close

30 มิ.ย. 2558

วิจัยและพัฒนา…สร้างมูลค่าเพิ่มเคมีภัณฑ์ไม่รู้จบ

ปัจจุบันโลกหมุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลาย ในขณะเดียวกันความต้องการเหล่านั้นก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน สิ่งที่ท้าทายผู้ผลิตในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนั่นก็คือ ทำอย่างไรถึงจะพัฒนาสินค้าและบริการให้มีความพิเศษ ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากกว่าที่ลูกค้าคาดหวัง


เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ดำเนินกลยุทธ์การผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มหรือ HVA (High Value Added Products and Services) มาอย่างต่อเนื่อง โดยส่งมอบสินค้าและบริการทีให้มูลค่าเพิ่มให้กับคู่ค้า ช่วยต่อยอดธุรกิจ รวมถึงช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้บริโภคและผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมด้วย


ทีมงานด้านวิจัยและพัฒนา

ปัจจัยความสำเร็จการสร้างมูลค่าเพิ่ม

การจะได้มาซึ่งสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มนั้น ปัจจัยสำคัญ ก็คือ “การวิจัยและพัฒนา” (Research & Development) ทีมงานด้านวิจัยและพัฒนาของเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้คิดค้น และทดลองหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าและผู้บริโภคปลายทาง โดยผสานทั้งองค์ความรู้จากภายในองค์กร และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำระดับโลกโดยปัจจุบัน เอสซีจี เคมิคอลส์ มีนักวิจัย และบุคลากรที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 433 คน โดยมีนักวิจัยระดับ Ph.D กว่า 66 คน ทั้งนี้ได้จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม” หรือ ASTEC (Advanced Sciences and Technology Center) ขึ้นเพื่อใช้เป็นศูนย์ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งนอกจากศูนย์ ASTEC แล้ว ยังมีศูนย์เพื่อการวิจัยและพัฒนาอีกหลายแห่ง เช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมเคมีภัณฑ์กับสถาบันชั้นนำระดับโลก

เอสซีจี เคมิคอลส์ ยังขับเคลื่อนงานด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือชั้นนำระดับโลก (R&D Collaboration) เช่น ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ในการก่อตั้ง ศูนย์ “SCG - University of Oxford Centre of Excellence” ขึ้น เมื่อปี 2011 และในปี 2014 เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ซื้อหุ้นบริษัท Norner Holding AS ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ชำนาญการด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีการพัฒนาวัสดุพลาสติกและโพลิเมอร์ ด้วยงบประมาณกว่า340 ล้านบาท เพื่อร่วมศึกษาด้านเทคนิคการผลิตและคิดค้นสิ่งใหม่ๆ สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกและโพลิเมอร์


สรรสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสินค้าและบริการที่ดีกว่า

งานวิจัยและพัฒนาจากเอสซีจี เคมิคอลส์ ครอบคลุมถึงความต้องการของลูกค้า และตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี โดยมีสิทธิบัตรที่ยื่นขอจดทะเบียนแล้วทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศรวมกว่า 93 สิทธิบัตร ซึ่งในปี 2015 เอสซีจี เคมิคอลส์ มีงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 2,100 ล้านบาท โดยมีการพัฒนาสินค้า HVA อย่างต่อเนื่อง เช่น


  • นวัตกรรมวัสดุนาโน (Nano Materials) เพื่อนำไปผลิตสินค้า HVA หลากหลายประเภท (Application) ด้วยประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ในขณะที่ใช้ปริมาณเม็ดพลาสติกน้อยลง
  • นวัตกรรมฟิล์มพลาสติกชนิดพิเศษที่มีความใสและปิดผนึกได้ดี เหมาะต่อการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าให้บางเบาแต่ทนทานยิ่งขึ้น ยืดอายุการใช้งาน ถนอมคุณภาพของสินค้าภายใน
  •  “อิมิสโปร” (emisspro®) นวัตกรรมสารเคลือบเตาเผาในอุตสาหกรรม ช่วยลดพลังงานที่ใช้ในกระบวนการผลิตได้ถึง 2-6% สำหรับธุรกิจที่ต้องการใช้เตาเผาที่ทนความร้อนสูง เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เซรามิคและเหล็ก เป็นต้น


นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมด้านต่างๆ เช่น การเปลี่ยนกากตะกอนจุลินทรีย์ให้เป็นมูลไส้เดือนดิน ซึ่งเป็นนวัตกรรมในการจัดการของเสียให้มีมูลค่า การสร้างหุ่นยนต์ตรวจสอบงานการผลิตในโรงงาน ทดแทนการใช้คนลงตรวจสอบในพื้นที่แคบ และเสี่ยงภัย ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น


Is this article useful ?