close

17 ส.ค. 2566

SCGC เร่งเครื่องรุกธุรกิจกรีน จับมือ Braskem ตั้งบริษัทร่วมทุน เล็งผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Green-Ethylene) ในประเทศไทย ป้อนเอเชียและตลาดโลก

Business Sustainability

กรุงเทพฯ - 17 สิงหาคม 2566 บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาคที่มุ่งเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุน (Joint venture) กับกลุ่มบริษัท Braskem (บราสเคม) ผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพระดับโลกจากประเทศบราซิล จัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ตั้งเป้าผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Green-Ethylene) จากเอทานอลที่ใช้ผลิตผลจากภาคเกษตร แทนเอทิลีนจากฟอสซิล ซึ่งมีกำลังการผลิต 2 แสนตันต่อปี โดย SCGC จะนำเอทิลีนชีวภาพที่ได้ไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ หรือ Green-PE (Green-Polyethylene) ที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลบ (Negative carbon footprint) และรีไซเคิลได้เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป  สามารถนำไปผลิตสินค้าได้หลากหลายประเภท เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ส่วนบุคคล เครื่องใช้ในบ้าน ภายใต้แบรนด์ I’m green™ (แอมกรีน) เพื่อตอบรับเมกะเทรนด์ ที่ต้องการพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย และยุโรป โดยโรงงานจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ประเทศไทย

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “SCGC มีเป้าหมายที่จะพัฒนา Green Innovation เช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้าน Low Carbon โดย SCGC ได้เพิ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance)" 

การร่วมทุนและเป็นพันธมิตรระหว่าง SCGC กับ Braskem เพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของ SCGC ในการรุกธุรกิจกรีน ตอบเมกะเทรนด์ที่มีความต้องการพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียและยุโรป ทั้งนี้ การร่วมทุนดังกล่าว ตั้งเป้าผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Green-Ethylene) จากเอทานอลที่ใช้ผลิตผลจากภาคเกษตรแทนเอทิลีนจากฟอสซิลด้วยเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก โดย SCGC จะนำเอทิลีนชีวภาพไปผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ หรือ Green-PE (Green-Polyethylene) ซึ่งมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลบ (Negative carbon footprint) สามารถรีไซเคิลได้เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป  ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง ESG ของ SCGC และนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของประเทศไทย”

นาย Roberto Bischoff ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Braskem เผยว่า “เรามองเห็นโอกาสและความต้องการพลาสติกชีวภาพในตลาด I’m green™ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ปล่อยคาร์บอนต่ำสำหรับลูกค้าที่มองหาโซลูชันเพื่อความยั่งยืน ความร่วมมือกับ SCGC นี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของ Braskem ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้ 1 ล้านตันภายในปี 2573 แทนที่ฟอสซิลด้วยวัตถุดิบหมุนเวียน และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรม”

พลาสติกเอทิลีนชีวภาพ I’m green™

แบรนด์ I’m green™ เป็นพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากวัตถุดิบหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืน โดยใช้ผลิตผลจากภาคเกษตรแทนฟอสซิล เช่น น้ำมันดิบ จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้พลาสติกชีวภาพภายใต้แบรนด์ I’m green™ สามารถนำไปผลิตสินค้าได้หลากหลายประเภท ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ส่วนบุคคลและอุปกรณ์ดูแลบ้าน ของเล่น เครื่องใช้ในบ้าน ถุงพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบ Mechanical recycling และ Advanced recycling เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป 

ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการผสมผสานความเชี่ยวชาญ ด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพของ Braskem เข้ากับความเชี่ยวชาญของ SCGC ในด้านการผลิตพอลิเอทิลีน รวมทั้งศักยภาพของ SCGC ที่เป็นผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาคโดยโรงงานของบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ประเทศไทย และถือเป็นโรงงานผลิต I’m green™ แห่งแรกนอกประเทศบราซิล

_______________________________________________

เกี่ยวกับ Braskem ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและเน้นให้ความสำคัญกับผู้คนและการสร้างความยั่งยืน Braskem พร้อมส่งมอบคุณค่าดี ๆ ผ่านเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับทั้ง value chain ด้วยพนักงานกว่า 8,000 คน ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์โซลูชันนวัตกรรมด้านเคมีและพลาสติก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน DNA ของ Braskem เน้นการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกเพื่อตอบโจทย์หลากอุตสาหกรรม อาทิ บรรจุภัณฑ์อาหาร การก่อสร้าง การผลิต ยานยนต์ เกษตรกรรม สุขภาพและสุขอนามัย และอื่น ๆ อีกมากมาย มีโรงงานผลิตกว่า 40 ยูนิต ในประเทศบราซิล สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และเยอรมนี โดยส่งออกสินค้าไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และมีรายได้สุทธิ 58.5 พันล้านเรียลบราซิล (11.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)


Is this article useful ?