15 พฤศจิกายน 2565 เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ร่วมกับ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) และสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดสัมมนาออนไลน์ “ต้นแบบการจัดการขยะในโรงเรียน โครงการถุงนมกู้โลก” เพื่อขยายผล “โครงการถุงนมกู้โลก” โมเดลการบริหารจัดการขยะในโรงเรียนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy in School Model) ซึ่งริเริ่มโดย SCGC เน้นสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนผ่านการลงมือปฏิบัติจริง โดยขับเคลื่อนผ่านความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตั้งเป้าขยายผลโครงการฯ ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 50 จังหวัด 1,700 โรงเรียน เพื่อให้เกิดการจัดการขยะภายในโรงเรียนอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมในวงกว้าง สอดคล้องกับแนวทาง อีโคสคูล (Eco-School) พร้อมกันนี้ ได้ประชาสัมพันธ์ “กิจกรรมหนูน้อยกู้โลก” เปิดโอกาสให้เยาวชนส่งคลิปการจัดการถุงนมใช้แล้วเข้าประกวดชิงทุนการศึกษารวมกว่า 1 แสนบาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร
ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม SCGC กล่าวว่า “SCGC ธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social and Governance) ขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เน้นพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer นอกจากนี้ ยังมุ่งลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน และพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ รวมทั้งมุ่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ให้เกิด Low Waste, Low Carbon โดยเล็งเห็นว่าการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางเป็นหนึ่งในทางออกสำคัญที่ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันขับเคลื่อน”
SCGC ได้ริเริ่มนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ชุมชนรอบโรงงาน จ.ระยอง ภายใต้ “โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” เชื่อมโยง บ้าน วัด โรงเรียน และธนาคารขยะ ให้ความรู้และสร้างพฤติกรรมคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 4,000 คน นำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 236 ตัน ช่วยลดปริมาณการฝังกลบขยะ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 483,375 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2565)
นอกจากนี้ เพื่อต่อยอดการจัดการขยะในโรงเรียน ซึ่งพบว่ามีปริมาณขยะจากถุงนมจำนวนมาก SCGC จึงได้ร่วมกับโรงเรียนนำร่องในจังหวัดระยอง ริเริ่ม “โครงการ SCGC ถุงนมกู้โลก” ขึ้น โดยนำนวัตกรรมและการออกแบบมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้พลาสติกใช้แล้วอย่างถุงนม นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และขึ้นรูปเป็น “เก้าอี้พลาสติกรีไซเคิลจากถุงนมโรงเรียน” ที่ใช้งานได้ยาวนาน ปลูกจิตสำนึกเรื่องการจัดการขยะ และสร้างตัวอย่างการหมุนเวียนทรัพยากรให้เห็นเป็นรูปธรรม
“ที่ผ่านมา SCGC ได้ขยายผล โครงการ SCGC ถุงนมกู้โลก ร่วมกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุพรรณบุรีเขต 1 รวม 135 โรงเรียน พร้อมร่วมมือกับเครือข่ายเอกชน รองรับโรงเรียนต่าง ๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการต่อไป โดยตั้งเป้าขยายผลโครงการฯ ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 50 จังหวัด 1,700 โรงเรียน สำหรับความร่วมมือระหว่าง SCGC สส. และ สพฐ. ในครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการขยะในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ และเห็นเป็นรูปธรรมในวงกว้างต่อไป” ดร.สุรชา กล่าวเพิ่มเติม
นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การดำเนิน ‘โครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School)’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ และสนับสนุนให้โรงเรียนภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนตามหลักการของโครงการ สอดคล้องกับแนวทางการสร้างพลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Citizen) ที่มีความตระหนัก และรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องปลูกฝังพฤติกรรมตั้งแต่วัยเด็ก ‘โครงการถุงนมกู้โลก โดย SCGC’ ได้สร้างต้นแบบการจัดการถุงนมโรงเรียนแบบครบวงจร ช่วยลดปริมาณขยะฝังกลบและเพิ่มการรีไซเคิล มีแนวทางที่สอดคล้องกับ ‘โครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School)’ และ ‘โครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste to School)’ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อน และขยายผล รวมถึงการประชาสัมพันธ์โครงการฯ ผ่านภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน และขอเชิญชวนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) และโรงเรียนในเครือข่ายเข้าร่วมโครงการฯ สร้างการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ ผ่านการบูรณาการกิจรรมเรื่องการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมให้แก่เยาวชนในวงกว้าง พัฒนาเด็กและเยาวชนให้เห็นคุณค่าของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เริ่มต้นจากสองมือเล็ก ๆ สู่การสร้างลักษณะนิสัยรักสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต”