close

7 พ.ย. 2565

SCGC ร่วมกับ สสน. ลงนามความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ลดวิกฤตน้ำท่วม-น้ำแล้งของไทย

Business ESG Circular Economy Innovation Sustainability

กรุงเทพฯ – 4 พฤศจิกายน 2565 บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อการบริหารจัดการน้ำ ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ESG โดยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบสารสนเทศ เพื่อบริหารจัดการวิกฤตน้ำท่วมและน้ำแล้ง รวมถึงการบริหารจัดการน้ำชุมชน ให้เกิดการใช้งานอย่างเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และสถานการณ์น้ำของประเทศไทย เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม (Innovation for Society) ให้ชุมชนเข้าถึงนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม SCGC กล่าวว่า “SCGC ธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ESG (Environmental, Social and Governance) คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยตระหนักดีว่า น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต และการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งวิกฤตการณ์ด้านน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือน้ำแล้งในทุกภาคของประเทศไทยนั้น เกิดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้น้ำที่ไม่เหมาะสม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการบริหารจัดการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ความร่วมมือระหว่าง SCGC และ สสน. ในด้านการพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อการบริหารจัดการน้ำในครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม (Innovation for Society) เพื่อหารูปแบบและวิธีแก้ปัญหาวิกฤตน้ำอย่างบูรณาการในทุกมิติ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน โดย SCGC พร้อมนำความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการพัฒนานวัตกรรม อาทิ การเลือกวัสดุ การขึ้นรูป และการออกแบบนวัตกรรม จาก “ศูนย์นวัตกรรมและพัฒนาต้นแบบสินค้า หรือ i2P Center (Ideas to Products)” ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์พัฒนาแอปพลิเคชันและนวัตกรรมเคมีภัณฑ์แห่งแรก ๆ ในภูมิภาคอาเซียน มาช่วยต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และสถานการณ์น้ำของประเทศไทยในอนาคต”

รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม SCGC กล่าวเพิ่มเติมว่า “SCGC ยังจะร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จาก “โครงการบริหารจัดการน้ำชุมชนบริเวณเขายายดา จ.ระยอง” รวมไปถึงแนวทางการดูแล การอนุรักษ์ และฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ส่งผลให้ชุมชนมีน้ำสำหรับการเกษตร อุปโภคและบริโภคอย่างพอเพียงตลอดปี พร้อมทั้งได้ถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำจากพื้นที่เป็น “โมเดลการบริหารจัดการน้ำ ด้วยแนวคิด 2 สร้าง 2 เก็บ” ได้แก่ สร้างกติกา สร้างคน เก็บน้ำ เก็บข้อมูล เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และขยายผลความสำเร็จสู่ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป”

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. กล่าวว่า “สสน. เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินงานรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ รวมถึงวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ตลอดจนขยายผลการทำงานโดยสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของ สสน. ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งต่อชุมชน สังคมส่วนรวม และประเทศชาติ ด้วยแนวคิดและเป้าหมายเดียวกันนี้ สสน. และ SCGC จึงประสงค์ที่จะร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การวิจัย และพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีการจัดการน้ำชุมชน และข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ภายใต้ความรู้และประสบการณ์ของแต่ละฝ่าย ให้เกิดงานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำ นำไปสู่การใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่อย่างเหมาะสม รวมทั้งขยายผลไปยังหน่วยงานราชการ และชุมชน ให้สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งจะเป็นตัวอย่างการทำงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากการบริหารจัดการน้ำที่ดี นำไปสู่การสร้างประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน”


Is this article useful ?