กรุงเทพฯ – 28 สิงหาคม 2563 เอสซีจี มุ่งสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เดินหน้าผลักดันชุมชนรอบโรงงานก้าวสู่วิสาหกิจชุมชนคุณภาพ โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผสมผสานหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาช่วยพัฒนาต่อยอดสินค้าชุมชน พร้อมสร้างช่องทางการขายใหม่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผ่านการตลาดออนไลน์ ล่าสุด เอสซีจี ได้ร่วมกับ 11 องค์กรพันธมิตร เปิดโครงการ Big Brothers นำชุมชนสู่ธุรกิจเพื่อสังคม ปีที่ 4 เน้นการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้ชุมชนเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่ใส่ใจสังคมด้วยการนำกำไรจากการจำหน่ายสินค้ากลับมาแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนส่วนรวม ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธีและแสดงปาฐกถา เรื่อง “ชุมชนเข้มแข็ง สังคมก้าวหน้า ร่วมพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยมีนายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ร่วมเปิดตัวโครงการ ณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย
นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจี ให้ความสำคัญกับการดูแลและพัฒนาชุมชน โดยเน้นให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเอสซีจีได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งผนึกกำลังความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกันในทุกพื้นที่ที่เอสซีจีเข้าไปดำเนินการ ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชนในเชิงลึก และเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้สามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น อาทิ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถเก็บสินค้าได้ยาวนานขึ้น การแปรรูปผลไม้สด โดยเอสซีจีทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงที่ช่วยนำองค์ความรู้ และประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาสนับสนุนชุมชน เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น และการนำนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมหาช่องทางจัดจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่เหมาะกับบริบททางสังคมช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และมีแนวโน้มการซื้อขายของทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เอสซีจียังได้ส่งเสริมเรื่องหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดการใช้ทรัพยากรภายในชุมชนอย่างคุ้มค่า และยังช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย สำหรับการเข้าร่วมกับโครงการ Big Brothers นำชุมชนสู่ธุรกิจเพื่อสังคม ปีที่ 4 นั้น ถือเป็นการแสดงพลังของทุกภาคส่วน ทำให้เกิดการต่อยอดความคิด และสามารถช่วยผลักดันวิสาหกิจชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างรายได้อย่างมั่นคงและพอเพียง”
จากการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน เอสซีจี และภาคส่วนต่าง ๆ ทำให้สามารถยกระดับวิสาหกิจชุมชนได้สำเร็จ และได้รับรางวัลเป็นจำนวนมาก เช่น ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้สนับสนุนสินค้าหมวดนวัตกรรมผ้า อาทิ นวัตกรรมผ้าใยสับปะรด โดยวิสาหกิจชุมชนทอผ้าแสนใย คนแสนวิถี อ.ปลวกแดง จ.ระยอง นำเส้นใยของใบสับปะรดที่เหลือทิ้งมาทอร่วมกับฝ้าย จนเกิดเป็น “ผ้าใยสับปะรด” ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดผ้าสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย จ.ระยอง ถือเป็นการนำนวัตกรรมด้านหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ต่อยอดการทอผ้าของชุมชน นวัตกรรมผ้าย้อมครามทะเล โดยวิสาหกิจชุมชนแตนบาติก ผ้ามัดย้อม อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ได้รับรางวัลวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับตำบล จากกรมส่งเสริมการเกษตร และรางวัลสุดยอดเครือข่ายองค์ความรู้จังหวัดดีเด่น (Knowledge – Based OTOP: KBO) ระดับจังหวัด จากกรมการพัฒนาชุมชน โดยเอสซีจีได้นำผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มาพัฒนาการทำสีผงจากธรรมชาติ เช่น สีจากเปลือกและใบมังคุด ซึ่งเป็นการนำวัตถุดิบเหลือใช้ในชุมชนมาสร้างมูลค่าเพิ่ม
หมวดนวัตกรรมอาหาร อาทิ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านทิวลิป ชุมชนเนินพยอม อ.เมือง จ.ระยอง ผลิตขนมเปี๊ยะ 8 เซียน โดยเอสซีจี ร่วมสนับสนุนยกระดับผลิตภัณฑ์จนได้รับมาตรฐาน อย. และ OTOP 3 ดาว พร้อมพัฒนาสูตรขนมเปี๊ยะไส้แกงระยอง และนำนวัตกรรมพร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอาหารจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมพัฒนาสูตรจนสามารถผลิตขนมเปี๊ยะแช่แข็ง ช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์ วิสาหกิจชุมชนสละลอยแก้วสองสลึง อ.แกลง จ.ระยอง แปรรูปสละพันธุ์สุมาลีเป็นสละลอยแก้ว จนได้รับมาตรฐาน อย. และ OTOP 4 ดาว โดยเอสซีจี ได้ต่อยอดนวัตกรรมการแปรรูปร่วมกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (IFRPD) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อแปรรูปสละสดให้เป็นสละอบแห้งและสละแช่อิ่มอบแห้ง สามารถเก็บรักษาได้นานถึง 3 เดือน ทั้งยังได้ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) ในโครงการ อว.จ้างงาน ต่อยอดการทำผลิตภัณฑ์ไอศกรีมจากสละ เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายยิ่งขึ้น นอกจากการพัฒนาสินค้าชุมชนแล้ว ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ยังได้เปิดตลาดนัดออนไลน์ ระยองชอปฮิ รวมของดีท้องถิ่นระยอง เพื่อเป็นพื้นที่ซื้อขายสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชนตามวิถี new normal อีกด้วย
นอกจากนี้ เอสซีจียังได้สนับสนุนเส้นเทปกระดาษ (Paper Band) ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตของธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจีให้แก่ชุมชนรอบโรงงาน เพื่อนำไปสร้างสรรค์งานหัตถกรรมจักสานที่มีจุดเด่น และแตกต่างจากสินค้าทั่วไป ตลอดจนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ที่ได้ส่งเสริมให้ชุมชนประกอบอาชีพเกษตรปราณีต เพาะเมล็ดพันธุ์พืช ต่อยอดสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านหลักสูตรพัฒนาวิสาหกิจและคุณธรรมชุมชน
ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจหลายแห่งที่ดำเนินการโดยชุมชนได้แบ่งกำไรจากการดำเนินธุรกิจไปช่วยเหลือสังคมด้านต่าง ๆ เช่น ในจังหวัดระยอง กลุ่มแม่บ้านทิวลิป ชุมชนเนินพยอม ผู้จำหน่ายขนมเปี๊ยะแปดเซียนได้จัดสรรรายได้เพื่อใช้สนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของชุมชน และมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนในพื้นที่ กลุ่มแตนบาติก จัดกิจกรรมสอนวาดรูปและย้อมผ้าครามให้เยาวชน และกลุ่มขยะรีไซเคิล มาบชลูดชากกลาง มอบทุนการศึกษาให้เยาวชนในชุมชน เป็นต้น
โครงการ Big Brothers นำชุมชนสู่ธุรกิจเพื่อสังคม เป็นความร่วมมือของ 11 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เอสซีจี เพื่อนชุมชน บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ร้านภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือชุมชนให้มีรายได้จากการผลิตหรือจัดจำหน่ายสินค้าหรือบริการ โดยนำรายได้ไปช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก