มากกว่า 30% ของพื้นที่ในประเทศไทย คือพื้นที่น้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำ อาจกล่าวได้ว่ามันคือพื้นที่แห่งชีวิต เพราะเป็นแหล่งเพาะปลูกทางการเกษตร และเป็นแหล่งน้ำต่าง ๆ บึง บ่อ ทะเลสาบ หนอง คลอง แม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตตลอดสายที่ได้ไหลผ่าน บนผืนน้ำระยิบระยับ นอกจากทิวทัศน์ที่สวยงาม ปลาที่แหวกว่าย มันยังพอจะเป็นอะไรได้อีกนะ? นักคิดค้น และนักวิทยาศาสตร์ ยกมือตอบว่ามันยังเป็นโอกาสในการช่วยโลกด้วยการผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์
อย่างที่เราทราบว่านักวิทยาศาสตร์สามารถนำแสงอาทิตย์มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้มานานเกินครึ่งทศวรรษแล้ว นวัตกรรมโซลาร์เซลล์พัฒนาประสิทธิภาพมาต่อเนื่องจนสามารถนำมาประยุกต์ใช้กันอย่างกว้างขวางอย่างในปัจจุบันในฐานะพลังงานสะอาด ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ไร้ขีดจำกัด ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไม่มีขั้นตอนที่ก่อให้เกิดมลภาวะ จึงเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยพลังงานสะอาด
การใช้โซลาร์เซลล์ในประเทศไทย
ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิประเทศเขตโซนร้อน มีความเข้มข้นของรังสีติดอันดับของโลก ทำให้เรามีศักยภาพการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในระดับเข้มข้น แต่คนทั่วไป เวลาที่พูดถึง “พลังงานแสงอาทิตย์” อาจนึกถึงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Solar Rooftop ซึ่งเป็นการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือเห็น Solar Farm ที่ต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนพื้นดิน
แต่ที่จริงแล้ว การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ยังมีอีกรูปแบบที่น่าสนใจ คือ Floating Solar เป็นการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนผืนน้ำ แต่ด้วยการที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีผู้ที่เชี่ยวชาญมากพอ ไม่มีผู้ผลิตโดยตรง จึงทำให้ไม่เป็นที่นิยมสักเท่าไหร่
ทว่าไม่ใช่ในเวลานี้อีกแล้ว และนี่คือความสำคัญของ “พื้นที่น้ำ” ที่เราเกริ่นไปตั้งแต่ต้น ว่ามันกินพื้นที่ประเทศไทยไปมากกว่า 30% และยังไม่รวมพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่งนั่นคือความอุดมสมบูรณ์ในแบบฉบับของ Floating Solar
SCGC Floating Solar Farm ทุ่นลอยน้ำโซลาร์เซลล์
เอสซีจี เคมิคอลส์ นำความเชี่ยวชาญในเรื่องวัสดุศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุพอลิเมอร์ บวกกับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญการออกแบบสินค้าอุตสาหกรรม จนสามารถออกแบบและผลิต “โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ” ได้สำเร็จเป็นรายแรกในประเทศไทย และในอนาคต เอสซีจี เคมิคอลส์ ยังมีแผนขยายธุรกิจไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการครบวงจร โดยมีทีมงานที่พร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าที่สนใจนำระบบทุ่นโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำไปใช้ ครอบคลุมตั้งแต่การประเมินหน้างาน การติดตั้ง และการซ่อมบำรุง
เพราะบนผืนน้ำเป็นโอกาสเหมาะเจาะสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่จำกัด การติดตั้งทุ่นพลาสติกบนผิวน้ำจึงเป็นโอกาสดีที่จะใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นประโยชน์ สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่ว่างเปล่าได้
เบื้องหลังแนวคิดการออกแบบทุ่นลอยน้ำ
แน่นอน ไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพเท่านั้น แต่การดีไซน์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ทีมออกแบบจากเอสซีจี เคมิคอลส์ นำความรู้ความเชี่ยวชาญมาออกแบบทุ่นพลาสติกสำหรับโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำด้วยแนวคิดการออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจจากของเล่นตัวต่อ ที่คำนึงถึงการติดตั้งง่าย สะดวก รวดเร็ว จากการลดจุดยึดประกอบ ทั้งยังรองรับการติดตั้งได้ทุกขนาดของแผงโซลาร์เซลล์ ระบบทุ่นของเอสซีจี เคมิคอลส์ยังช่วยประหยัดพื้นที่กว่า 10 % เมื่อเทียบกับทุ่นลอยน้ำแบบอื่น และนี่คือก้าวแรก ๆ ที่จะทำให้คนทั่วไปสามารถนำทุ่นโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำไปใช้กับครัวเรือนได้ ไม่เพียงสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ขอแค่มีบ่อน้ำเท่านั้นแหละ
แต่กว่าจะออกแบบสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่เพียงตอบโจทย์เรื่องการใช้งานจริง แต่ยังคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยด้วย ทีมงานมีการทดสอบคุณภาพของทุ่นผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นแรงกด การตั้งค่าเพื่อทดสอบแรงดึง หรือแรงลอยตัว ฯลฯ เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับทุ่นลอยสำหรับใช้กับแผงโซลาร์
คัดสรรวัสดุที่เหมาะสมกับการใช้งาน
วัสดุที่เอสซีจี เคมิคอลส์เลือกใช้ทำทุ่นลอยน้ำ เป็นอีกเรื่องที่โดดเด่น พลาสติกที่เลือกใช้เป็นเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) ชนิดพิเศษจากเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่มี UV Stabilizer ทำให้ทนทานต่อแสงแดดและรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต เป็นสิ่งที่ทำให้ทุ่นมีความคงทน ไม่กรอบแตกง่ายเมื่ออยู่กลางแดด ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยสารปนเปื้อน
ข้อดีของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ
การติดตั้งแผงโซลาร์ในน้ำยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพกำลังผลิตของแผ่นโซลาร์เซลล์ได้ เพราะน้ำสามารถช่วยระบายความร้อนของระบบที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิตไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิตได้ 5-20% จากความเย็นของน้ำใต้แผ่น (cooling effect) เมื่อเทียบกับการติดตั้งโครงการโซลาร์ฟาร์มบนดินและโครงการโซลาร์บนหลังคาทั่วไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่และสภาพอากาศ รวมไปถึงทุ่นโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่คลุมอยู่บนผิวน้ำยังช่วยลดการระเหยของน้ำที่กักเก็บไว้ใช้อีกด้วย
มองด้วยสายตาของคนทั่วไป ทุ่นลอยน้ำโซลาร์ฟาร์มเป็นทางเลือกที่ดีหากเทียบกับการใช้พลังงานอย่างอื่น แต่กับสายตาของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีให้กับกิจการที่ต้องการประหยัดต้นทุนในระยะยาว เพราะอายุการใช้งานของระบบทุ่นสำหรับโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำของเอสซีจี เคมิคอลส์ยาวนานกว่า 25 ปี นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco Innovation) ที่เอสซีจี เคมิคอลส์พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ทั้งเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม และเป็นโซลูชั่นใหม่ให้กับลูกค้าที่ต้องการใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ และเป็นการเพิ่มโอกาสในการผลิตพลังงานสะอาดให้กับประเทศไทย เปลี่ยนความร้อนของแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานสะอาดที่ทำให้เราเย็นชื่นใจกันตลอดไป
โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแห่งแรกในประเทศไทย
โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ใช้พื้นที่ในบ่อเก็บน้ำของเอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งให้กำลังผลิต 1MW คาดการณ์ว่าโครงการ ฯ มีกำลังการผลิตสูงสุดถึงประมาณ 978.75 กิโลวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้ามากที่สุดถึงประมาณ 1.43 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 5,155 จิกะจูลต่อปี ทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตากว่า 129,610 ลิตรต่อปี (โดยน้ำมันเตามีค่าความร้อนสุทธิ เท่ากับ 39.77 เมกะจูลต่อลิตร) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศกว่า 810 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (โดยที่ค่า emission factor เท่ากับ 0.5661 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยผลิตไฟฟ้า) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 81,000 ต้น (ต้นไม้ใหญ่ 1 ต้นช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 10 กิโลกรัมต่อปีโดยเฉลี่ย)
จุดเด่นของ SCGC Floating Solar Farm
1) อายุใช้งานยาวนาน ผลิตจากวัสดุเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษที่มี UV Stabilizer เหมาะกับการใช้งานกลางแจ้ง
2) ติดตั้งง่าย ด้วยการออกแบบโดยลดจุดยึดประกอบ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์หนักในการติดตั้ง
3) ออกแบบระบบทุ่นให้ใช้พื้นที่การติดตั้งน้อยลงถึงสิบเปอร์เซ็นต์
4) รองรับการติดตั้งหลายรูปแบบทั้งระบบสมอ และระบบยึดโยงชายฝั่ง ตอบสนองบ่อน้ำหลากหลายรูปแบบ
5) ดีไซน์แผงวางแผ่นโซลาร์ให้ไม่มีเงาบังกัน และทำมุมเอียงสิบห้าองศาเพื่อรับแสงอาทิตย์ให้ได้มากที่สุด
ทรัพสินทางปัญญาสิ่งประดิษฐ์ฝีมือคนไทย
โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำรายแรกในประเทศไทย ได้รับจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 13153 และอยู่ระหว่างขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ (คำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยเลขที่ 1602004725, 1602004726, 1602004727 และคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในประเทศสิงคโปร์เลขที่ 10201710335S)
“เราพัฒนาตัวทุ่นให้ตอบโจทย์สภาพการใช้งานบนผิวน้ำที่หลากหลาย และต่อยอดไปสู่ธุรกิจโซลูชั่นแบบครบวงจรเป็นรายแรกในประเทศไทย โดยสามารถให้บริการตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การผลิตทุ่น การติดตั้งและระบบยึดโยงตัวทุ่น ไปจนถึงการดูแลรักษา ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้พื้นที่ผิวน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรน้ำจากการระเหย และช่วยเพิ่มพื้นที่ผลิตพลังงานทดแทนให้กับประเทศอีกด้วย”
ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์