close

15 มิ.ย. 2563

จากปัญหาสู่ทางออก: นวัตกรรมแก้ปัญหาขยะในทะเลจากเอสซีจี

“การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” คือหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ใช้เป็นกรอบกำหนดทิศทางการพัฒนาของโลกภายหลังปี ค.ศ. 2015 แนวคิดดังกล่าวถูกขับเคลื่อนผ่านภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนของทุกประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยบริษัทชั้นนำอย่างเอสซีจี ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาขยายผลสู่การบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อการอนุรักษ์ทะเลอย่างยั่งยืน และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยพิทักษ์และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมตามแนวชายฝั่งและในทะเลอย่างต่อเนื่อง

ยกระดับโซลูชันด้วยนวัตกรรมและดิจิทัล
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่าในปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณขยะจำนวน 7.36 ล้านตัน ที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องและไหลลงสู่ทะเลผ่านทางแม่น้ำ-ลำคลอง จากปริมาณรวมทั้งหมด 27.8 ล้านตัน เมื่อพิจารณาแหล่งที่มาของขยะทะเล พบว่า 80% ของขยะที่ตกค้างในทะเลมาจากกิจกรรมบนบก  เช่น มาจากบ้านเรือนหรือชุมชน แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง บริเวณท่าเรือ และการท่องเที่ยวชายหาด เอสซีจีในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พัฒนา “นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ (SCG-DMCR Litter Trap)” ที่ช่วยยกระดับการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นวัตกรรมช่วยดักจับขยะในแม่น้ำดังกล่าว ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นโดยใช้ทุ่นดักขยะแบบแนวตรง (Oil Boom) ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้คิดค้นขึ้นเมื่อปี 2651 เป็นต้นแบบ นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ (SCG-DMCR Litter Trap) ที่พัฒนาขึ้นโดยเอสซีจีนี้มีขนาดกว้าง 1.8 เมตร และยาว 5 เมตร โดยอุปกรณ์หนึ่งชุดสามารถกักเก็บขยะได้สูงสุด 700 กิโลกรัม/วัน สำหรับวัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตทุ่นกักขยะลอยน้ำเวอร์ชันเอสซีจีคือ ท่อ PE100 ที่เหลือจากการทดสอบขึ้นรูปในโรงงานของเอสซีจี วัสดุดังกล่าวมีความแข็งแรงทนทาน และเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

เอสซีจียังได้ออกแบบให้นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ (SCG-DMCR Litter Trap) มีกลไกฝาเปิด-ปิดที่อาศัยหลักการไหลของน้ำและแรงดันเพื่อช่วยกักเก็บขยะที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ โดยขยะจะไม่หลุดลอยออกนอกทุ่นตามทิศทางของกระแสน้ำที่เปลี่ยนไปตามอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง ในปี 2563 เอสซีจีได้พัฒนา นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ จาก HDPE-Bone (SCG-DMCR Litter Trap Generation 2) โดยผลิตจากวัสดุลอยน้ำ HDPE-Bone ซึ่งผลิตจากพลาสติกเกรดพิเศษ HDPE มาใช้ทดแทนวัสดุเดิม ทำให้ทุ่นฯ สามารถลอยน้ำได้ดีขึ้น จัดเก็บขยะลอยน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ทนทานต่อรังสียูวี อายุการใช้งานยาวนาน 25 ปี ประกอบและติดตั้งได้ง่ายขึ้น และสามารถนำกลับมารีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกด้วย

มุ่งมั่นเพื่อความยั่งยืนทางทะเล
นับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เอสซีจีและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ได้ติดตั้งนวัตกรรมทุ่นกักเก็บขยะลอยน้ำ SCG-DMCR Litter Trap นี้ บริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขาที่เชื่อมต่อกับทะเลกว่า 24 ชุด ในพี้นที่ 13 จังหวัดของประเทศไทย เพื่อป้องกันขยะจากแม่น้ำและลำคลองสาขาไหลลงสู่ทะเล ซึ่งผลปรากฏว่าสามารถช่วยกักขยะได้กว่า 40 ตัน ทั้งนี้เอสซีจียังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาขยะในทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยนำความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีด้านวัสดุพอลิเมอร์ มาผสมผสานกับความสามารถด้านการออกแบบเชิงวิศวกรรม นอกจากนี้บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือและบูรณาการเครือข่ายทั้งในประเทศและนอกประเทศ อาทิ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) และ The Ocean Cleanup เพื่อช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม


Is this article useful ?