close

24 พ.ย. 2564

เอสซีจี เคมิคอลส์ เปลี่ยนวัสดุพลาสติกเหลือใช้จากโรงงานเป็น ชุดอุปกรณ์เลี้ยงไส้เดือนดิน ต่อยอดสร้างอาชีพให้ชุมชน พร้อมส่งเสริมการจัดการขยะเปียกในครัวเรือนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

ระยอง – 24 พฤศจิกายน 2564 เอสซีจี เคมิคอลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ และผู้ริเริ่มการจัดการขยะอย่างครบวงจร ภายใต้โครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ได้พัฒนา “ชุดอุปกรณ์สำหรับทดลองเลี้ยงไส้เดือนดินจากวัสดุเหลือใช้ภายในโรงงาน” เพื่อผลิตปุ๋ยธรรมชาติจากมูลไส้เดือน โดยได้ส่งมอบชุดอุปกรณ์ฯ ให้แก่เทศบาลตำบลทับมา เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรอย่างยั่งยืนของชุมชน   ทั้งนี้ชุดอุปกรณ์ดังกล่าว ได้ออกแบบตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยผลิตจากวัสดุเหลือใช้ภายในโรงงานและนำกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน เหมาะกับกลุ่มผู้สนใจปลูกผักปลอดสารพิษสำหรับบริโภคในครัวเรือนนอกจากนี้ ยังสามารถต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย โดยมีนายนิวัฒน์ อธิวัฒนานนท์ Chief Technology Officer (CTO) – Polyolefins and Vinyl เอสซีจี เคมิคอลส์ และผู้บริหารจากเอสซีจี เคมิคอลส์ ร่วมส่งมอบ และนายสรวิชญ์  เพชรนคร รองปลัดเทศบาลตำบลทับมา เป็นผู้รับมอบ

นายนิวัฒน์ อธิวัฒนานนท์ Chief Technology Officer (CTO) – Polyolefins and Vinyl เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า  “การดูแลชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีถือเป็นหนึ่งภารกิจสำคัญของเอสซีจี เคมิคอลส์  ซึ่งการออกแบบชุดอุปกรณ์สำหรับทดลองเลี้ยงไส้เดือนดินจากวัสดุเหลือใช้ภายในโรงงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนสามารถนำไปผลิตปุ๋ยจากมูลไส้เดือนสำหรับปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับชุมชน นอกจากนี้ ยังสามารถต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้อีกด้วย โดยชุดอุปกรณ์นี้ประกอบด้วย คอนโดเลี้ยงไส้เดือน และชุดรางแปลงปลูกผัก  ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในออกแบบตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการนำวัสดุพลาสติกที่เหลือใช้จากการผลิตในโรงงานมาออกแบบและสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ชุมชน  มีจุดเด่นที่วัสดุทนทาน อายุการใช้งานยาวนาน ออกแบบให้ประหยัดพื้นที่ และสามารถเพิ่มปริมาณไส้เดือนได้ถึง 1.5 เท่า”

การจัดทำชุดอุปกรณ์ทดลองเลี้ยงไส้เดือนด้วยวัสดุเหลือใช้จากโรงงาน เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ที่มุ่งส่งเสริมการจัดการขยะในครัวเรือนตั้งแต่ต้นทาง และการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน  โดยชุดอุปกรณ์ดังกล่าว อยู่ในส่วนของการจัดการขยะเปียก ด้วยการนำเศษผักและผลไม้มาใช้ประโยชน์เป็นอาหารเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อผลิตปุ๋ยธรรมชาติ ทั้งนี้ เอสซีจี เคมิคอลส์ จะให้ความรู้เรื่องวิธีการปลูกผัก วิธีเลี้ยงไส้เดือนดิน โดยใช้ขยะเปียกจากชุมชน รวมถึงประโยชน์ของปุ๋ยมูลไส้เดือน เพื่อให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจ และเห็นคุณค่าทรัพยากรเหลือใช้จากครัวเรือน เพื่อนำมาหมุนเวียนสร้างคุณค่าได้ต่อไป

________________________________
เกี่ยวกับโครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ

โครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ เริ่มต้นขึ้นในปี 2562 โดยนำแนวทางการจัดการขยะจากบางซื่อโมเดล ซึ่งเป็นโมเดลการจัดการขยะภายในบริษัทเอสซีจี มาต่อยอดเพื่อบริหารจัดการขยะในชุมชนระยอง โดยได้นำแนวทาง “บวร” ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อน Eco Community ที่มีอยู่เดิมมาต่อยอด และเชื่อมต่อกับ “ธนาคารขยะชุมชน” เพื่อให้เกิดการบูรณาการทั้งระบบ พร้อมเดินหน้าขยายความร่วมมือในท้องถิ่นไปสู่กลุ่มต่าง ๆ เช่น ผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะรีไซเคิลหรือซาเล้ง ตลาด ร้านค้า เพื่อนำไปสู่การผสานพลังเชื่อมโยงการจัดการขยะในระดับท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการจัดการขยะเปียกในครัวเรือน การหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ครอบคลุมถึงการนำพลาสติกเหลือใช้เข้าสู่ระบบรีไซเคิลแบบครบวงจร


Is this article useful ?