมันออกจากน้ำก่อนปล่อยน้ำทิ้งสู่ท่อระบายน้ำ
- Aquonic 600 ช่วยขจัดและปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียจากห้องน้ำและน้ำเสียในครัวเรือนด้วยกระบวนการทางชีวภาพและเคมีไฟฟ้า ทำให้น้ำที่ได้ปราศจากเชื้อโรค สี และกลิ่น สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นวัตกรรมนี้ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากระบบสุขาปลอดเชื้อที่ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมพัฒนาขึ้นกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิบิล และเมลินดา เกตส์
- นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ HDPE-Bone ซึ่งพัฒนาขึ้นจากทุ่นดักขยะแบบแนวตรง (Oil Boom) ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้คิดค้นขึ้นเมื่อปี 2561 นวัตกรรมนี้ผลิตพลาสติกเกรดพิเศษ HDPE ทำให้ทุ่นฯ สามารถลอยน้ำได้ดีขึ้น จัดเก็บขยะลอยน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ทนทานต่อรังสียูวี อายุการใช้งานยาวนาน 25 ปี ประกอบและติดตั้งได้ง่ายขึ้น และสามารถนำกลับมารีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกด้วย
นวัตกรรมทั้งสามชนิดนี้มีส่วนช่วยในการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งจากครัวเรือนก่อนปล่อยออกสู่คลองเปรมประชากร โดยก่อนหน้านี้มีการติดตั้งนวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ HDPE-Bone จำนวน 24 จุด รวม 13 จังหวัดทั่วประเทศ และสามารถกักขยะได้กว่า 40 ตัน โดยเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งเทศบาลในพื้นที่ ร่วมเก็บขยะและคัดแยกขยะเพื่อนำไปจัดการอย่างถูกต้องต่อไป
สร้างความร่วมมือ ขยายผลแนวคิด
แม้ว่าการปลูกฝังเรื่องหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เกิดขึ้นกับทุกคนในองค์กร และการส่งผ่านแนวคิดนี้ไปให้กับชุมชนในพื้นที่ เป็นเรื่องที่เอสซีจีดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่กุญแจสำคัญของความสำเร็จในการผลักดันแนวคิดที่เป็นมิตรกับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ยังรวมถึง Open Collaboration ด้วย
การสร้างภาคีเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เอสซีจีได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในระดับประเทศนั้น กรมทรัพยากรทางชายฝั่งทะเล (ทช.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานรัฐที่ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอสซีจี และความร่วมมือในระดับนานาชาตินั้น เอสซีจีได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรต่าง ๆ อาทิ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแห่งเดียวในโลกที่มีสมาชิกประกอบไปด้วยบริษัทที่มาจากทุกภาคส่วนในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อแก้ปัญหาขยะในทะเลผ่านการสร้างโซลูชันที่ช่วยจัดการขยะ และ The Ocean Cleanup องค์กรสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก โดยร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาขยะทะเลในประเทศไทย เป็นต้น
แม้ว่าปัญหาขยะในประเทศอาจจะยังไม่สามารถแก้ไขให้คลี่คลายและลดความรุนแรงลงได้โดยทันที แต่เอสซีจีคงมุ่งมั่นกับการรณรงค์และการปลูกฝังความรู้เรื่องการจัดการขยะให้กับทุกภาคส่วนผ่านโครงการต่าง ๆ การคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานของโครงการ และการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายเพื่อหาโซลูชันทั้งในและนอกประเทศ โดยมีหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นพื้นฐาน ซึ่งจะส่งเสริมให้ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน