กรุงเทพฯ – 4 มิถุนายน 2564 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รณรงค์แก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจังภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ท้องทะเลไทยกลับมางดงาม ใสสะอาด เป็นที่พักพิงของสัตว์น้ำน้อยใหญ่ รวมทั้งมนุษย์อย่างเรา ๆ ด้วย สาเหตุหลักของการเกิดปัญหาขยะทะเลนั้น มาจากการจัดการขยะบกที่ไม่ถูกต้อง เกิดการหลุดรอดไหลผ่านแม่น้ำ ลำคลองสาขาต่าง ๆ กว่า 9,000 สาย จนไปรวมตัวกันอยู่ที่ทะเล จากคำขวัญวันทะเลโลกปี 2564 ที่ว่า "รู้รักษามหาสมุทร เพื่อวิถีมนุษย์ที่ยั่งยืน" (The Ocean: Life and Livelihood) สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิถีมนุษย์กับความสมบูรณ์ของท้องทะเล หากมนุษย์ยังอยู่ในวิถีเดิมๆ ที่ปราศจากความรับผิดชอบ ทิ้งขยะไม่ถูกที่ ปล่อยปละละเลย ท้องทะเลก็อาจจะกลายเป็นบ่อขยะในที่สุด เราอยากให้ลูกหลานได้เห็นและเผชิญกับบ่อขยะในทะเลอย่างนั้นหรือ
สำหรับเอสซีจี “การรักษามหาสมุทร เพื่อวิถีมนุษย์ที่ยั่งยืน” นั้น จำเป็นต้องบูรณาการจากต้นทางถึงปลายทาง นั่นคือ เริ่มจากการจัดการขยะบนบกให้ถูกต้องตามวิถีชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ - ป้องกันขยะหลุดรอดลงทะเลด้วยนวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ – เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพด้วยนวัตกรรมบ้านปลา
เอสซีจีมุ่งคิดค้นพัฒนานวัตกรรมที่ประยุกต์วัสดุพลาสติกที่มีความแข็งแรง ทนทานชนิดพิเศษ เพื่อตอบโจทย์การกักขยะในแม่น้ำลำคลองก่อนไหลลงสู่ท้องทะเล โดยได้ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนกลายมาเป็นนวัตกรรม “ทุ่นกักขยะลอยน้ำ” รุ่น 1 (SCG – DMCR Litter Trap: Generation 1) ซึ่งได้นำท่อชนิด PE100 ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาทำงานร่วมกับวัสดุคล้ายเสื้อชูชีพ สามารถรองรับขยะได้กว่า 700 กิโลกรัม เพื่อนำไปติดตั้งบริเวณแม่น้ำลำคลอง
“เอสซีจีดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ธุรกิจยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด ESG (Environmental, Social and Governance) ที่มุ่งดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม อย่างมีธรรมาภิบาล เพื่อให้ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน โดยเอสซีจีได้ร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ ดูแลชายฝั่งทะเลระยองมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี ด้วยการใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญของธุรกิจมาพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่ง “ทุ่นกักขยะลอยน้ำ” เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ออกแบบเพื่อช่วยจัดการปัญหาขยะที่หลุดรอดลงทะเล โดยได้ออกแบบให้ทนต่อสภาพดินฟ้าและอากาศ ซึ่งได้นำทุ่นกักขยะรุ่นที่ 1 ไปวางจุดแรกที่ปากน้ำ จ.สมุทรสาคร และ จ.ระยอง พบว่า มีประสิทธิภาพมาก สามารถกักขยะไว้ในทุ่นได้จำนวนมาก” น้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าว
ไม่หยุดพัฒนา “ทุ่นกักขยะลอยน้ำ” ให้ทรงประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การทำงานด้านนวัตกรรมไม่เคยสิ้นสุด เอสซีจียังคงเดินหน้าพัฒนาทุ่นกักขยะลอยน้ำให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น โดยรับฟังข้อคิดเห็นจากกลุ่มผู้ทำงานในพื้นที่ และจากการสำรวจหน้างานด้วยตนเอง พบว่า ตัวทุ่นลอยน้ำที่ทำหน้าที่คล้ายชูชีพใน Litter Trap รุ่นที่ 1 ไม่สามารถทนแดดทนฝนได้นาน ทำให้ต้องคอยเปลี่ยนวัสดุใหม่บ่อยๆ จึงนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม “ทุ่นกักขยะลอยน้ำ จาก HDPE-Bone” (SCG-DMCR Litter Trap Generation 2) โดยประยุกต์ทุ่นที่เอสซีจีออกแบบเพื่อใช้กับโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำสำหรับผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ (Floating Solar) มาทดลองใช้กับทุ่นกักขยะ ทำให้มีคุณสมบัติทนต่อกระแสน้ำ ทนแสงแดดได้ในระยะยาว และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงช่วยให้ทุ่นกักขยะรุ่นใหม่ตอบโจทย์การใช้งานได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ประกอบง่าย สะดวกในการขนย้าย และหากเสื่อมสภาพหรือได้รับความเสียหายยังสามารถนำมารีไซเคิลได้ทั้งหมดอีกด้วย
ปัจจุบัน เอสซีจี ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ติดตั้งทุ่นกักขยะลอยน้ำรวมกว่า 37 ชุด ใน 17 จังหวัด สามารถลดปริมาณขยะลงสู่ทะเลได้กว่า 71 ตัน
พลังจาก 3 ฝ่าย ปัจจัยความสำเร็จจัดการปัญหาขยะ
ภารกิจด้านจัดการขยะท้องทะเลไม่อาจจะทำได้เพียงข้ามวัน หรือจบเพียงแค่ผลิตทุ่นกักขยะ แต่ยังต้องอาศัยกลไกความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จะเป็นผู้สำรวจข้อมูลพื้นที่ กำหนดจุดติดตั้ง ส่วนชุมชนในพื้นที่ช่วยจัดการขยะที่กักได้จากทุ่นฯ เพื่อนำไปคัดแยกและนำไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น ขยะอินทรีย์นำไปทำเป็นปุ๋ย พลาสติกใช้แล้วหรือวัสดุที่รีไซเคิลได้ ไปจำหน่ายสร้างรายได้ เป็นต้น
“กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้รับความร่วมมือทั้งจากเอสซีจี และชุมชนในพื้นที่ โดยร่วมกันตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหา พัฒนานวัตกรรม จนไปถึงการลงมือแก้ไข โดยหลังจากที่ทาง ทช. ติดตั้งทุ่นกักขยะในแต่ละพื้นที่แล้ว จะมีการสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการดึงชุมชนเข้ามาร่วมเก็บขยะ และคัดแยกตามระบบสากล ICC (International Coastal Cleanup) ด้วยการชั่งน้ำหนักขยะ พร้อมจดบันทึก เพื่อวิเคราะห์ว่าส่วนใหญ่แล้วขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่คือชนิดอะไร มากน้อยแค่ไหน นำไปสู่การบริหารจัดการร่วมกันต่อไป” นายวิชัย มณีเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 จ.ระยอง กล่าว
เพื่อแก้ปัญหาอย่างบูรณาการและยั่งยืน เอสซีจี ได้ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการคัดแยกขยะ และช่วยหาแหล่งปลายทางของขยะให้กับชุมชนด้วย หนึ่งในชุมชนที่เอสซีจีได้ร่วมขับเคลื่อน คือ กลุ่มวิสาหกิจอนุรักษ์ฟื้นฟูแม่น้ำระยองและป่าชายเลน จ.ระยอง ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของชุมชนที่อยู่ใกล้ปากน้ำ เพื่อนำขยะที่รีไซเคิลได้ไปจำหน่ายเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระป๋อง ในขณะเดียวกัน เอสซีจีได้สนับสนุนให้ชุมชนรู้จักการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง จนได้รับการยกระดับให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะ” สร้างวิถีชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ภายในชุมชน สร้างมุมมองใหม่ให้เห็นคุณค่าของขยะ
นางสาวกนกกร จำปาทอง ประธานวิสาหกิจอนุรักษ์ฟื้นฟูแม่น้ำระยองและป่าชายเลน เผยว่า “เพราะท้องถิ่นใคร ใครก็ต้องรัก เราต้องใช้ชีวิตและทำมาหากินอยู่ที่นี่ เราเห็นในน้ำมีขยะที่มากขึ้นทุกวัน จึงเกิดการรวมตัวกันจากจิตสำนึกของพวกเรา โดยกลุ่มอาสาสมัครจะนัดกันในวันที่น้ำขึ้น เพราะจะมีขยะเข้าในติดในทุ่นอย่างแน่นอน แล้วจึงเอาเรือออกไปและใช้สวิงช้อนขยะจากในทุ่นกักขยะใส่ตะกร้า และนำมาคัดแยกบนบก แต่ละครั้งสามารถเก็บขยะได้มากกว่า 500 กิโลกรัม ซึ่งช่วยทุ่นแรงเป็นอย่างดี เพราะไม่ต้องไปพายเรือเก็บตามข้างทางเหมือนเมื่อก่อน”
ความร่วมมือระดับโลก จัดการขยะทะเล ตามหลัก Circular Economy
จากความพยายามและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วน สู่การขยายเครือข่ายระดับโลกอย่าง The Ocean Cleanup ซึ่งมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยป้องกันขยะจากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทร จากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยจะนำ The InterceptorTM มาติดตั้งในแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับดักจับขยะก่อนไหลลงสู่ทะเล ความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยสามารถเก็บข้อมูลขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เพื่อนำไปศึกษาความเป็นไปได้ในการนำขยะจากแม่น้ำมาสร้างประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
“ข้อดีของการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือ คือ ทำให้เกิด Impact มากขึ้น และ Speed ดีขึ้น เราสามารถนำความเก่งและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาต่อยอดซึ่งกันและกันยั่งยืน เช่น ทาง ทช. มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรรมชาติหลายด้าน ส่วนเอสซีจีมีวัสดุและนวัตกรรมที่ช่วยตอบโจทย์ ชุมชนมีพลังขับเคลื่อนภายในพื้นที่ ผนวกกับเครือข่ายการทำงานทั้งในและต่างประเทศ เมื่อนำมาบูรณาการร่วมกัน จะช่วยให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างยั่งยืน ” น้ำทิพย์ กล่าว
ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
โครงการบ้านปลาเอสซีจี พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 47 ตารางกิโลเมตร ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 172 ชนิด ด้วยโครงสร้างบ้านปลาที่ถูกคิดค้นออกแบบมาอย่างดี ประกอบกับการใช้ท่อ PE100 ที่ปลอดภัยและมีพื้นผิวเอื้อต่อการอาศัยของสัตว์น้ำทั้งเพรียงและหอย ส่งผลให้บ้านปลาถูกปกคลุมไปด้วยสัตว์น้ำมากมาย ปลาน้อยใหญ่เข้ามาใช้เป็นแหล่งพักอาศัยและหลบภัย การเพิ่มขึ้นของปริมาณสัตว์น้ำอย่างสมดุล ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง สร้างสมดุลสู่ระบบนิเวศ และเป็นเสมือนคลังทรัพยากรในทะเลที่ชาวประมงสามารถทำมาหากินได้อย่างยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน
หากเราจะรักษา “ทะเล” ให้คงความสวยงาม และเป็นแหล่งทรัพยากรอันทรงคุณค่าสู่รุ่นต่อ ๆ ไป เราต้องปิดฉากขยะทะเลที่รุ่นของเรา ด้วยวิถีชีวิตใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนความคิดจาก Me เป็น We มองเรื่องส่วนรวมก่อนเรื่องส่วนตัว เรื่องเล็ก ๆ ใกล้ ๆ ตัว เช่น การคัดแยกขยะในบ้าน การทิ้งขยะให้ถูกที่ แต่ผลลัพธ์ช่างยิ่งใหญ่ เปลี่ยนโลกใบนี้ได้ด้วยสองมือเรา