close

13 พ.ค. 2565

SCGC เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด 19 แบบเคลื่อนที่รุ่นล่าสุด

โควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ มีการติดเชื้อค่อนข้างง่ายและรวดเร็วกว่าเดิม ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยค่อนข้างมาก บางครั้งผู้ป่วยหลายท่านไม่ได้แจ้งล่วงหน้าว่ารับเชื้อมาแล้ว ทีมงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจึงต้องป้องกันด้วย PPE ต่าง ๆ รวมถึงการใช้อุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด 19 ที่ติดตั้งในเปลและรถเข็นผู้ป่วย พี่ปุณณรัตน์ สรรพกิจชาญชัย หัวหน้างานเคลื่อนย้ายผู้ป่วย สะท้อนภาพความเป็นจริงที่พบเจอทุกวัน

แน่นอนว่า การป้องกันดีกว่าการรักษา ตั้งแต่เริ่มการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 เมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด 19 แบบเคลื่อนที่ หรือ Mobile Isolation Unit เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด 19 โดยพัฒนาร่วมกับทีมแพทย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการระบาดระลอกแรก ทาง SCGC ได้พัฒนานวัตกรรมฯ หลายรูปแบบ โดยเน้นให้สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย และขนส่งไปยังพื้นที่ห่างไกลได้สะดวก เช่น แคปซูลสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งทางบก และทางอากาศ ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่สำหรับทำงานหัตถกรรมรักษาผู้ป่วย หรือห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น SCGC จึงร่วมหารืออย่างต่อเนื่องกับแพทย์ศิริราช เพื่อให้เข้าใจปัญหาของทีมแพทย์และผู้ป่วย จนกลายมาเป็น นวัตกรรมป้องกันโควิด 19 แบบเคลื่อนที่ 3 รุ่นล่าสุด ซึ่งได้ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลศิริราชเพื่อใช้ป้องกันทีมบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

ผู้ป่วยเพิ่มทวีคูณ… การป้องกันเชื้อฟุ้งกระจายยิ่งต้องให้ความสำคัญ
นงนุช อิมทรัพย์ หัวหน้าหน่วยตรวจโรคอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช 
เล่าปัญหาที่พบว่า ปัจจุบันนี้ หน่วยตรวจโรคอายุรศาสตร์ของเรา พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 วันละ 2-3 ราย บางวันสูงสุดคือ 5 ราย แต่เรามีอุปกรณ์ป้องกันการฟุ้งกระจายเชื้อความดันลบไม่เพียงพอ หากเรามีอุปกรณ์นี้หลาย ๆ ตัวจะทำให้เราบริหารจัดการคนไข้กลุ่มเสี่ยงได้อย่างดีขึ้น

ขณะเดียวกัน เวลาที่เจ้าหน้าที่หรือหมอเวรต้องค้างคืนอยู่เวรนอนด้วยกัน ยิ่งในสภาพห้องที่เล็กและอากาศไม่ถ่ายเท ก็เสี่ยงติดโควิด 19 แต่หากใส่หน้ากากอนามัยนอนก็ยิ่งเพิ่มความอึดอัดหายใจไม่สะดวก น้องไดน่า วรเดชสิทธิชัย พยาบาลปฏิบัติการนวมินทรบพิตรฯ 20 เหนือ โรงพยาบาลศิริราช เล่าความในใจว่า รู้สึกกลัว ว่าเพื่อนร่วมงานในหอผู้ป่วยที่ทำงานร่วมกันเป็นโควิด 19 แล้วเราจะเป็นไหม เพราะเราใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันใน Ward ถึงแม้เราจะมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เช่น เฟซชีลด์ หน้ากากอนามัย แต่ก็ยังมีช่องโหว่อยู่ช่วงเวลาหนึ่งคือ เวลาพักผ่อน ต่อให้มีฉากกั้น เว้นระยะห่าง แต่อากาศในห้องมันไม่ระบาย ยังไงเราก็รู้สึกไม่ปลอดภัย

เข้าใจปัญหา ต่อยอดสู่นวัตกรรมป้องกันโควิด 19 แบบเคลื่อนที่ รุ่นล่าสุด
ดร.
สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม และรองผู้จัดการใหญ่ New Business เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC เปิดใจว่า เราพูดคุยต่อเนื่องกับทางแพทย์ศิริราช มีการแยกแยะปัญหาที่ทางศิริราชยังพบอยู่ และสิ่งที่บุคลากรการแพทย์มีความต้องการจนกลายมาเป็นนวัตกรรมล่าสุด 3 อย่างที่เราส่งมอบให้กับโรงพยาบาลศิริราช สำหรับปณิธานของ SCGC คือต้องการพัฒนา Innovation Thats Real มุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาโซลูชันต่าง ๆ ที่แก้ปัญหาได้จริง เข้าถึงผู้คนได้จริง ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับแพทย์และบุคลากร พร้อมช่วยให้ทุก ๆ ท่านที่เป็นนักรบเสื้อขาวของเราปลอดภัยแข็งแรง และปฏิบัติงานได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

สำหรับนวัตกรรมที่ทาง SCGC พัฒนาและมอบให้กับตัวแทนโรงพยาบาลศิริราช ได้แก่ 1) อุปกรณ์ครอบศีรษะป้องกันการฟุ้งกระจายเชื้อความดันลบ (Negative Pressure Isolation Hood) สำหรับป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อระหว่างรอการตรวจรักษา 2) รถเข็นความดันลบ (Negative Pressure Isolation Wheelchairช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย 3) เต็นท์แยกป้องกันเชื้อความดันบวกแบบเคลื่อนที่ (Positive Pressure Isolation Cocoonเป็นอุปกรณ์เสริมเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและพื้นที่ส่วนตัว

โดยนวัตกรรม 3 รุ่นล่าสุดนี้ พัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค ด้วยระบบปรับแรงดันอากาศพร้อมระบบกรองอากาศระดับ HEPA และแผ่นกรอง VAROGARD AC Filter เทคโนโลยีของ SCGC เคลือบสารยับยั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รวมถึงเชื้อ SARS-CoV-2  ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการกรอง โครงสร้างถูกออกแบบให้ที่มีความแข็งแรง ทนทาน สามารถติดตั้งและถอดทำความสะอาดฆ่าเชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว

ใกล้ชิด เห็นปัญหา ทำงานร่วมกัน
รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช
 เล่าลักษณะการทำงานให้ฟังว่า จริง ๆ ศิริราชทำงานร่วมกับ SCGC มานานกว่า 10 ปีแล้ว พอผมได้โจทย์มาจากอาจารย์แพทย์และพยาบาลที่ดูแลห้องแพทย์เวร ห้องตรวจ ห้องฉุกเฉินที่คนไข้มารอตรวจเป็นจำนวนมาก ผมก็นึกถึง SCGC เพราะเราเคยทำงานร่วมกัน ที่สำคัญคือ ลักษณะของการทำงานมันไม่ใช่เป็นลักษณะของการที่เราให้โจทย์ไปแล้วเอาคำตอบมา แต่เป็นการทำงานร่วมกัน ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ พัฒนารูปแบบว่าจุดที่ต้องการจริง ๆ คืออะไร มีทางเลือกอย่างไร มีสิ่งอะไรที่จะทำให้มันดีขึ้น จนกระทั้งได้ Prototype ที่ 1, 2, 3 พัฒนาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งผ่านการทดลอง ทดสอบมาหลายครั้งจนเป็นผลิตภัณฑ์ทุกวันนี้

ตราบใดที่โควิด 19 ยังคงอยู่  บุคลากรทางการแพทย์ยังต้องทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้ปลอดภัย SCGC พร้อมที่จะเดินเคียงข้างและร่วมพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยให้ทีมแพทย์และสังคมไทยผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ไปด้วยกัน ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนวัตกรรมป้องกันโควิด 19 แบบเคลื่อนที่ รุ่นล่าสุด ติดต่อได้ที่ medandwellness@scg.com


Is this article useful ?