close

3 ส.ค. 2563

ECO FACTORY แนวปฏิบัติเพื่อธุรกิจมั่นคง ชุมชนน่าอยู่ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน

ภายใต้กลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่เอสซีจียึดเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ นอกจากจะมุ่งเน้นไปที่การคิดค้นและการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมแล้ว การบริหารจัดการอุตสาหกรรมโดยมุ่งเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไป ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เอสซีจีให้ความสำคัญอย่างจริงจังและปฏิบัติมาโดยตลอด

Eco factory หรือ โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ คืออะไร?

โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) คือ โรงงานอุตสาหกรรมที่ยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาชุมชนและการส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชน คำนิยามดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในปี 2557 และครอบคลุมกรอบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั้ง 5 มิติ ได้แก่ กายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ


เกณฑ์การประเมิน Eco Factory 14 ข้อ 

โดยบริษัทที่จะถูกรับรองให้เป็น Eco Factory ได้จะต้องผ่านการประเมินจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ภายใต้เกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco Efficiency) และตัวชี้วัดทางด้านสังคม (Impact Evaluation) ซึ่งประกอบไปด้วย 14 ประเด็น ดังนี้

  • ประเด็นที่ 1 การจัดการวัตถุดิบ

    การดำเนินมาตรการ ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง กระบวนการหรือเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิตและการบริการ
  • ประเด็นที่ 2 พลังงาน 

    การดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงาน เช่น ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตหรือเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อลดปริมาณการใช้พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
  • ประเด็นที่ 3 การขนส่งและโลจิสติกส์

    ลดการใช้ทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง การเพิ่มประสิทธิภาพ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอัตโนมัติกับระบบขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการขนส่งและโลจิสติกส์
  • ประเด็นที่ 4 โซ่อุปทานสีเขียว

    เพื่อส่งเสริมนโยบายการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน โดยการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) หมายถึง การจัดซื้อการจัดจ้างสินค้า และบริการที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับสินค้าและบริการประเภทเดียวกัน โดยพิจารณาตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตทุกขั้นตอน ฉลากสิ่งแวดล้อม หมายรวมทั้งฉลากประเภทที่ 1, 2 และ 3
  • ประเด็นที่ 5 ภูมิทัศน์สีเขียว

    การเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งภายในและภายนอกโรงงาน และมีการจัดการผังและบริเวณ   ภูมิทัศน์สีเขียว
  • ประเด็นที่ 6 การจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย

    ลดการรั่วไหลของสารเคมีและวัตถุอันตราย ตลอดจนไม่มีเหตุการณ์การรั่วไหลหรืออุบัติเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อพนักงาน ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมภายนอก
  • ประเด็นที่ 7 การจัดการน้ำและน้ำเสีย

    การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency) เพื่อลดการเกิดน้ำเสียและปล่อยน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน และการลดวอเตอร์ฟุตพรินต์ขององค์กร
  • ประเด็นที่ 8 การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

    การดำเนินมาตรการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลง กระบวนการผลิตหรือเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการบริการ
  • ประเด็นที่ 9 การจัดการมลภาวะอากาศ

    การดำเนินมาตรการ ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง กระบวนการหรือเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อลดปริมาณมลภาวะทางอากาศที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • ประเด็นที่ 10 การจัดการกากของเสีย

    ลดการนำของเสียไปฝังกลบและนำของเสียกลับมาใช้ โดยของเสีย หมายรวมถึง ขยะทั่วไป และขยะอันตราย และการนำของเสียหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ หมายรวมถึง ใช้ในกระบวนการผลิตหรือส่งไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตของโรงงานอื่น
  • ประเด็นที่ 11 ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน 

    พนักงานมีความปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดีในการทำงาน ซึ่งเกิดจากสภาพพื้นที่ทำงาน สภาวะแวดล้อมที่ดีในการทำงาน เช่น ด้านคุณภาพอากาศ แสง เสียง และความร้อนในพื้นที่การทำงาน เป็นต้น มีการดูแลสุขภาพพนักงานด้านอาชีวอนามัย และมีการวิเคราะห์และป้องกันความเสี่ยงจากอันตรายที่เกิดจากการประกอบกิจการ
  • ประเด็นที่ 12 ความหลากหลายทางชีวภาพ 

    การลดอัตราการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและการแยกการกระจัดกระจายของแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของทรัพยากรชีวภาพ
  • ประเด็นที่ 13 การกระจายรายได้ให้กับชุมชน

    การสร้างอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้ใหม่ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อให้คนในชุมชนมีอาชีพและรายได้ รวมทั้งเกิดการเกื้อกูลกันระหว่างโรงงานและชุมชน ทั้งนี้ การสร้างรายได้ใหม่ที่มั่นคงและยั่งยืน ได้แก่ การส่งเสริมการฝึกทักษะหรือพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างอาชีพใหม่ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการของโรงงาน
  • ประเด็นที่ 14 การอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบ

    สื่อสารและเผยแพร่ข้อมูล การจัดการความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม สารเคมีของโรงงาน และเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชน ตลอดจนโรงงานนำหลักการระบบการจัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000) หรือ CSR DIW มาปฏิบัติอย่างจริงจัง เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยขอบข่ายของความรับผิดชอบต่อสังคม มี 7 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.1) ธรรมาภิบาล 1.2) สิทธิมนุษยชน 1.3) การปฏิบัติด้านแรงงาน 1. 4) สิ่งแวดล้อม 1.5) การปฏิบัติที่เป็นธรรม 1.6) ประเด็นด้านผู้บริโภค และ 1.7) การมีส่วนร่วมของชุมชนและการพัฒนาชุมชน

ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ผู้นำนวัตกรรมด้านพลาสติกและเคมีภัณฑ์  มีความตั้งใจและทุ่มเทในการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยในปี 2557 บริษัท ระยอง โอเลฟินส์ จำกัด และ บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้นำเกณฑ์ของการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มาประยุกต์ใช้และยกระดับระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม จนสามารถผ่านเกณฑ์ และได้รับการรับรองจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสองแห่งแรกในประเทศไทย

ต่อมาในปี 2558 บริษัทที่เหลือใน ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จำนวน 10 บริษัท 12 โรงงาน ได้ดำเนินการตรวจประเมินตามเกณฑ์โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) และได้รับการรับรองจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำให้ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เป็นต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ได้การรับรองครบทุกโรงงาน 100% แห่งแรกของประเทศไทย นั่นหมายถึงทุกบริษัทของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มีส่วนร่วมในการการส่งเสริมให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และผ่านเกณฑ์มาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั้ง 14 ข้อ


ตัวอย่างโครงการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ความมุ่งมั่นของเอสซีจีที่ต้องการดำเนินธุรกิจให้เติบโต บนพื้นฐานของการดำรงอยู่ร่วมกันกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน สะท้อนผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่บริษัทได้ลงมือทำด้วยความตั้งใจจริง ในมิติด้านกายภาพ มีการปลูกต้นไม้นานาชนิดเพื่อเป็นแนวป้องกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับชุมชน (Protection Strip) มีพื้นที่สีเขียวกว่า 293 ไร่ มีต้นไม้ประมาณ 52,600 ต้น สร้างพื้นที่สีเขียวภายในบริเวณโรงงานกว่าร้อยละ 19.5 ของพื้นที่ทั้งหมด (1,700 ไร่) และยังมีการตรวจสอบมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและแจ้งให้ชุมชนรับทราบเป็นประจำทุก 3 เดือน ในมิติด้านการบริหารจัดการ เอสซีจีคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยตอบโจทย์ประเด็นสิ่งแวดล้อม

นวัตกรรมหอเผาไร้ควัน (Enclosure Ground Flare) 

นวัตกรรมที่ใช้หลักการเคลื่อนที่ของอากาศที่เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิแทนการใช้ไอน้ำแรงดันสูง เพื่อดึงอากาศสำหรับการเผาไหม้ ช่วยลดเสียงดังจากไอน้ำ เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์กว่า และไม่มีควัน เพราะเปลวไฟจะเกิดขึ้นภายในห้องเผาไหม้ ทำให้ไม่มีแสงสว่างและความร้อนออกสู่บรรยากาศ ถือเป็นการบริหารจัดการระบบหอเผาที่คำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบทุกภาคส่วน

โครงการแลกเปลี่ยนสารไฮโดรคาร์บอนระหว่างโรงงาน

โดยนำสารไฮโดรคาร์บอนที่ต้องเผาทิ้งกลับมาใช้ใหม่ (Flare Gas Recovery) โดยเพิ่มระบบการนำสารไฮโดรคาร์บอนที่ต้องเผาทิ้งขณะหยุดเดินเครื่องจักรหรือช่วงเริ่มเดินเครื่องจักร นำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงแทนการเผาทิ้งที่หอเผา โดยสามารถลดการเผาทิ้งสารไฮโดรคาร์บอนได้ 450 ตันต่อครั้ง คิดเป็นลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2,800 ตันต่อครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม

นวัตกรรม emisspro® (อีมิสโปร) 

สารเคลือบเตาเผาและหม้อต้มไอน้ำอุตสาหกรรมรายแรกในประเทศไทย ช่วยลดการสูญเสียความร้อนในกระบวนการผลิต ทำให้ประหยัดพลังงานได้ร้อยละ 2-6 โดยปัจจุบัน เอสซีจี ให้บริการตั้งแต่การให้คำปรึกษา การพ่นเคลือบ ตลอดจนบำรุงรักษาอย่างครบวงจร 

Ci-Bot (Carburization Inspection Robot)

นวัตกรรมหุ่นยนต์ที่ใช้ตรวจสอบค่าคาร์บอนที่แทรกซึมเข้าไปในเนื้อวัสดุของท่อ (Coil ภายในเตาเผาของโรงงานโอเลฟินส์) ที่ต้องทำงานภายใต้สภาวะที่มีความร้อนสูงเป็นเวลานาน ทำให้คาร์บอนแทรกตัวเข้าไปในเนื้อท่อ อันเป็นสาเหตุให้ท่อเกิดเปราะ และนำไปสู่การรั่วหรือแตกหักได้ หุ่นยนต์ Ci-Bot สามารถตรวจวัดสภาพ และประเมินอายุการใช้งานของท่อได้อย่างละเอียด แม่นยำ และรวดเร็ว

โครงการที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

  • พลังงานแสงอาทิตย์

มีการจัดทำโครงการนำร่องการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar PV Rooftop) ที่ให้กำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุด 140.76 กิโลวัตต์ และมีการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มบนทุ่นลอยน้ำในบ่อกักเก็บน้ำของโรงงาน ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุด 1 เมกะวัตต์ โครงการทั้งสองนี้นอกจากจะช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนแล้ว ยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 1,000 ตันต่อปี

  • การจัดการน้ำโดยนำกลับมาใช้ใหม่

ลดการใช้น้ำได้มากกว่า 3.8 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าการบริโภคน้ำของประชากรในมาบตาพุดประมาณ 20 วัน

  • บ้านปลาจากท่อ PE100 

ที่นำท่อ PE100 ที่เหลือจากการขึ้นรูปเพื่อทดสอบคุณภาพเม็ดพลาสติกมาเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่ง เป็นต้น


เอสซีจี ยังให้ความสำคัญกับมิติสังคมและเศรษฐกิจด้วย บริษัทมีสัมพันธ์อันดีกับชุมชน รวมถึงสนับสนุนชุมชนโดยรอบกว่า 10 แห่ง ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น และสามารถพึ่งพาตนเองตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เช่น วิสาหกิจขนมเปี๊ยะ 8 เซียน ของกลุ่มแม่บ้านในหมู่บ้านทิวลิป ชุมชนเนินพยอม ที่ประสบความสำเร็จมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 200,000 บาท และการเพิ่มรายได้ให้กับวิสาหกิจของชุมชนผ่าน “ระยองชอปฮิ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยประชาสัมพันธ์ซื้อขายสินค้าและบริการของชุมชนผ่านสื่อโซเชียล

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันความตั้งใจจริงของ เอสซีจี ของการเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนแนวคิดโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) เพื่อการเติบโตของธุรกิจที่ดำรงอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบและสิ่งแวดล้อมโดยรวมได้อย่างเกื้อกูลกัน  


------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง


Is this article useful ?