close

29 ส.ค. 2560

เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกด้วยกระบวนการ Rotational Molding

การขึ้นรูปชิ้นงานพลาสติกมีวิธีการที่หลากหลายซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดี-ข้อด้อย รวมไปถึงความเหมาะสมกับความต้องการของตลาด ต้นทุนและจำนวนการผลิตที่แตกต่างกัน สำหรับการขึ้นรูปด้วยกระบวนการผลิตแบบหมุนเหวี่ยง (Rotational Molding หรือ Rotomolding) นั้น จุดเด่นคือแม่พิมพ์ราคาไม่แพง เหมาะกับชิ้นงานที่จำนวนผลิตไม่เยอะ (100-10,000 ชิ้นต่อปี) และเหมาะกับชิ้นงานขนาดใหญ่ที่ด้านในมีความกลวง ชิ้นงานมีความหลากหลายของรูปทรง เช่น ถังบรรจุน้ำ ถังบำบัดน้ำเสีย และถังแช่น้ำแข็ง เป็นต้น ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ได้ชิ้นงานที่หนา (3-20 มิลลิเมตร) ทนทาน และอายุการใช้งานยาวนาน แต่อย่างไรก็ตามชิ้นงาน Rotomolding เช่น ถังแช่ขนาดใหญ่ที่มีหลุมลึก (เกิน 30 ซม. ขึ้นไป) ส่วนก้นชิ้นงานจะบางกว่าผนังด้านข้าง ทำให้ได้ชิ้นงานที่ไม่แข็งแรงทนทานและรองรับน้ำหนักได้ไม่ดี


เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขึ้นรูปชิ้นงานด้วยวิธี Rotational Molding ทีม Technical Service Development (TS & D) เอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตจากลูกค้าดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จึงศึกษาหาข้อมูลและนำมาพัฒนาเทคนิคต่าง ๆ จนเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเฉลี่ยหรือกระจายความร้อนไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ของแม่พิมพ์ได้ทั่วถึงและสม่ำเสมอยิ่งขึ้น โดยมีทั้งเทคนิคการเพิ่มความร้อนและลดความร้อน


สำหรับชิ้นงานที่บางไปนั้น สามารถแก้ไขด้วย 3 เทคนิคดังนี้

“เทคนิคการหักเหกระแสลม” ซึ่งเป็นการเพิ่มความร้อนด้านในแม่พิมพ์ด้วยแผ่นกั้นลม (แผ่นโลหะหนา 1-2 มิลลิเมตร) ช่วยให้เกิดการไหลเวียนของลมร้อนได้สม่ำเสมอทั่วแม่พิมพ์ 


“เทคนิคการเพิ่มลม/เป่าลม” ด้วยเครื่องอัดแรงดันอากาศเพื่อดึงอากาศร้อนจากภายในเตาเข้าไปสู่จุดอับลมของแม่พิมพ์ หรือเลือกใช้เทคนิคสุดท้าย

เทคนิคการเพิ่มความร้อนด้วยการเพิ่มผิวสัมผัสของแม่พิมพ์” ซึ่งเพิ่ม Surface Area หรือพื้นที่ผิวสัมผัสของแม่พิมพ์เพื่อให้แม่พิมพ์ที่จุดนั้นรับความร้อนได้มากยิ่งขึ้น โดยหล่อหรือเชื่อมให้แม่พิมพ์มีหนามที่บริเวณพื้นผิว

หากชิ้นงานหนาไปควรปรับลดความร้อนบริเวณพื้นผิวด้านนอกแม่พิมพ์เพื่อเฉลี่ยความร้อนให้เท่ากับภายในแม่พิมพ์โดยใช้ “เทคนิคการบังไฟ” โดยมี 2 เทคนิคดังนี้

Heat Shielding การบังไฟโดยนำแผ่นโลหะ เช่น แผ่นสังกะสี (ความหนา 1-2 มิลลิเมตร) มากั้นระหว่างไฟกับแม่พิมพ์

Heat Insulation การนำฉนวนใยแก้วมาติดบนผิวด้านนอกแม่พิพม์โดยใช้แผ่นฉนวนใยแก้ว (ความหนา 3-12 มิลลิเมตร) ติดไว้ที่ผิวด้านนอกแม่พิมพ์

เทคนิคต่าง ๆ ที่ทีม TS & D เอสซีจี เคมิคอลส์ แนะนำให้กับผู้ผลิตถังแช่ นอกจากจะสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกด้วยกระบวนการ Rotational Molding ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ยังสะท้อนว่าทุกปัญหาของลูกค้าคือปัญหาของเรา ไม่ว่าปัญหานั้นจะเล็กหรือใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ มีทีมงานคุณภาพที่พร้อมรับฟังและพร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่


หมายเหตุ: เทคนิคเหล่านี้ใช้ได้ดีที่สุดกับการขึ้นรูปแบบเตาอบ (Oven)

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ E-mail: rotomoulding@scg.com โทร: +66 2-586-4116

คลิกที่นี่เพื่อดูผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกสำหรับการขึ้นรูปแบบ Rotomolding


Is this article useful ?