เอสซีจี: เก้าอี้รีไซเคิลจากถุงนมโรงเรียน LLDPE
จากความเชื่อมั่นใน หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของเอสซีจี ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความคุ้มค่า การคัดแยกวัสดุและการนำทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาใช้ซ้ำ นำไปสู่ “บางซื่อโมเดล” โครงการต้นแบบจากเอสซีจี ที่เน้นการปลูกฝังแนวคิดดังกล่าวให้กับบุคลากรของบริษัทผ่าน 3 พฤติกรรม คือ #ใช้ให้คุ้ม #แยกให้เป็น #ทิ้งให้ถูก นำไปสู่การลดการสร้างขยะ ทิ้งขยะได้ถูกที่ และสามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้องเพื่อเพิ่มโอกาสการนำวัสดุหมุนเวียนกลับมาใช้งานอีกครั้ง
หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนของเอสซีจีถูกทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นผ่าน ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ โครงการจัดการขยะในจังหวัดระยองที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเอสซีจีมุ่งมั่นสร้างเสริมความร่วมมือกันระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นโครงสร้างที่สำคัญของชุมชน ตลอนจนธนาคารขยะชุมชน เพื่อให้แต่ละหน่วยสามารถขับเคลื่อนการบริหารจัดการจัดการขยะได้อย่างยั่งยืน โดยมีโรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 เป็นอีกความสำเร็จที่เห็นได้ชัด
ร่วมมือกันเพื่อทางออกที่ยั่งยืน
โครงการนมโรงเรียนที่รัฐบาลจัดมีประกาศให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปีงบประมาณ 2535 เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร และภาวะทุพโภชนาการในเด็ก โดยให้เด็กนักเรียนดื่มนมพาสเจอร์ไรส์แบบถุงปีละอย่างน้อย 200 วัน ทำให้เกิดขยะจากถุงนมโรงเรียนทั่วประเทศมากถึง 1,288,891,600 ถุง หรือ 3,532 ตันเป็นอย่างน้อย โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 เองก็ประสบกับปัญหาดังกล่าว ในอดีตปลายทางของขยะจากถุงนมโรงเรียนซึ่งทำจากพลาสติกชนิด LLDPE ส่วนใหญ่จะอยู่ที่หลุมฝังกลบ (Landfill) แต่ก็มีบางครั้งที่ขยะถุงนมเหล่านี้ถูกนำมาพักไว้ก่อนเพื่อรอการจัดเก็บจากเทศบาล ทำให้เกิดปัญหาที่ตามมา 2 ข้อ คือ กลิ่นไม่พึงประสงค์จากน้ำนมบูดที่ตกค้าง และพื้นที่พักขยะถุงนมกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคที่อาจจะเป็นอันตรายต่อนักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนได้
การเข้าถ่ายมาทอดองค์ความรู้เรื่องหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของเอสซีจี ที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากวัสดุให้คุ้มค่าที่สุด ก่อนจะรู้จักการคัดแยกและการทิ้งวัสดุให้ถูกถังเพื่อเพิ่มโอกาสการรีไซเคิลวัสดุเหล่านี้ให้มากขึ้น โดยบริษัทขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวผ่านโครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ช่วยหาทางออกที่ยั่งยืนให้กับขยะจากถุงนมโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นเป็นรูปธรรม โดยมี “เก้าอี้พลาสติกรีไซเคิล” ชิ้นงานที่เป็นผลสำเร็จของความร่วมมือระหว่างเอสซีจีและโรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตัวอย่างที่เกิดจากการรีไซเคิลถุงนมโรงเรียนปริมาณมหาศาลให้ออกมาเป็นชิ้นงานที่ถูกนำไปใช้งานจริงในโรงเรียนแห่งนี้
จากการปลูกฝังให้เด็กนักเรียนรู้จักใช้สิ่งของต่าง ๆ ให้คุ้มค่ามากที่สุดแล้ว การสอนให้พวกเขารู้วิธีการแยกขยะก็เป็นเรื่องสำคัญ การสร้างการมีส่วนร่วมให้เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องดังกล่าวจากสิ่งใกล้ตัวอย่างถุงนม ทำให้พวกเขาเข้าใจวิธีการแยกขยะได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น จากถุงนมที่กินแล้วนำไปทิ้งให้ถูกที่ ปรับเปลี่ยนเป็นการล้างทำความสะอาดและนำถุงนมไปตากให้แห้ง ก่อนจะนำมาเก็บรวบรวมไว้เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการทำ “เก้าอี้พลาสติกรีไซเคิล”
จากความเชี่ยวชาญ สู่การเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม
เอสซีจีเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทยและเป็นผู้ผลิตชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย ได้ใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญเรื่องพลาสติกเข้ามาช่วยจัดการขยะถุงนมที่เกิดขึ้นในโรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 โดยถุงนมโรงเรียนผลิตจากพลาสติกชนิด LLDPE (Linear Low Density Polyethylene) หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ พอลิเอทิลีน (polyethylene) ความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น มีคุณสมบัติเหนียวและยืดหยุ่นสูง แต่ยังทนต่อความร้อนและความดันสูงได้ จึงสามารถนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยระบบสเตอริไลเซชัน (Sterilization) ที่ใช้ความร้อนสูงถึง 121˚C ได้
จากคุณสมบัติที่น่าสนใจของพลาสติกชนิดนี้ เอสซีจีจึงแนะนำให้ใช้ถุงนมโรงเรียนเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นเก้าอี้ให้นักเรียนใช้งานในโรงเรียน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณของขยะพลาสติกที่จะนำไปทิ้งในหลุมฝังกลบได้แล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ดีช่วยให้นักเรียนได้เห็นประโยชน์ของการรีไซเคิลได้อย่างชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นได้ว่าพลาสติกที่พวกเขาช่วยกันล้างและทำความสะอาดอย่างดีนั้นสามารถกลับมามีคุณค่าได้อีกครั้ง
หลังจากถุงนมโรงเรียน LLDPE ที่สะอาดและแห้งถูกจัดส่งจากโรงเรียนมายังโรงงานของเอสซีจีแล้ว จะถูกนำเข้าเครื่องบดให้เหลือขนาด 3-5 มิลลิเมตร แล้วนำไปหลอมรวมกับเม็ดพลาสติกเพื่อปรับปรุงสูตรให้ออกมาเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล กระบวนการบดให้เป็นผงถือเป็นขั้นตอนต่อมาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการใช้งานสูงสุด โดยผงดังกล่าวจะถูกนำไปอบในแม่พิมพ์ผ่านเทคนิคการขึ้นรูปการผลิตที่เรียกว่า Rotational Molding หรือ Rotomolding ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับชิ้นงานพลาสติกที่มีความหนา รูปทรงหลากหลาย โดยเครื่องจักรจะหมุนแม่พิมพ์ไปรอบ ๆ ในขณะให้ความร้อนในอุณหภูมิที่เหมาะสม จนได้ออกมาเป็นชิ้นงานเก้าอี้ที่มีความแข็งแรง ทนทาน และสวยงาม โดยเก้าอี้พลาสติกรีไซเคิล 1 ตัว ใช้ถุงนมที่แห้งและสะอาดประมาณ 600 ถุงในการผลิต ในปัจจุบันเอสซีจีได้กำลังศึกษาสูตรให้สามารถนำถุงนมพลาสติกมารีไซเคิลได้ในจำนวนที่มากขึ้น รวมถึงการนำขยะพลาสติกชนิดอื่น ๆ มาสร้างประโยชน์ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้เอสซีจีมีความเชี่ยวชาญในการขึ้นรูปชิ้นงานพลาสติกด้วยกระบวนการโรโตโมลดิ้ง พร้อมให้บริการครบวงจรตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบชิ้นงานโดยคำนึงถึงความต้องการและวัตถุประสงค์การใช้งานสินค้า การออกแบบแม่พิมพ์ (mold) ให้เหมาะสมกับชนิดของพลาสติก รวมถึงการคิดค้นและปรับปรุงสูตรให้เหมาะสม และมีเจ้าหน้าที่เทคนิคพร้อมให้คำปรึกษา สามารถติดต่อได้ที่ rotomolding@scg.com
เก้าอี้พลาสติกรีไซเคิลจากถุงนมโรงเรียน LLDPE เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จที่ถูกคิดขึ้นบนพื้นฐานของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากวัสดุอย่างคุ้มค่า ก่อนจะเข้าสู่การคัดแยกและการทิ้งให้ถูกต้อง เพื่อเพิ่มโอกาสในการนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำ โดยเอสซีจีถือเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมและมุ่งมั่นในการเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวให้แพร่หลายมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างและขยายเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรรมให้เพิ่มมากขึ้น ผ่านการประยุกต์ใช้ความเชี่ยวชาญของบุคลากรในองค์กรให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืน