close

13 ก.ย. 2559

คืนบ้าน คืนชีวิตสู่ท้องทะเล เพื่อชุมชนยั่งยืน

ชุมชนเนินฆ้อ จ.ระยอง

                วันนี้บ้านเนินฆ้อของฉันคึกคักกว่าทุกวัน เพราะที่นี่กำลังจะมีงาน “สู่ปีที่ 5 บ้านปลา ชุมชนยั่งยืน” และลุงสำออย ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านของเราก็ได้รับเชิญไปเป็นตัวแทนพูดคุยบนเวทีด้วย เวลาผ่านไปเร็วจริง ๆ จำได้ว่าเมื่อ 4 ปีก่อน ตอนฉันอายุ 16 ฉันเห็นลุงสำออยชวนพวกผู้ใหญ่ในชุมชนมารวมตัวพูดคุยกันเพื่อหาทางฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชายฝั่งของบ้านเราเพราะกลุ่มประมงพื้นบ้านของเราจับปลาได้น้อยลงทุกวัน ๆ หรือไม่ เราก็ต้องออกเรือไปไกลขึ้นถึงจะได้ปู ปลา กลับมา

                โครงการหนึ่งที่ชุมชนของเราลองทำคือการสร้างบ้านปลาให้เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำเล็ก ๆ โดยทำจากสิ่งที่เราหาได้ในชุมชน เช่น ซังเชือก ยางรถยนต์ จากนั้นก็ได้บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ เข้ามาพูดคุยและชวนให้ชุมชนเราลองทำบ้านปลาจากท่อ PE100 หน้าตาของบ้านปลาแปลกไปกว่าที่เราเคยทำกันมา เขาเอาท่อสีดำมาเรียงต่อกันขึ้นไปเป็นรูปสามเหลี่ยมเหมือนหลังคาบ้านคน ซึ่งกว่าจะได้บ้านปลาแบบนี้ พี่ ๆ จาก เอสซีจี เคมิคอลส์ เข้ามาปรึกษากับกลุ่มประมงพื้นบ้านของเราอยู่ตลอด และค่อย ๆ ปรับแก้จนได้บ้านปลาที่เราทุกคนพอใจ ทุกครั้งที่มีกิจกรรมทำบ้านปลาจะมีทั้งชุมชนของเราและ พี่ ๆ จากเอสซีจี เคมิคอลส์ มาร่วมกันทำบ้านปลาและช่วยกันยกไปใส่เรือประมงเพื่อนำไปวางในพื้นที่ที่กำหนดไว้ ตอนที่ฉันได้ออกเรือไปวางบ้านปลาในทะเลครั้งแรก ตื่นเต้นมาก ถึงจะเคยออกเรือไปกับพ่อแม่หลายครั้ง แต่การได้เอาบ้านปลาไปวางในทะเล แล้วคอยเฝ้าดูว่าผลจะเป็นยังไงน้า ตื่นเต้นกว่าอีก

                นอกจากการทำบ้านปลา ลุงสำออยยังชวนชาวชุมชนเราดูแลพื้นที่รอบชายฝั่ง เช่น เก็บขยะ ปลูกป่าโกงกาง ส่วนพื้นที่ที่เราเอาบ้านปลาไปวางนั้น ผู้ใหญ่ก็คุยกันว่าชุมชนจะต้องช่วยกันดูแล เพื่อให้ปลารู้สึกว่าที่ตรงนั้นเป็นบ้านที่ปลอดภัย จะได้เข้ามาวางไข่และเติบโต ทุกคนตกลงกันว่าจะไม่จับปลาในเขตพื้นที่ที่วางบ้านปลา และจะช่วยกันป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปจับปลาในบริเวณนั้นเป็นอันขาด เพื่อจะได้เป็นแหล่งเพาะพันธ์สัตว์น้ำที่สมบูรณ์ของบ้านเรา

                ผ่านไปแค่ 4 ปี บ้านปลาที่พวกเราเอาไปวางมีปลามาอยู่เต็มไปหมดเลย เวลาพวกเราดำน้ำลงไปดูก็เห็นว่ามีปลาและสัตว์น้ำหลายชนิดมาอาศัยอยู่ในนั้น แต่ที่น่าดีใจกว่าก็คือเรือประมงพื้นบ้านของเราจับปลาได้มากขึ้น ทั้งที่ไม่ต้องออกเรือไปไกลบ้าน ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราก็ดีขึ้น  เรื่องนี้ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างฉันได้เรียนรู้ว่าการดูแลท้องทะเลสำคัญกับลูกประมงอย่างเรามากแค่ไหน ทะเลไม่ใช่แค่บ้านของปลา แต่คือบ้านของพวกเราด้วย และที่สำคัญคือความร่วมมือของหลาย ๆ คนมีส่วนช่วยให้โครงการนี้เป็นจริงขึ้นได้ เหมือนกับวันนี้ที่ทั้งหน่วยงานราชการ ชุมชน และเอสซีจี เคมิคอลส์ มาจัดกิจกรรม “สู่ปีที่ 5 บ้านปลา ชุมชนยั่งยืน”  ฉันรู้สึกดีใจที่มีคนมองเห็นความพยายามของชุมชนเราที่จะฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาดีเหมือนเดิม และคอยช่วยสนับสนุนโครงการนี้มาตลอด

                นอกจากพวกเราจะได้ร่วมกันทำบ้านปลาแล้ว พี่ ๆ เอสซีจี เคมิคอลส์ ยังแนะนำให้เราถ่ายทอดภูมิปัญญาของประมงพื้นบ้าน โดยจัดตั้งเป็น  ศูนย์การเรียนรู้วิถีประมงชุมชนเนินฆ้อ” เพื่อส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ที่เราได้ทำกันมาไปยังชุมชนอื่น ๆ ภายในศูนย์ฯ จะมีทั้งบอร์ดนิทรรศการเล่าถึงชีวิตประมงพื้นบ้าน และเรื่องความสำเร็จของโครงการบ้านปลา อีกไม่นานคงมีกลุ่มประมงจากที่อื่น ๆ รวมถึงผู้สนใจและผู้รักทะเลไทยมาแวะชมและศึกษาหาความรู้ พวกผู้ใหญ่มีไอเดียจะทำเรือประมงท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วย น่าสนุก ฉันคนหนึ่งล่ะที่จะอาสาเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวประจำเนินฆ้อ

                ฉันประทับใจคำพูดของลุงสำออยในวันนี้มาก ลุงบอกว่า ถ้าทุกคนมาระดมความคิด ช่วยกันแก้ปัญหา เคารพกติกา เราก็จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน” ฟังแล้วก็นึกถึงภาพผู้ใหญ่ในชุมชนประชุมกันทุกเดือน ลุงสำออยพูดบ่อย ๆ ว่า ชุมชนจะเข้มแข็งยั่งยืน ต้องพึ่งพาตัวเองได้ ชุมชนต้องเป็นคนเริ่มต้นโครงการดี ๆ แล้วค่อยหาการสนับสนุนจากรัฐหรือเอกชน อย่างเอสซีจี เคมิคอลส์ นี่ช่วยสนับสนุนโครงการที่ชุมชนคิดเอง ทำเองหลายโครงการ ฉันคิดว่าการสนับสนุนแบบนี้ทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้จริง ๆ แล้วคนในชุมชนก็ภูมิใจด้วย

                งานวันนี้ผ่านไปด้วยดี ทุกคนยิ้ม มีความสุข  ฉันเองก็ยิ้มกว้างไม่แพ้ใคร และบอกกับตัวเองว่า ฉันจะรักษาและสืบทอดมรดกภูมิปัญญาการทำประมงพื้นบ้านต่อไป พวกเราจะได้มีแหล่งทำกินที่อุดมสมบูรณ์และมีระบบนิเวศทางทะเลที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป


วัสดุและรูปแบบในการสร้างบ้านปลา

                บ้านปลาจากเอสซีจี เคมิคอลส์ ทำจากท่อพอลิเอทีลีน (EL-LeneTM H1000PC) หรือท่อ PE ที่ผ่านกระบวนการทดสอบเม็ดพลาสติกของบริษัทและผ่านการทดสอบคุณสมบัติท่อจากสถาบัน VTT, Finland และสถาบันอื่น ๆ ทั่วโลก ในด้าน SFS-EN ISO 8795:2001 โดยนำน้ำที่สกัดสารเคมีออกจากท่อมาทดสอบหาสารอันตราย และทดสอบเรื่องกลิ่นหรือสารปนเปื้อนจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่าปลอดภัยไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีคุณสมบัติที่ทนต่อการกัดกร่อนและแรงดันได้สูง ทำให้มีอายุใช้งานได้นาน

                รูปแบบ วิธีการทำและวางบ้านปลา นำท่อ PE100 ขนาด 110 มม.มาเชื่อมต่อเป็นบ้านปลา ขนาดประมาณ 2 ตารางเมตร ต่อหลัง (กว้าง 1.2 เมตร ยาว 1.2 เมตร สูง 1.1 เมตร) น้ำหนัก 250 กิโลกรัม จากนั้น นำบ้านปลาไปจัดวางใกล้กันอย่างน้อย 10 หลัง (พื้นที่ประมาณ 20 ตารางเมตรต่อกลุ่ม) และถ่วงบ้านปลาโดยใช้ลูกปูนน้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัมวางไว้ที่ฐานบ้านปลา ซึ่งพื้นที่การวางบ้านปลาจะอยู่ในรัศมีของการทำประมงพื้นบ้าน (เรือเล็ก) เพื่อให้กลุ่มประมงพื้นบ้านสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง


ประโยชน์ของบ้านปลา

  • สร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ทั้งในแง่ชนิดและจำนวนสิ่งมีชีวิตที่มาอาศัยอยู่บริเวณบ้านปลาที่วาง ไม่น้อยกว่า 10 ชนิด ได้แก่ ปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลาข้างเหลือง ปลาเก๋า ปลาสละ ปลากุแล ปูจั๊กจั่น ปูหิน  หอยแมลงภู่ และปลาสวยงาม เช่น ปลาหูช้าง ปลากระเบน  ปลาโฉมงาม
  • สามารถเพิ่มแหล่งทำประมงใกล้ชายฝั่ง และเพิ่มพื้นที่ในการอยู่อาศัย อนุบาล หลบภัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล ได้ไม่น้อยกว่า 1,600 ตารางเมตรต่อปี
  • จากการจัดโครงการนี้ สามารถสร้างเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ได้มากกว่า 1,000 คนต่อปี


สู่ปีที่ 5 โครงการบ้านปลา

ปี 2555  เริ่มโครงการบ้านปลาในเดือนธันวาคม โดยวางบ้านปลาจำนวน 10 หลังในพื้นที่อ.แกลง จ.ระยอง

ปี 2556  วางบ้านปลาเพิ่มอีก 90 หลังในพื้นที่จ.ระยอง พร้อมประกาศความสำเร็จในการวางบ้านปลาครบ 100 หลังในงาน "หาดงามตา ปลากลับบ้าน เอสซีจี 100 ปี บ้านปลา 100 หลัง” ในโอกาสครบรอบ 100 ปีของเอสซีจี

ปี 2557 วางบ้านปลาเพิ่มอีก 100 หลัง ในพื้นที่จ.ระยองและขยายสู่พื้นที่จ.ชลบุรีเป็นครั้งแรก

ปี 2558  วางบ้านปลาเพิ่มอีก 170 หลัง ในพื้นที่จ.ระยองและจ.ชลบุรี

ปี 2559  ตั้งเป้าสร้างบ้านปลาเพิ่มอีก 400 หลัง ในพื้นที่จ.ระยองและจ.ชลบุรี


Is this article useful ?