close

19 ก.ย. 2565

SCGC ร่วมกับ กนอ. และ 23 พันธมิตร จัดกิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล 2022 #SeatheChange

Business ESG Circular Economy Sustainability

ระยอง - 17 กันยายน 2565 เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและบ้านฉาง จ.ระยอง จำนวน 23 องค์กร จัดกิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล ประจำปี 2565 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจกับประชาชน ในการร่วมมือจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทางอย่างเป็นระบบ เพื่อลดปัญหาขยะทะเลและช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นำไปสู่การลดปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน

SCGC ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยได้เดินหน้าจัดการปัญหาขยะทะเลตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ผนึกกำลังความร่วมมือระดับโลก จัดกิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล จังหวัดระยอง ประจำปี 2565 หรือ International Coastal Cleanup 2022 ภายใต้ธีม #SeatheChange เพื่อร่วมสะท้อนผลกระทบจากมลภาวะขยะทางทะเล ที่ได้สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ ครอบคลุมตั้งแต่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างแพลงก์ตอนไปจนถึงปลาวาฬ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาสภาวะโลกร้อน ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงผันผวนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงฉับพลันและภัยแล้งไปทั่วทุกมุมโลก อันเนื่องมาจากสภาวะความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate emergency)

เพื่อร่วมกันเปลี่ยนโลก SCGC ได้เชิญชวนเหล่าอาสาสมัครแสดงพลังเพื่อท้องทะเลไทย และเพื่อระบบนิเวศทางทะเลที่สมบูรณ์ จากเพียงคนละไม้คนละมือ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ โดยหนึ่งในกุญแจสำคัญของการแก้ปัญหานี้ คือ การจัดการขยะอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการปลูกฝังวิธีการคัดแยกขยะบกให้ถูกต้องตามประเภทตั้งแต่ต้นทาง โดย SCGC พร้อมประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อส่งต่อองค์ความรู้และปลูกฝังทัศนคติเพื่อสิ่งแวดล้อมและโลกที่ยั่งยืน

นายปรีดา วัชรเธียรสกุล Vice-President Manufacturing และ Polyolefins Manufacturing Director เอสซีจี เคมิคอลส์ เผยว่า “SCGC ได้ขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ เพื่อดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการขยะทะเล ซึ่งพบว่าขยะทะเลกว่าร้อยละ 80 มาจากกิจกรรมบนบก ทั้งขยะจากครัวเรือนที่หลุดรอดออกสู่ท้องทะเลและการทิ้งขยะบนชายหาด มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มาจากกิจกรรมทางทะเลโดยตรง ซึ่งผลกระทบของขยะทะเลไม่ได้มีผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงวิถีชีวิตของชุมชนริมชายฝั่งอีกด้วย SCGC จึงให้ความสำคัญกับการจัดการขยะที่ต้นทางเพื่อลดปริมาณขยะที่อาจหลุดรอดสู่แหล่งน้ำ และไหลลงสู่ทะเล โดยมีกระบวนการนำขยะไปจัดการอย่างถูกวิธี เกิดเป็น โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ เน้นการปรับพฤติกรรม ได้แก่ “ใช้ให้คุ้ม” “แยกให้เป็น” และ “ทิ้งให้ถูก” ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อส่งเสริมความรู้และเข้าใจถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ช่วยเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล ควบคู่กับการลดปริมาณการฝังกลบขยะ ซึ่งนำไปสู่การลดวิกฤตโลกร้อนอีกด้วย โดยได้ส่งต่อความรู้และความร่วมมือสู่เยาวชน ร้านค้าและผู้ประกอบการริมหาด กลุ่มประมงพื้นบ้าน และชุมชน”

SCGC ยังมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer โดยเน้นการออกแบบให้รีไซเคิลได้ตั้งแต่ต้นทาง มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านรีไซเคิลเพื่อนำพลาสติกใช้แล้วกลับมาสร้างประโยชน์ใหม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า SCGC ได้วางระบบตั้งแต่ต้นทาง การบริหารจัดการระหว่างทาง และสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภค ตลอดจนการเก็บกลับเข้าระบบเพื่อลดปัญหาขยะ ทั้งหมดนี้จึงเป็นแนวทางการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทางอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

ว่าที่ ร.ต.พิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า “เป็นเวลา 20 ปี ที่กิจกรรมวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล ยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นกิจกรรมครั้งยิ่งใหญ่ประจำปี ที่สามารถดึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ที่ต่างมีเป้าหมายชัดเจนร่วมกันพร้อมร่วมใจแก้ไขปัญหาขยะ ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล สร้างทะเลระยองให้สวยสะอาด ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติของจังหวัดระยอง สร้างแหล่งทำกินที่ยั่งยืนให้กลุ่มประมงพื้นบ้าน นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน อันเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมไปพร้อมกัน”

ภายในงานมีจิตอาสากว่า 450 คน ร่วมเก็บขยะชายหาด นอกจากนี้ ผู้ร่วมงานยังได้รับความรู้จากนิทรรศการเรื่องการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง พร้อมมีการจัดแสดงนวัตกรรม SCGC GREEN POLYMER™ ที่ตอบโจทย์การดูแลสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ มีกลุ่มตัวแทนเยาวชนจาก CS BEACH YOUTH (เยาวชน อนุรักษ์ ทะเล) มาร่วมขับกล่อมบทเพลงรณรงค์การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เป็นตัวแทนเสียงของเยาวชนที่แสดงออกถึงการมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการตระหนักถึงการจัดการปัญหาขยะร่วมกัน เพื่อรักษาระบบนิเวศที่ดี และส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนไปสู่รุ่นต่อไป

ทั้งนี้ วันเสาร์ที่ 3 ของเดือนกันยายนของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล หรือ International Coastal Cleanup (ICC) ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเก็บขยะชาดหาดพร้อมกันทั่วโลก ซึ่งจังหวัดระยองได้จัดกิจกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 ณ บริเวณชายหาดแสงจันทร์-แหลมเจริญ อำเภอเมือง และบริเวณหาดน้ำริน-หาดพยูน-หาดพลา อำเภอ บ้านฉาง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดระยอง มีผู้ประกอบการ หน่วยงาน และประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้นทุกปี สามารถเก็บขยะได้แล้วกว่า 850,000 ชิ้น รวมน้ำหนักทั้งสิ้นกว่า 95,000 กิโลกรัม โดยข้อมูลของขยะที่เก็บได้จะถูกส่งไปยังองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรวมกับประเทศอื่น ๆ นำไปสู่การแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน


Is this article useful ?