close

21 ต.ค. 2559

เอสซีจี เคมิคอลส์ นำทัพนวัตกรรมร่วมงานนิทรรศการ K 2016 รุกตลาดโลก ชู R&D เป็นตัวขับเคลื่อนสร้างสรรค์เทคโนโลยี

ดุสเซลดอร์ฟ : 21 ตุลาคม 2559 - เอสซีจี เคมิคอลส์ ทุ่มงบกว่า 3,300 ล้านบาท ผลักดันงานวิจัย สู่ตลาดโลก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้า ล่าสุดยกขบวนนวัตกรรมพลาสติกร่วมจัดแสดงในงานนิทรรศการ K 2016 งานแสดงนวัตกรรมพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก


นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า “เอสซีจี เคมิคอลส์ มุ่งสร้างความแตกต่างด้านสินค้าและบริการโดยนำเสนอในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจรที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้าได้มากขึ้น ทั้งนี้ เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้นำการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA (High Value Added Products and Services) โดยมุ่งคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง และได้กำหนดกลยุทธ์การบริหารจัดการด้านวิจัยและพัฒนาไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ การร่วมมือกับคู่ค้าในเชิงลึกเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน  การนำความต้องการของลูกค้ามาพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการเพื่อนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์ การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Innovation) การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรด้านงานวิจัยและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง  ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยกับนักวิจัยและสถาบันชั้นนำระดับโลก”


นายชลณัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อปี 2014 เราได้ลงทุนในบริษัท Norner AS ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาพลาสติกระดับโลก ถึงแม้ว่า เราจะลงทุนใน Norner แต่ Norner ก็ยังคงความเป็นอิสระในการดำเนินธุรกิจด้านการวิจัยและพัฒนาที่มีมาตรฐานระดับโลก ซึ่งถือเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญของเอสซีจี เคมิคอลส์”


ปัจจุบัน เอสซีจี เคมิคอลส์ มีทีมงานวิจัยประมาณ 500 คน ในจำนวนนี้เป็นนักวิจัยระดับ Ph.D. คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม หรือ ASTEC (Advanced Science and Technology Center) ที่ทันสมัยเทียบเท่าระดับสากล  พร้อมทั้งจัดสรรงบสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2016 เอสซีจี เคมิคอลส์ ตั้งงบวิจัยและพัฒนาไว้ 3,300 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54 ของงบวิจัยและพัฒนาทั้งหมดของเอสซีจี ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรก ได้ใช้งบวิจัยและพัฒนาไปประมาณ 1,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.6 ของยอดขายรวม และมีสัดส่วนสินค้า HVA ของเอสซีจี เคมิคอลส์ คิดเป็นร้อยละ 31 คาดว่าภายในปี 2016 เอสซีจี เคมิคอลส์ จะมีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรจำนวนมากกว่า 140 ฉบับ ซึ่งเป็นการจดสิทธิบัตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ 


“ล่าสุด เราได้เลือกสรรนวัตกรรมสินค้าและบริการ HVA ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในตลาดโลก มาจัดแสดงในงานนิทรรศการ K 2016 งานแสดงนวัตกรรมสินค้าพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ประเทศเยอรมนี  เรามั่นใจว่า การนำนวัตกรรมสินค้าและบริการมาจัดแสดงในงานนิทรรศการ K 2016 จะเป็นการนำเสนอทางเลือกและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ลูกค้า ทั้งยังช่วยสร้างโอกาสให้เอสซีจี เคมิคอลส์ ในการหาพันธมิตรจากนานาชาติมาช่วยพัฒนาธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกันในตลาดโลกต่อไป” นายชลณัฐกล่าว


คอนเซ็ปต์ของบูทเอสซีจี เคมิคอลส์ ในการจัดแสดงสินค้าในงานนิทรรศการ K 2016 คือ Building Success Together ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับลูกค้าใน 3 ด้าน คือ Partnership การทำงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด ศึกษาความต้องการเชิงลึกเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้า Solution การตอบโจทย์ของลูกค้าโดยนำเสนอสินค้าและบริการแบบครบวงจร Innovation การมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสินค้าและบริการ HVA เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้า และลูกค้าปลายทาง


สำหรับไฮไลท์นวัตกรรมสินค้า HVA ของเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่นำมาจัดแสดงในงานนิทรรศการ K 2016 อาทิ Functional Materials  นวัตกรรมสารพิเศษที่นำไปใช้ในสินค้า HVA หลากหลายประเภท New Generation PE นวัตกรรมที่พัฒนาเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีน (PE) ให้มีคุณภาพสูงขึ้นโดยมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 40 สามารถนำไปพัฒนาเป็นสินค้าได้หลากหลายประเภท อาทิ ฟิล์มชนิดบางพิเศษ ที่ใช้ปริมาณเม็ดพลาสติกน้อยลง แต่ยังคงความแข็งแรงไว้ได้


ล่าสุด เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้พัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก PE 112 ที่มีคุณสมบัติดีขึ้นสำหรับท่อที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และประปา โดยสามารถทนแรงดันได้มากกว่าท่อที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก PE 100 ถึงร้อยละ 12 จึงสามารถลดความหนาของท่อ และเพิ่มปริมาตรขนส่งได้มากขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เม็ดพลาสติก PE 100 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าในอุตสาหกรรมประปา เหมืองแร่ และก๊าซธรรมชาติ


นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมอื่น ๆ อาทิ เม็ดพลาสติกพอลิโพรพิลีน Thermoform สำหรับกล่องอาหารแบบ Freeze-to-Heat ที่สามารถทนอุณหภูมิได้ตั้งแต่ –40C ถึง 130C ได้โดยไม่ทิ้งสารอันตรายเจือปน เม็ดพลาสติกพอลิโพรพิลีนสำหรับอุปกรณ์การแพทย์ที่สามารถผ่านการฆ่าเชื้อระดับสูงได้ด้วยรังสีแกมม่า ซึ่งได้รับรองมาตรฐานระดับสากล เป็นต้น 


Is this article useful ?