close

4 ต.ค. 2566

CPF x SCGP x SCGC จับมือพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดูแลโลกยั่งยืน

Business ESG Circular Economy Innovation Solutions Sustainability CSR

กรุงเทพฯ – 4 ตุลาคม 2566 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับพันธมิตร 2 บริษัทในกลุ่ม SCG ที่มุ่งเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการสร้างความยั่งยืน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ด้านนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์จากเยื่อกระดาษและพอลิเมอร์ กับบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP และ ด้านนวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) กับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC โดยร่วมกันศึกษาพัฒนาโซลูชันบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารในเครือซีพีเอฟ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งสะอาดและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค พร้อมเปิดโอกาสพัฒนานวัตกรรมร่วมกับพันธมิตรทั้งในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ที่มีเป้าหมายความยั่งยืนร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมตามแนวทางดำเนินธุรกิจ ESG (Environmental, Social and Governance) และรองรับความต้องการของตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

พิธีลงนาม MoU มีนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ลงนามร่วมกับ นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCGP และนายสุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGC พร้อมด้วยนางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ นางสาวธิดารัตน์ เดชายนต์บัญชา ผู้บริหารสูงสุดสายงานจัดซื้อกลาง และนายกิตติ หวังวิวัฒน์ศิลป์ ผู้อำนวยการ สายงานวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ซีพีเอฟ ร่วมในพิธี ณ ห้องบอร์ดรูม ชั้น 30 อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ สีลม   

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า “ซีพีเอฟมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจทุกมิติบนพื้นฐานของความยั่งยืน เติบโตและช่วยกันดูแลโลก ดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ความร่วมมือในวันนี้ เป็นการผนึกกำลังของ 3 บริษัท ที่จะช่วยกันพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน เป็นความตั้งใจของซีพีเอฟในการผลิตอาหารที่ดีต่อกาย ดีต่อใจ และดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้ง 3 บริษัทมีเป้าหมายด้านของความยั่งยืนเหมือนกัน และมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมทำธุรกิจแล้วมีส่วนรักษ์โลก มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ในปี 2050 ซึ่งบรรจุภัณฑ์เป็นเรื่องที่ซีพีเอฟให้ความสำคัญ โดยปัจจุบัน บรรจุภัณฑ์ของซีพีเอฟ 99.9% สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Reusable) หรือนำกลับมาใช้ซ้ำ (Recycle) หรือย่อยสลายได้ (Compostable) และหวังว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้จะทำให้ในอนาคตบรรจุภัณฑ์ของซีพีเอฟจะมีส่วนช่วยรักษ์โลกมากยิ่งขึ้น  ช่วยให้กระบวนการใช้บรรจุภัณฑ์ของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”      

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “SCGP ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ผ่านการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นความปลอดภัยของสินค้าและบริการ เพิ่มสัดส่วนการนำกระดาษที่ใช้งานแล้วจากผู้บริโภคนำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตและเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 และพร้อมผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรในการส่งเสริมแนวทางที่ยั่งยืนไปสู่ผู้บริโภค ความร่วมมือกับซีพีเอฟในครั้งนี้ โดย SCGP จะนำความรู้ ความชำนาญ และเทคโนโลยีมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ทั้งบรรจุภัณฑ์จากเยื่อกระดาษ บรรจุภัณฑ์จากพอลิเมอร์ที่มีความยั่งยืน เหมาะสมกับกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟเพื่อสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน”   

นายสุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “ประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารค่อนข้างสูง และมีโอกาสที่จะเป็นผู้นำด้านอาหารของโลก การบริโภคอาหารที่มีคุณภาพเยี่ยมภายใต้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยตอบโจทย์ทั้งในเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่ง SCGC พร้อมนำความเชี่ยวชาญด้าน Green Innovation มายกระดับบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารให้มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย บนมาตรฐานการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยนวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้แบรนด์ SCGC GREEN POLYMERTM สามารถตอบโจทย์ Low Waste และ Low Carbon พร้อมส่งมอบโซลูชันครอบคลุม 4 ด้านหลัก ได้แก่ การลดใช้ทรัพยากร (Reduce) การออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลได้ (Recyclable) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน (Renewable)”


Is this article useful ?