คุณเคยได้ยินนิทานสุดคลาส “กระต่ายกับเต่า” ไหม
แน่นอนว่าทุกคนรู้ตอนจบของเรื่อง เต่าคือผู้ชนะ เพราะเต่าน้อยทำทุกอย่างเต็มความสามารถ ก้าวไปทีละก้าวอย่างไม่ย้อท้อ พร้อมเรียนรู้จากความสำเร็จของผู้อื่น และเรียนรู้จากความผิดพลาดของตน
นิทานเรื่องนี้เปรียบเทียบได้เช่นเดียวกับสนามจริงของการแข่งขันสตาร์ตอัป ระยะทางยาวไกลเสมือนวิ่งมาราธอน การเร่งสปีดแซงหน้าคู่แข่งตั้งแต่ช่วงแรก ไม่ได้แปลว่าคุณจะชนะ
เพราะอะไร วันนี้เราจะพามาคุยกับสองหนุ่มสตาร์ตอัป Manas Pathak ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ Karthi Chakaravarty ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ จาก “EarthEN” ธุรกิจสตาร์ตอัป “การกักเก็บพลังงาน” จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ การแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2022 – Global Competition การประกวดแผนธุรกิจสตาร์ตอัประดับโลก รางวัลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดโดยบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจีซี (SCGC) และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุดเริ่มต้นของสองหนุ่มที่มี Passion เดียวกัน
เราร่วมก่อตั้งธุรกิจสตาร์ตอัป “เอิร์ธเอ็น” (EarthEN) มาได้เกือบ 1 ปีแล้ว โดย ผมเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอิร์ธเอ็น เรียนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมเคมี และคว้าปริญญาโทมาอีกใบด้านบริหารธุรกิจ จากคณะบริหารธุรกิจดับเบิลยูพี แครี่ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ส่วน Karthi ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ เพิ่งจบจากมหาวิทยลัยแห่งรัฐแอริโซนา ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ การบริหารห่วงโซ่อุปทานและการบริหาร
เราสองคนได้มารู้จักกันเพราะการแข่งขันนำเสนอไอเดียธุรกิจที่จัดโดยคณะบริหารธุรกิจดับเบิลยูพี แครี่ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา โดยหลังจากที่ Karthi ได้เห็น Manas นำเสนอไอเดียธุรกิจด้านพลังงานและความยั่งยืน และ Karthi เองก็เข้าใจตัวเทคโนโลยีและคุณค่าที่จะส่งมอบ (Value Proposition) ดังนั้นเราจึงร่วมทีมกัน
เหตุผลหลักที่พวกเราเข้ามาลงทุนเพราะเราสนใจด้านพลังงานและความยั่งยืนอย่างยิ่ง เราจึงมาร่วมทีมกัน โดยสิ่งที่เอิร์ธเอ็นพยายามทำคือ การส่งมอบโซลูชันการกับเก็บพลังงานระยะยาว
ความท้าทายของธุรกิจสตาร์ตอัปด้าน “การกักเก็บพลังงานระยะยาว”
เมื่อเราเห็นการเปลี่ยนแปลงในตลาดและอุตสาหกรรมพลังงานที่เริ่มหันมาสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราก็เริ่มเห็นปัญหาพื้นฐานประการหนึ่งเรื่องการกักเก็บพลังงานสะอาด
แม้แสงอาทิตย์และลมจะเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ดี แต่มีลักษณะการปล่อยพลังงานไม่สม่ำเสมอซึ่งหมายความว่าหากแสงอาทิตย์ไม่คงที่หรือความเร็วลมไม่สม่ำเสมอก็จะไม่มีพลังงาน วิธีแก้ปัญหานี้คือการกักเก็บพลังงานระหว่างที่มีแสงอาทิตย์และลม แล้วนำพลังงานที่เก็บไว้มาใช้ช่วงกลางคืนหรือช่วงที่ไม่มีลม
“โซลูชันการกักเก็บพลังงาน” ของเอิร์ธเอ็น ต่างจากตลาดทั่วไปอย่างไร
โซลูชันกักเก็บพลังงานในท้องตลาดทุกวันนี้ เก็บพลังงานได้เพียง 4-6 ช.ม. สิ่งที่เอิร์ธเอ็นเข้ามาแก้ไขคือ เพิ่มจำนวน ช.ม. การกับเก็บพลังงานให้ยาวนานขึ้น เช่น หากเริ่มใช้พลังงานตั้งแต่ 1 ทุ่ม ก็จะใช้ได้ยาวตลอดทั้งคืนไปจนถึง 7 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้นเมื่อมีแสงอาทิตย์อีกครั้ง สิ่งนี้เรียกว่า แหล่งกับเก็บพลังงานระยะยาว หรือแหล่งพลังงานที่จ่ายพลังงานได้นานตั้งแต่ 10 ช.ม. ขึ้นไป
ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว ไม่ใช่แค่กักเก็บพลังงาน แต่สามารถดึงคาร์บอนมาใช้งานได้
โซลูชันการกักเก็บพลังงานจากสตาร์ตอัป เอิร์ธเอ็น ไม่เพียงแก้ปัญหาด้านการกักเก็บพลังงานเท่านั้น แต่ยังดึงคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ในการนี้ด้วย แปลว่าเราปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบ และมีส่วนช่วยลดการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เฉพาะด้านพลังงานแต่ยังดึงคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศมาใช้ประโยชน์ด้วย
สตาร์ตอัป ไม่ใช่การแข่งวิ่งระยะสั้น แต่เป็นการแข่งมาราธอน
ปัจจัยที่ทำให้สตาร์ตอัปประสบความสำเร็จในระดับโลก ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นความ “ล้มแล้วลุก” เหตุผลที่ผมบอกว่าล้มแล้วลุกก็เพราะการทำสตาร์ตอัปไม่ใช่การแข่งวิ่งระยะสั้น แต่เป็นการแข่งมาราธอน อีกส่วนหนึ่งที่ชนะได้ก็เพราะ “เราไม่ยอมแพ้” เมื่อเรารู้ว่าเราเข้ารอบเพลย์ออฟ เราก็รู้ว่ายังมีโอกาสอยู่ และนั่นคือเป้าหมายของเรา เรานั่งดูข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ ไปคุยกับกรรมการในห้องและถามว่าควรจะแก้และปรับปรุงอะไรอย่างไรบ้าง เพื่อให้เข้าใจชัดว่ากรรมการกำลังมองหาอะไรอยู่ นอกจากนั้น การรู้จักผู้ฟังก็สำคัญมาก เนื่องจากกรรมการแต่ละคนก็อาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงต้องรู้จักผู้ฟัง
เอาให้อยู่หมัด ตั้งแต่ 5 นาทีแรก
สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ การใช้เวลานำเสนอให้คุ้มค่าที่สุด เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องพูดประเด็นที่สำคัญที่สุดและข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ให้ครบภายใน 5 นาทีแรก เพราะมีโอกาสที่เราอาจพูดไม่ครบก่อนหมดเวลา เพราะกรรมการมีคำถามเยอะ หากเกิดแบบนั้นขึ้น ก็จะเสียเปรียบ การใช้เวลาให้คุ้มค่าและพูดในสิ่งที่สำคัญที่สุดใน 5 นาทีแรก และสอดแทรกรายละเอียดและเรื่องละเอียดอ่อนไว้ในช่วงถามตอบเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
มุมมองต่อสตาร์ตอัปเอเชีย
อันนี้มองจากมุมมองคนนอก ในวัฒนธรรมเอเชียมักคิดว่า ทุกคนควรมานั่งแก้ปัญหาร่วมกัน มากกว่าจะคิดว่า รถไฟกำลังจะออกจากชานชาลาแล้ว เราจะขึ้นรถขบวนนี้หรือไม่
การสร้างความรู้สึกรีบเร่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับสตาร์ตอัป เพราะคุณต้องการให้นักลงทุนเห็นว่า “นี่คือโอกาสสำหรับคุณ” คุณต้องการเรามากกว่าที่เราต้องการคุณ เพราะเรากำลังแก้ปัญหาใหญ่และจะทำเงินได้มหาศาล เรามั่นใจในทักษะ ทีมงาน และเทคโนโลยีของเราอย่างยิ่ง นี่คือสิ่งที่อาจจะยังไม่ค่อยได้เห็นในสตาร์ตอัปเอเชีย อย่างไรก็ตาม ทีมสตาร์ตอัปเอเชียนำเสนอข้อมูลได้ดีมาก แต่ถ้าเพิ่มเติมการสร้างความรู้สึกรีบเร่งที่ทำให้นักลงทุนเกิดแรงจูงใจ จะดียิ่งขึ้นมาก ๆ
มุ่งสู่สตาร์ตอัประดับโลก ต้องมีแผนระดับโลก
สิ่งหนึ่งที่สังเกตจากการแข่งขันเวที SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2022 รอบ Global คือ หลายสตาร์ตอัปมุ่งไปแค่ที่ตลาดเอเชีย เช่น หากเป็นบริษัทฟิลิปปินส์ก็มุ่งเป้าเฉพาะฟิลิปปินส์ หรือถ้าเป็นบริษัทไทยก็มุ่งเน้นประเทศไทยเป็นหลัก
แต่สำหรับ SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2022 ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติ จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่ามีแผนชัดเจนที่จะก้าวออกจากแวดวงระดับที่ตัวเองอยู่ไปสู่ระดับนานาชาติ เพราะงานนี้เป็นงานระดับนานาชาติ คุณต้องมั่นใจว่าบริษัทส่วนใหญ่เหล่านี้กำลังพยายามแก้ปัญหาระดับโลก ต้องเน้นย้ำว่า นี่เป็นปัญหาระดับโลกและคุณได้วางแผนและคิดที่จะก้าวข้ามระดับที่คุณอยู่อย่างจริงจัง
หุบเขาแห่งความตาย ของเหล่าสตาร์ตอัป
สตาร์ตอัปจำนวนมากมาตายในช่วงที่เราเรียกว่า “หุบเขาแห่งความตาย” เพราะนักลงทุน โดยเฉพาะคนที่ลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น พลังงาน กลาโหม อวกาศ ในสหรัฐอเมริกา อะไรก็ตามที่อาศัยวิศวกรรมหนัก ๆ และต้องใช้ความรู้เชิงเทคนิคมาก นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้มีทรัพยากรพอที่จะลงมือศึกษาตรวจสอบในด้านเทคนิคได้อย่างที่ควรทำเสมอไป ดังนั้น เนื่องจากเรายังอยู่ขั้นการจำลอง บางครั้งการโน้มน้าวให้นักลงทุนเชื่อว่าจะใช้ได้จริงจึงเป็นเรื่องยาก เพราะนักลงทุนยังดูไม่ออก แต่กระนั้น การได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐที่เราได้ร่วมงานด้วยว่าเทคโนโลยีนี้ ใช้งานได้จริงมีบทบาทสำคัญและช่วยเราได้มาก
นักลงทุนไม่ยอมให้เงินลงทุน 1 ล้านดอลล่าห์ก่อนมีสินค้า แต่คุณก็จะสร้างสินค้าไม่ได้ถ้าไม่มีเงิน นับเป็นปัญหาไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันที่พบเจอได้บ่อยครั้ง และสตาร์ตอัปจำนวนมากก็มาปิดตัวลงตรงนี้ ดังนั้น ต้องอาศัยความล้มแล้วลุก ความกล้าหาญ ความมุมานะ ความไม่ย่อท้อ จึงจะรอดชีวิตจากหุบเขาแห่งความตายได้
คุณอาจเป็นเด็กตอนที่ก้าวเข้าไปแข่งขัน แต่คุณจะเป็นผู้ใหญ่เมื่อก้าวออกมาจากการแข่งขันนี้
สำหรับผู้ที่สนใจสมัครการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin ในอนาคต งานนี้เป็นหนึ่งในการแข่งขันที่ดีและยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง อีกทั้งเป็นงานที่จัดมายาวนานที่สุดในเอเชีย และอาจจะนานที่สุดในโลกด้วย คุณจะได้เป็นที่รู้จัก ได้เรียนรู้ แค่ได้เตรียมตัวให้ดีตอนยื่นใบสมัคร และหากได้รับเลือกและได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ เพียงได้เตรียมสไลด์นำเสนอ ขณะที่ผ่านแต่ละด่านของการแข่งขัน คุณก็จะได้เติบโตแล้ว คุณอาจเป็นสตาร์ตอัปกระเตาะกระแตะตอนก้าวเข้าไปในการแข่งขัน แต่คุณจะก้าวออกมาเป็นสตาร์ตอัปที่เติบโตมากขึ้นจากเวทีนี้
ความพยายามอย่างต่อเนื่อง เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จ เพียงแค่ทำทุกอย่างให้เต็มความสามารถ ก้าวเดินด้วยความมุ่งมั่น และทำให้เกินกว่าที่จะมีใครคาดหวัง เส้นชัยรอคุณอยู่ข้างหน้าแล้ว!