“ทุกปีขยะพลาสติกจำนวนกว่า 8 ล้านตัน มีจุดสิ้นสุดอยู่ที่มหาสมุทร” นี่เป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ Ocean Conservancy ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่หวังผลกำไรที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวไว้ในรายงานสถานการณ์ขยะทะเลปี พ.ศ. 2560 ตัวเลขดังกล่าวยังสอดคล้องกับข้อมูลของสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่รายงานว่า 80% ของขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในแต่ละปีรั่วไหลลงสู่มหาสมุทร
จริง ๆ แล้วพลาสติกเป็นวัสดุที่มีประโยชน์มากมาย ทั้งยังรีไซเคิลกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ได้ แต่หากขาดการจัดการที่ดีย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปีที่ผ่านมา ผ่านการตอกย้ำภาพการเป็นผู้ร้ายของขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสัตว์ต่าง ๆ ดังที่สื่อได้นำเสนออยู่อย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การบังคับใช้มาตรการงดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic ban) ของหลายประเทศ โดยในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ได้มีมาตรการลดการใช้พลาสติกโดยขอความร่วมมือกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อจำนวน 43 บริษัท ให้เลิกแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้า ทั้งนี้ได้ระบุสินค้าผ่อนผันที่ยังสามารถใช้ถุงพลาสติกได้อยู่ 4 ชนิด ได้แก่ อาหารที่ต้องอุ่นร้อน อาหารเปียก เนื้อสัตว์ และผลไม้
เอสซีจีได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งและผู้สนับสนุนการดำเนินงานของ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่รวมบริษัทระดับโลกในห่วงโซ่มูลค่าของวงการพลาสติก เพื่อยกระดับโซลูชันการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในทะเลและมหาสมุทรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ทำด้วยกัน ไปได้ไกล
Alliance to End Plastic Waste (AEPW) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแห่งเดียวในโลกที่มีสมาชิกประกอบไปด้วยบริษัทที่มาจากทุกภาคส่วนในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมพลาสติก ได้แก่ บริษัทที่ผลิต ใช้ ขาย แปรรูป จัดเก็บ และรีไซเคิลพลาสติก นับตั้งแต่การก่อตั้งองค์กรขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2562 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 45 บริษัท มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์และสำนักงานสาขาตั้งอยู่ในหลายภูมิภาค ได้แก่ อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง โดยกลุ่มพันธมิตรได้ร่วมมือกับสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development: WBCSD) ในฐานะพันธมิตรผู้ก่อตั้งและวางแผนเชิงกลยุทธ์
สำหรับประเทศไทย เอสซีจี เป็นองค์กรไทยแห่งเดียวและเป็นฟันเฟืองหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาวิกฤติจากขยะพลาสติก โดยมีการจัดงานเปิดตัวองค์กรไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ภายในงานได้มีการจัดเสวนาเพื่อระดมความคิดในการจัดการความท้าทายเรื่องขยะในประเทศไทยและในภูมิภาคจากบริษัทสมาชิกผู้ก่อตั้ง หน่วยงานราชการ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พร้อมกับการเปิดรับสมัครให้บริษัทต่าง ๆ ในภูมิภาคสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับโครงการในประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมดำเนินการโดยมีเอสซีจีพร้อมช่วยผลักดันอย่างเต็มกำลัง
องค์กรระดับโลกที่มีแนวคิดชัดเจน
แนวคิดที่สนับสนุนความสำเร็จของ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ในการต่อกรกับปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ประกอบไปด้วย 10 ข้อสำคัญ ได้แก่
- เห็นปัญหาร่วมกัน จากข้อมูลที่น่าเชื่อถือซึ่งรวบรวมจากหน่วยงานชั้นนำระดับโลก พร้อมกับการรับรองโดยสหประชาชาติ ขยะพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องร่วมมือกันแก้ไข เพราะเป็นภัยคุกคามสิ่งแวดล้อม
- คิดใหญ่ ทำย่อย แม้จะเป็นเรื่องที่ต้องได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศ แต่การคลี่คลายปัญหาต้องใช้โซลูชันที่เฉพาะเจาะจง นั่นคือ การออกแบบโครงการและวิธีการดำเนินงานที่สอดคล้องไปกับบริบทในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีหลากหลายระดับ ตั้งแต่ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ระดับพื้นที่ และระดับชุมชน
- รวมกันดีกว่า ในอดีตมีโครงการที่โฟกัสเรื่องการจัดการปัญหาขยะพลาสติกออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่อาจยังดำเนินงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะขาดการบูรณาการกับทุกหน่วยในห่วงโซ่คุณค่า
- เปลี่ยนเพื่อปรับ โครงการที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาด้านการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน
- คุณค่าคือหัวใจ พลาสติกที่ถูกใช้งานเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ยังคงเป็นวัสดุที่มีคุณค่า การนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการคัดแยกและรีไซเคิลได้ ถือเป็นตัวกระตุ้นที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าอย่างยั่งยืน
- ตัวช่วยที่ดีของรัฐ รัฐบาลของหลายประเทศต้องการหาทางออกให้กับปัญหาขยะพลาสติก แต่การดำเนินงานอาจล่าช้าเพราะขาดความคล่องตัวและผู้เชี่ยวชาญ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) จะช่วยส่งต่อองค์ความรู้และแนวปฏิบัติให้กับหน่วยงานรัฐ เพื่อนำไปสานต่อให้เกิดประสิทธิภาพในระดับชุมชนได้
- ร่วมสู้แบบแนวหน้า การร่วมมือกันของทุกหน่วยในห่วงโซ่มูลค่า โครงการต่าง ๆ ภายใต้ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) จะถูกขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เพราะความเชี่ยวชาญที่มาจากแต่ละบริษัทสมาชิก
- เดินหน้าเต็มสูบ การดีไซน์โซลูชันเพื่อจัดการปัญหาขยะอย่างเฉพาะเจาะจง ทำให้โครงการขององค์กรมีโอกาสประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว และสามารถนำไปขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- จุดเริ่มต้นคือดีไซน์ ตั้งแต่โครงการที่ช่วยลดการใช้วัสดุ ไปจนถึงการออกแบบเพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนวัตกรรมเพื่อการจัดการขยะต่าง ๆ ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดเรื่องการออกแบบตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งมีหัวใจเป็นหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
- คิดเพื่อความแปลกใหม่ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบโดยตรงต่อโมเดลธุรกิจของหลายบริษัท แต่นั่นช่วยทำให้เกิดบิสซิเนสโมเดลรูปแบบใหม่ที่รอหลายบริษัทเข้าไปค้นหา และที่สุดคือสามารถปรับให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
สู้กับปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีชั้นเชิง
Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ที่มีเอสซีจีเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินการโครงการต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ โดยให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ (Action-based Projects) โดยมีกระบวนการดำเนินงานที่วางอยู่บนรากฐากสำคัญ 4 ด้านอันได้แก่
- Infrastructure การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง และสามารถรองรับทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตพลาสติกได้ ตั้งแต่การรวบรวมขยะ แยกประเภท และเปลี่ยนขยะเหล่านั้นให้กลับมามีประโยชน์อีกครั้ง
- Innovation การพัฒนานวัตกรรม ผลักดันและเร่งให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งมีความจำเป็นมากในกระบวนการจัดการขยะ เพราะนวัตกรรมคือสิ่งที่สำคัญมากที่หลายภูมิภาคยังคงขาดแคลน เนื่องจากต้องการการลงทุนซึ่งมีความเสี่ยงและต้องใช้เงินจำนวนมาก
- Education and Engagement การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและความมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทาง สร้างความรู้และความเข้าใจเรื่องการใช้และการทิ้งพลาสติกอย่างมีความรับผิดชอบ เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และเข้าใจว่าจะแก้ไขอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ
- Clean-up การฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมด การฟื้นฟูที่ปลายทางต้องทำควบคู่ไปกับกระบวนการต้นทาง และสำคัญที่การลงมือทำจริงและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
จากกลยุทธ์การดำเนินงานดังกล่าว องค์กรมุ่งมั่นที่จะช่วยปริมาณขยะพลาสติกที่จะรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำ ที่มีทะเลและมหาสมุทรเป็นปลายทางสำคัญลงให้ได้ 3 ล้านตัน รวมถึงการสร้างเมืองปลอดขยะต้นแบบให้ได้อย่างน้อย 3 เมือง ผ่านเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทสมาชิกเกือบพันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และตั้งเป้าลงทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปี
ปัจจุบันมีแนวคิดโครงการเรื่องการจัดการปัญหาขยะพลาสติกมากถึง 400 โครงการ ที่อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาจาก Alliance to End Plastic Waste (AEPW) แต่โครงการที่ได้รับการอนุมัติและสนับสนุนงบประมาณให้ดำเนินงานมีทั้งงหมด 4 โครงการที่สำคัญ คือ Plug & Play, Renew Oceans, Project Stop – Jembrana และ Grameen Creative Lab ซึ่งสามารถดูรายละเอียดของโครงการ พร้อมกับรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ได้ที่ https://endplasticwaste.org/