close

18 เม.ย. 2565

เอสซีจีซี เปิดตัวสารเคลือบชั้นฟิล์มบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อการรีไซเคิล รับรองมาตรฐานสากลรายแรกในอาเซียนโดย RecyClass

เอสซีจีซี ขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อการรีไซเคิล ล่าสุด เปิดตัว “นวัตกรรมสารเคลือบชั้นฟิล์มป้องกันการซึมผ่านของอากาศ” ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรีไซเคิลให้กับบรรจุภัณฑ์พลาสติก รับรองมาตรฐานสากลรายแรกในอาเซียน โดย RecyClass พร้อมตอบโจทย์ตลาดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

กรุงเทพฯ – 18 เมษายน 2565 เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี (SCGC) ธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในหลากหลายมิติ โดยมุ่งแก้ปัญหาบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ล่าสุด เอสซีจีซี ได้เปิดตัว “นวัตกรรมสารเคลือบชั้นฟิล์มป้องกันการซึมผ่านของอากาศ” (Barrier Coating Technology) ช่วยให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน อาทิ บรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับอาหารแช่เย็น อาหารแช่แข็ง อาหารแห้ง และซองบรรจุภัณฑ์ชนิดเติมสำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายและน้ำยาทำความสะอาด สามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเดิมบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้เมื่อผ่านการใช้งานแล้ว จะนำมารีไซเคิลได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากประกอบด้วยชั้นฟิล์มจำนวนหลายชั้น และมีวัสดุในแต่ละชั้นต่างชนิดกัน (Multi-Material) นวัตกรรมสารเคลือบชั้นฟิล์มฯ ดังกล่าวจะช่วยทดแทนการใช้วัสดุที่หลากหลายโดยเหลือเพียงพลาสติกประเภทเดียวกันทั้งชิ้นงาน (Mono-Material) จึงสามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคงคุณสมบัติในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ภายในได้ดีเหมือนเดิม ทั้งนี้ นวัตกรรมสารเคลือบชั้นฟิล์มของเอสซีจีซี ได้ผ่านการทดสอบและรับรองมาตรฐานสากลจาก รีไซคลาส (RecyClass) ถือเป็นรายแรกในอาเซียน และพร้อมตอบโจทย์ตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือเอสซีจีซี 
เผยว่า “เอสซีจีซี ขับเคลื่อนองค์กรสู่ “ธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน” (Chemicals Business for Sustainability) โดยดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งนี้หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือ การพัฒนานวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามหลักเศรษกิจหมุนเวียน  (Circular Economy) ด้วยการนำพลาสติกใช้แล้วหมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่าใหม่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า เช่น นวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin: PCR) ภายใต้แบรนด์ SCGC GREEN POLYMER™ และล่าสุดที่เอสซีจีซีได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลจากรีไซคลาส (RecyClass) คือ นวัตกรรมสารเคลือบชั้นฟิล์มป้องกันการซึมผ่านของอากาศ ทำให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนที่จำเป็นต้องใช้วัสดุหลายชนิดในการขึ้นรูปซึ่งรีไซเคิลได้ค่อนข้างยาก สามารถมีทางเลือกใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน นั่นคือ สามารถนำสารเคลือบชั้นฟิล์มฯ จากเอสซีจีซี ทดแทนวัสดุชั้นอื่นที่ทำหน้าที่ป้องกันการผ่านของอากาศ ทำให้บรรจุภัณฑ์นั้นผลิตจากพลาสติกประเภทเดียวกันทั้งหมด (Mono-Material) ช่วยให้การรีไซเคิลหลังการใช้งานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันยังคงคุณสมบัติด้านอื่น ๆ ได้ดีเช่นเดิม ทั้งนี้ เอสซีจีซีพร้อมที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการ และเจ้าของแบรนด์ที่สนใจพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยเพิ่มการรีไซเคิล และร่วมสร้างสรรค์โลกที่ยั่งยืนไปด้วยกัน” นายธนวงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ เอสซีจีซี มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แบรนด์ เอสซีจีซี กรีน พอลิเมอร์ SCGC GREEN POLYMER™ ประกอบด้วยโซลูชันพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ (1) REDUCE ลดการใช้ทรัพยากรและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด (2) RECYCLABLE โซลูชันเพื่อเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากฟิล์มที่ประกอบด้วยชั้นของวัสดุหลายประเภท ให้กลายเป็นบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก PE หรือ PP เพียงชนิดเดียวเพื่อให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ (3) RECYCLE โซลูชันเพื่อนำพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนมารีไซเคิลช่วยลดปริมาณขยะและลดการใช้ทรัพยากร และ (4) RENEWABLE โซลูชันเพื่อให้เกิดพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และพลาสติกจากทรัพยากรหมุนเวียน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

________________________

มาตรฐาน RecyClass คืออะไร? 

RecyClass เป็นองค์กรในยุโรปที่รับรองความสามารถในการรีไซเคิลและการตรวจสอบย้อนกลับของวัสดุรีไซเคิลสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยมีการกำหนดมาตรฐานและกระบวนการทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ได้แนวปฏิบัติในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน ซึ่งมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของทวีปยุโรปอยู่อย่างสม่ำเสมอ


Is this article useful ?