close

25 เม.ย. 2565

พลิกวงการบรรจุภัณฑ์ 'ถุงพลาสติกลามิเนตรีไซเคิลได้' ด้วยเทคโนโลยีสารเคลือบผิวฟิล์ม High Barrier Coated MDOPE Film

เมื่อการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจมากขึ้น ผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้าต่างเร่งมองหาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตอบโจทย์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยหนึ่งในบรรจุภัณฑ์หลักที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบันอย่างบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว หรือ flexible packaging นั้น มักจะผลิตจากวัสดุหลายชนิดเช่น ฟิล์มไนลอน (Nylon) ฟิล์มโพลีเอสเธอร์ (BOPET film) และฟิล์มพอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LLDPE film) โดยวัสดุแต่ละชั้นถูกเชื่อมกันด้วยกาว ทำให้รีไซเคิลได้ยาก การเปลี่ยนมาใช้วัสดุประเภทเดียวกันทั้งหมดก็จะส่งผลต่ออายุและคุณภาพของสินค้าภายในบรรจุภัณฑ์ นำไปสู่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชนิดเดียว (Mono-Material Packaging)


SCGC เล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาวัสดุพอลิเมอร์ที่จะช่วยให้ flexible packaging เหล่านี้สามารถเข้าสู่ระบบหมุนเวียนทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนายาวนานกว่าสามปี เทคโนโลยีสารเคลือบผิวฟิล์มเพื่อป้องกันการซึมผ่านของอากาศจากSCGC “BWO1501G” ภายใต้แบรนด์ SCGC GREEN POLYMER™ ได้รับการรับรองจากองค์กรรีไซคลาส (RecyClass) ให้เป็นสารเคลือบที่รองรับกระบวนการรีไซเคิลในปัจจุบันสำหรับพอลิเอทิลีนเป็นรายแรกในอาเซียน 

เพื่อให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สามารถใช้งานสารเคลือบได้อย่างสะดวก SCGC ได้นำสาร “BWO1501G” มาเคลือบบนผิว MDOPE ฟิล์มเพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นชั้นพิมพ์ทดแทนการใช้ฟิล์มไนลอน (Nylon) และฟิล์มพอลิเอสเธอร์ (BOPET film) โดยยังคงประสิทธิภาพในการป้องกันการซึมผ่านของน้ำและอากาศเทียบเท่าบรรจุภัณฑ์แบบเดิม ด้วยค่าอัตราการซึมผ่านออกซิเจนต่ำกว่า 10 ซีซี/ ตารางเมตร/ วัน (OTR, at 23 °C, 0% RH) และอัตราการซึมผ่านของไอน้ำ ต่ำกว่า 10 กรัม/ ตารางเมตร/ วัน (WVTR, 38°C, 90%RH) เหมาะสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับอาหารแช่เย็น อาหารแช่แข็ง อาหารแห้ง และซองบรรจุภัณฑ์ชนิดเติมสำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายและน้ำยาทำความสะอาด

ทั้งนี้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกโพลิเอทิลีนเป็นองค์ประกอบหลัก โดยมี MDOPE ฟิล์มที่เคลือบด้วยสารป้องกันการซึมผ่านของอากาศเป็นส่วนประกอบในชั้นพิมพ์นั้น ได้รับการทดสอบแล้วว่าสามารถใช้ได้กับเครื่องจักรและกระบวนการผลิตของโรงงานบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบัน อีกทั้งยังผ่านการรับรองปริมาณสารตกค้างในอาหาร (migration test) ว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นไปตามที่ FDA และ EU กำหนดการพัฒนาสินค้าในครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของวงการบรรจุภัณฑ์ ที่จะช่วยให้การนำ flexible packaging กลับเข้าสู่ระบบหมุนเวียนทรัพยากรได้มากขึ้น โดยยังคงคุณสมบัติที่เหมาะกับการใช้งาน อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อร่วมสร้างสรรค์โลกแห่งความยั่งยืน ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ foodbev_pkg@scg.com


Is this article useful ?